สำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 23 ก.ค. 65 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แสดงตนเพื่อลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พร้อมด้วยรัฐมนตรีรวม 11 คน เป็นเวลา 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 19 - 22 ก.ค. ที่ผ่านมา
23 กรกฎาคม 2565 สำหรับผลคะแนนการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2565 รศ.ดร.สถาพร เริงธรรม อาจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า สำหรับการลงมติคะแนนเสียง ตามที่ประเมินขั้นต่ำคือ 248 เสียงขึ้นไป ซึ่งเป็นคะแนนเสียงที่รัฐบาลควรจะได้ จากคะแนนที่ลงมติ มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นายอนุทิน ชาญวีรกูล นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ และนายสันติ พร้อมพัฒน์ ที่ได้คะแนนเกิน ส่วนที่เหลือคะแนนต่ำกว่า 248 จึงวิเคราะห์เป็น 2 ทาง คือ การเสียร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ไปมีผลต่อฐานการสนับสนุนของรัฐบาลเช่นกัน และสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาล พอจะประคับประคองรัฐบาลไปได้ มองว่าผลของการลงคะแนนครั้งนี้แทบจะไม่มีผลใดๆต่อรัฐบาล เพราะแต่ละพรรคจะเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้ง
“ผลคะแนนการอภิปรายครั้งนี้ มองว่า เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอน หากจะเชียร์รัฐบาลสักหน่อย คือทุกคนเข้าใจร่วมกันว่าอย่างไรก็ผ่าน เป็นการสู้ให้แล้วๆกันไป มีเพียงรัฐมนตรีบางรายที่คะแนนต่ำกว่าการประเมิน โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ที่สะท้อนชัดเจน ว่าหัวหน้าพรรคต้องไปทบทวน ว่าจะกู้วิกฤติศรัทธาในพรรคอย่างไร ในส่วนของคะแนน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับ ร.อ.ธรรมนัส ไม่แน่ชัดว่ามีการพูดคุยกันอย่างไร แต่คะแนนเสียงที่โดดขึ้นมา ทำให้คิดว่าน่าจะมีคะแนนเสียงจากกลุ่ม 16 เข้ามาช่วยพอสมควร ในส่วนของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือว่าคะแนนห่างจาก พล.อ.ประวิตร พอสมควร แต่ก็ยังถือว่าได้คะแนนผ่านเกณฑ์ที่วางไว้ แสดงว่า มีนักการเมืองร่วมรัฐบาลที่ยังให้การสนับสนุนอยู่ ในส่วนของฝ่ายค้านตัวเลขบวกลบ ขอประเมินที่ 200 คะแนน อยู่ตามมาตรฐาน แสดงว่าการลงคะแนนครั้งนี้ พรรคฝ่ายค้านคุมเกมได้ การทำงานของพรรคร่วมฝ่ายค้านมีการประสานกันดีขึ้นทำให้เสียงไม่แตกเหมือนครั้งที่ผ่านมา”รศ.ดร.สถาพร กล่าว
ในส่วนของสถานการณ์หลังจากการลงคะแนน รศ.ดร.สถาพร มองไปที่พรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ จะมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าจับตามอง พรรคภูมิใจไทย มี สส.65 เสียง ส่วนประชาธิปัตย์ที่ 52 เสียง เป็นพรรคขนาดกลาง ที่เชื่อว่าทั้ง 2 พรรคนี้จะมีการแข่งขันกันสูง มีการช่วงชิงตัวผู้สมัคร ที่มีคะแนนความนิยมสูง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เก่าของพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เองคิดว่าต้องวางเป้าหมายในการรักษาการเป็นพรรคขนาดกลางให้ได้ ในอนาคตจึงมองว่าทั้ง 2 พรรคขนาดกลางจะมีการวางยุทธศาสตร์เพื่อต่อสู่กันในสนามเลือกตั้ง ซึ่งหากดูจากคะแนนในครั้งนี้ ทำนายผลการเลือกตั้งครั้งหน้าได้ ตัวแปรสำคัญคือพรรคขนาดกลางที่ยังคาดการณ์ไม่ได้
“ ตัวแปรสำคัญคือพรรคขนาดกลาง 3 พรรค คือ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และก้าวไลก ที่ยังประเมินไม่ได้ ก้าวไกลมีฐานคะแนนที่ชัดเจนคือชนชั้นกลาง และคนรุ่นใหม่ แต่ 2 พรรคที่น่าจับตาคือ ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย เพราะเชื่อว่าแข่งขันกันสูง แน่นอน โดยเฉพาะพื้นที่ฐานคะแนนของประชาธิปัตย์ ในพื้นที่ภาคใต้ ที่ภูมิใจไทยก็เตรียมไปเจาะเช่นกัน ในส่วนการเลือกตั้งครั้งหน้า คาดว่า พรรคอันดับหนึ่งคือเพื่อไทย ต่อมาคือพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคก้าวไกล ถ้ามีการรวมกลุ่มพรรคขนาดใหญ่และกลาง เช่น พรรคเพื่อไทยและภูมิใจไทย จับมือกัน จะทำให้มูลค่าของพรรคเล็กลดลง สมัยหน้าเชื่อว่าจะมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล มีรัฐบาลผสมแน่นอน”รศ.ดร.สถาพร กล่าว
ข่าว/ภาพ กวินทรา ใจซื่อ ศูนย์ข่าวเนชั่นภาคอีสาน สำนักข่าวเนชั่น