รายงานความคืบหน้าทางด้านวิชาการ เกี่ยวกับความคืบหน้าของโควิด-19 ทางด้าน นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์เฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ยกผลงานวิจัยล่าสุดของสหรัฐอเมริกา ที่เพิ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร Clinical Infectious Diseases ถึงประสิทธิภาพของยาฟาวิพิราเวียร์ ว่า
เราทราบจากสื่อต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 ผลการศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมเปรียบเทียบยาฟาวิพิราเวียร์กับยาหลอกที่ทำในประเทศสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และบราซิล สร้างความผิดหวังให้กับบริษัทยาของญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ยาตัวนี้
ล่าสุด ผลงานวิจัยนี้เพิ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร Clinical Infectious Diseases เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 การศึกษาทำในช่วงพฤศจิกายน 2563-ตุลาคม 2564 เป็นการศึกษาขนาดใหญ่ในคนติดเชื้อไวรัสโควิด 1187 ราย อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป (ชาวอเมริกัน 963 คน เม็กซิกัน 163 คน บราซิล 65 คน) โดยให้ยาภายใน 5 วันหลังเริ่มมีอาการ ให้ยาทั้งหมด 10 วัน 599 คนรับยาฟาวิพิราเวียร์ 588 คนรับยาหลอก
ผลการศึกษาพบว่า
ยาฟาวิพิราเวียร์ ไม่แตกต่างจากยาหลอก ไม่ช่วยทำให้อาการของโรคโควิดดีขึ้น ไม่ลดความรุนแรงของโรค ไม่ลดการป่วยหนักเข้านอนในโรงพยาบาล ไม่ลดจำนวนไวรัสในร่างกาย แต่คนที่กินยาฟาวิพิราเวียร์ มีกรดยูริกสูงขึ้นถึง 19.9% เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก 2.8%ในการศึกษานี้พูดถึงประเทศที่ยังใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ มีประเทศรัสเซีย อินโดนีเซีย ดูไบ และประเทศไทยรวมอยู่ด้วยบทสรุปของการศึกษานี้ ไม่ควรนำยาฟาวิพิราเวียร์มาใช้ในการรักษาโรคโควิด-19
“ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรหยุดใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาโรคโควิด-19 ยาโมลนูพิราเวียร์ปัจจุบันราคาไม่แพงกว่ายาฟาวิพิราเวียร์ ประเทศเพื่อนบ้านของเราเลิกใช้ยาฟาวิพิราเวียร์นานแล้ว และเข้าถึงยาโมลนูพิราเวียร์และแพ็กซ์โลวิดซึ่งมีหลักฐานพิสูจน์ลดความรุนแรงของโรค ลดการเข้านอนในโรงพยาบาล องค์การเภสัชกรรมควรเลิกผลิต-นำเข้าและไม่ควรส่งยาฟาวิพิราเวียร์ให้ร้านขายยาและโรงพยาบาลอีกต่อไป” นพ.มนูญ ระบุ
ส่องโพสต์ ก่อนหน้านี้ เตือนเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เมื่อ 5 กันยายน 2565
ลูกหลานคนสูงอายุบางคน ไม่ยอมให้คนสูงอายุฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพราะกลัวว่าคนสูงอายุจะเป็นอะไรหลังฉีดวัคซีน และอ้างเหตุผลว่าคนสูงอายุไม่ได้ไปไหน อยู่แต่ในบ้าน และทุกคนในบ้านก็ฉีดวัคซีนครบแล้ว เป็นความเข้าใจที่ผิด การที่คนสูงอายุฉีดวัคซีน จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้มาก ให้ดูตัวอย่างผู้ป่วยอายุ 104 ปี มีโรคประจำตัวหลายโรค ยังปลอดภัยหลังติดโควิด เพราะได้รับวัคซีนครบโดสตามด้วยเข็มกระตุ้น และได้รับยาต้านไวรัสเร็ว
ผู้ป่วยหญิงอายุ 104 ปี เป็นโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความจำเสื่อม นอนติดเตียง ได้อาหารทางสายยาง ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 2 เข็ม กระตุ้นด้วยวัคซีนโมเดอร์นา 1 เข็ม เมื่อ 4 เดือนก่อน มารพ.วันที่ 29 สิงหาคม 2565 ด้วยไข้ 38.6 องศาเซลเซียส ไอ หัวใจเต้นเร็ว ระดับออกซิเจนปกติ เอกซเรย์ปอดปกติ (ดูรูป) ตรวจ ATK ให้ผลบวก ก่อนหน้านี้ 3 วัน คนเฝ้าที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 2 เข็ม และโมเดอร์นา 2 เข็ม ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่เชื้อให้กับผู้ป่วยสูงอายุรายนี้
ให้นอนรักษาในรพ. เริ่มยาต้านไวรัสเรมเดซิเวียร์ชนิดฉีด ให้ทั้งหมด 5 วัน คนไข้ดีขึ้นเร็วมาก ไข้ลง ไอดีขึ้น ไม่เหนื่อย เอกซเรย์ปอดก่อนกลับบ้านปกติ (ดูรูป)