สรุปจบที่นี่! มาตรการ“คนละครึ่ง-เพิ่มกำลังซื้อ” ลดภาระประชาชน มีอะไรบ้าง?
27 กรกฎาคม 2565 คนละครึ่งเฟส 5 และ มาตรการเพิ่มกำลังซื้อ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชน วงเงินรวม 2.74 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย
- โครงการ คนละครึ่งเฟส 5 วงเงิน 2.12 หมื่นล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 5 แสนล้านบาท
- โครงการ เพิ่มกำลังซื้อ ให้กับผู้มีบัตรคนจน หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 มีผู้ถือบัตรคนจน จำนวน 13.34 ล้านคน ใช้วงเงินทั้งสิ้น 6,226 ล้านบาท ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 โครงการ
สำหรับ มาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชน ทั้ง 3 มาตรการ มีรายละเอียด ประกอบด้วย
1. โครงการ “คนละครึ่งเฟส 5” วงเงิน 21,200 ล้านบาท
- ใช้หลักเกณฑ์เดิมเป็นการ “ร่วมจ่าย” (Co-Pay) ระหว่างรัฐบาลกับประชาชน โดยรัฐบาลสนับสนุนวงเงินใช้จ่ายชำระค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าและบริการที่กำหนด สูงสุด 150 บาท/คน/วัน หรือไม่เกิน 800 บาท/คน กลุ่มเป้าหมาย 26.5 ล้านคน เป็นเวลา 2 เดือน (1 ก.ย. – 31 ต.ค. 65)
2. โครงการ เพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้มีบัตรคนจน ระยะที่ 5 วงเงิน 5,336 ล้านบาท
- เพิ่มวงเงินช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ผู้ถือบัตรคนจน 13,342,076 คน เพื่อซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าและร้านค้าหรือผู้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 เดือนละ 200 บาท/คน เป็นเวลา 2 เดือน (1 ก.ย. – 31 ต.ค. 65)
3. โครงการ เพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ ระยะที่ 3 วงเงิน 890 ล้านบาท
- เพิ่มวงเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ สำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ 2,227,204 คน เพื่อซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าและร้านค้าหรือผู้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 เดือนละ 200 บาท/คน เป็นเวลา 2 เดือน (1 ก.ย. – 31 ต.ค. 65)
การดำเนินโครงการฯ ทั้ง 3 โครงการ นอกจากจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนแล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วย โดยคาดว่าจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เพิ่มเติม 42,400 ล้านบาท และ GDP ขยายตัว 0.13%