svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

สภาโหวตร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งหนุน"สูตรหาร 500" คำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ

ที่ประชุมร่วมรัฐสภาหักกมธ.วิสามัญแก้ไขร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง ลงมติหนุน "สูตรหาร 500" คำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ สยบชนะแลนด์สไลด์ ด้านเพื่อไทยได้ทีเตรียมนำประเด็นสูตรหาร 500 ซักฟอกลุงตู่ ชี้รัฐบาลจงใจฝ่าฝืนขัดรธน.

 

เมื่อวันที่ 6 ก.ค.65   การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.  ได้ดำเนินมาถึงมาตราสำคัญ คือ มาตรา 23 เกี่ยวกับการคำนวณสูตรได้มาซึ่งส.ส.บัญชีรายชื่อ  ซึ่งเป็นประเด็นที่กำลังถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง และมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มพรรคการเมืองต่างๆ จะเทคะแนนให้เป็นไปตามที่ กมธ.วิสามัญแก้ไขไว้ คือ การคำนวณสูตรส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยการใช้ 100 หาร  หรือ เป็นไปตามที่ ส.ส.กลุ่มพรรคเล็ก ที่สงวนคำแปรญัตติ ให้ใช้การคำนวณสูตรส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยการใช้ 500 หาร 

 

ชวน  หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมพิจารณาร่างแก้ไขกม.ลูกเลือกตั้ง

 

การอภิปรายประเด็นดังกล่าวใช้เวลานานกว่า 4 ชั่วโมง ก่อนที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ สั่งยุติการอภิปรายและเปิดให้ลงมติ โดยที่ประชุมร่วมรัฐสภา เสียงข้างมาก 392 : 160 มีมติคว่ำ สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยวิธีหาร 100 ไปใช้เป็นวิธีหารด้วย 500 

 

โดยมีคะแนนเสียงไม่เห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก ที่ให้หารด้วย 100 ด้วยคะแนนเสียง 160 เสียง และงดออกเสียง 23 เสียง ไม่ประสงค์ลงคะแนน 2 เสียง และมีมติเห็นด้วยกับกรรมาธิการที่ขอสงวนความเห็น (นายระวี มาศฉมาดล) โดยให้นำจำนวน 500 เป็นตัวหาร ด้วยคะแนน 354 เสียง

 

ทั้งนี้นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายในฐานะกรรมาธิการคนสุดท้ายก่อนจะลงมติว่า หากรัฐสภามีมติการกลับไปใช้สูตรวิธีหาร 500 นั้นถือว่าขัดรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมปี 2564 มาตรา 91 อย่างชัดเจน ซึ่งประเด็นนี้ฝ่ายค้านจะนำไปใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในประเด็นจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญต่อไป

 

สภาโหวตร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งหนุน\"สูตรหาร 500\" คำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ

 

ขณะที่บรรยากาศการอภิปรายประเด็นนี้เป็นไปอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อน ช่วงหนึ่งหลังนายแพทย์ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ อภิปรายย้ำถึงเหตุผลที่จะต้องมีการใช้สูตรหาร 500 ทำให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นขอหารือและถามไปยังกรรมาธิการว่ามีการปล่อยให้มีการแปรญัตติที่ขัดหลักการ ที่รับไปในวาระแรกและขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ที่ได้มีการแก้ไขไปก่อนหน้านี้ เข้ามาสู่การพิจารณาได้อย่างไร และการจะอ้างเรื่องส.ส.พึงมีไม่สามารถอ้างได้แล้ว 

 

นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะประธานกมธ.วิสามัญแก้ไขร่างกม.ลูกเลือกตั้งสองฉบับ

 

ขณะที่ นายนิกร  จำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะกรรมาธิการ ลุกขึ้นชี้แจง ยืนยันว่าร่างกฎหมายที่กำลังพิจารณานี้ ในชั้นรับหลักการมีการกำหนดให้คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 100 ทั้งสี่ฉบับ ซึ่งในชั้นการพิจารณาของกรรมาธิการนั้น  มีกรรมาธิการคือนายแพทย์ระวีได้เสนอได้เสนอการหาร 500 และมีกรรมาธิการแย้ง แล้วว่าขัดหลักการ การรับหลักการมาซึ่งการหารด้วย 500 นั้นรัฐสภาไม่ได้มีการรับหลักการมาตั้งแต่แรก  แต่นายสาธิต  ปิตุเตชะ ประธานกรรมาธิการ ได้ให้กรรมาธิการแสดงความเห็นจนนำไปสู่การลงมติในชั้น กรรมาธิการซึ่งคะแนนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการหาร 100  และทางกรรมาธิการก็ให้มีการสงวนความเห็นได้  ยืนตามซึ่งในชั้นกรรมาธิการได้มีการยืนยันตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฉบับปี 2564 ไม่ใช่รัฐธรรมนูญปี 2560 ดังนั้นการที่จะนำรัฐธรรมนูญปี2560 มาอ้างถือว่าผิดหลักการ  และการหารด้วย 500 ในทางปฎิบัติไม่สามารถนำมาคำนวณได้ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาในการเลือกตั้ง

 

นายศุภชัย  ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะกรรมาธิการ ได้ประท้วง นายนิกร กรรมาธิการด้วยกันซึ่งกำลังชี้แจงอยู่ เพราะมองว่า สิ่งที่นายนิกรกำลังชี้แจงอยู่นั้นเป็นอัตวิสัย ผสมความเห็นส่วนตัวไปด้วย ซึ่งอาจจะทำให้ข้อเท็จจริงผิดเพี้ยน ดังนั้นจึงทำให้สิ่งที่ชี้แจงอยู่ไม่อยู่ในประเด็น และไม่อยากให้มีปัญหา จึงอยากให้ ประธานดำเนินการเป็นไปตามข้อบังคับ และขอให้นายนิกรหยุดการชี้แจง

 

ด้านนายอัครเดช   วงศ์พิทักษ์โรจน์   กรรมาธิการได้ลุกขึ้นประท้วงเห็นด้วยกับนายศุภชัย ว่านายนิกรกำลังชี้แจงเกินเลย ไม่ใช่การชี้แจงตามที่กรรมาธิการได้พิจารณา

 

สภาโหวตร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งหนุน\"สูตรหาร 500\" คำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ

 

ขณะที่นายแพทย์ชลน่าน  ศรีแก้ว ส.ส. น่านพรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นขอใช้สิทธิ์พาดพิงในฐานะกรรมาธิการ ว่า ในรายงานของคณะกรรมาธิการที่เสนอมาต่อสภาไม่มีความเห็นของกรรมาธิการเสียงข้างมากปรากฏอยู่ รกรรมาธิการเห็นว่าเรื่องนี้เรื่องนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญและหลักการ กรรมาธิการจึงไม่มีความเห็นของตนเองทั้งที่ในที่ประชุมมีความเห็น และตนเองได้เป็นคนทักท้วง ว่าอย่างไรก็ตามกรรมาธิการต้องมีความเห็นในรายงานเพื่อส่งให้สภาวินิจฉัยว่า สามารถสงวนความเห็นได้หรือไม่

 

"สิ่งที่จะเกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้เราต้องยึดหลัก หากไม่มีหลักจะเอาอะไรก็ได้จะเอาอะไรก็ได้ สมัยก่อนกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา แต่ระวังถ้าเหตุการณ์อย่างที่นายจุลพันธุ์พูดไว้ ว่ามีการสั่งการว่าเอาเงิน 500 ถ้าเกิดขึ้นจริง ไม่ใช่เผด็จการรัฐสภา  แต่เป็นสภาเผด็จการ สภาที่ถูกครอบงำและสั่งการด้วยเผด็จการ พวกเราที่เป็นสมาชิกรัฐสภาจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน" นายแพทย์ชลน่าน กล่าว