13 มิถุนายน 2565 ตำรวจผนึกกำลัง ลุยปฏิบัติการทลายเครือข่ายค้าอาวุธ “เบล 1,000 กระบอก” ตามนโยบายของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จับกุมกลุ่มผู้ลักลอบจำหน่ายอาวุธปืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของต้นเหตุ การก่ออาชญากรรม ที่สร้างความสูญเสียต่อประชาชนในสังคม
พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง และ พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผู้บังคับการปราบปราม พร้อมเจ้าหน้าที่สอบสวนกลาง (CIB) นำกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 10 นาย ในสังกัด พร้อมชุดปฏิบัติการพิเศษ “หนุมาน กองปราบ” เปิดปฏิบัติการ ทลายเครือข่ายค้าอาวุธปืนข้ามชาติ จับกุมตัว นายดนุพล ยมพงษ์ อายุ 32 ปี อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ตำบลแสมสาร จ.ชลบุรี หรือ ฉายา “เบล 1,000 กระบอก”
ผู้ต้องหาตามหมายจับ “การฟอกเงิน” ได้ที่บ้านพักใน ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็น 1 ใน 16 หมายจับ เครือข่ายการค้าอาวุธข้ามชาติ
การจับกุม “เบล 1,000 กระบอก” สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 34 และทหาร ได้จับกุมขบวนการค้าอาวุธสงคราม ยึดของกลาง 25 กระบอก พร้อมเครื่องกระสุนปืนกล และลูกระเบิดขว้างสังหาร
ต่อมา 30 กรกฎาคม 2564 ศุลกากรจังหวัดหนองคาย ตรวจยึดอาวุธปืน ขนาด .22 จํานวน 35 กระบอก จึงขยายผลตรวจสอบจนพบว่า อาวุธปืน จะส่งขายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยมี ดนุพล หรือเบล เกี่ยวข้องเขื่อมโยงทั้งสองคดี
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงสั่งการให้เร่งสืบสวน และขยายผล เพื่อทำลายเครือข่าย “ค้าความตาย” ให้สิ้นซาก
ผลปฏิบัติการทลายเครือข่ายพ่อค้าความตาย “เบล 1,000 กระบอก” เจ้าหน้าที่ กระจายกำลัง ตรวจค้น และจับกุมผู้ร่วมขบวนการได้ทั้งหมด 17 คน ยึดของกลางเป็น รถยนต์ 6 คัน บ้านพัก 2 หลัง เรือ 5 ลํา อาวุธปืน 17 กระบอก เครื่องกระสุนขนาดต่างๆ กว่า 10,000 นัดใบ ป.3 จํานวน 36 ใบ ใบ ป.4 จํานวน 490 ใบ สมุดบัญชีธนาคาร 28 เล่ม รวมทรัพย์สินที่ตรวจยึดมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท
ผู้ต้องหา 17 ราย พบเป็นต้องหาคนสำคัญ 5 คน ประกอบด้วย
ดนุพล หรือ “เบล 1,000 กระบอก” ผู้ต้องหาค้าอาวุธข้ามชาติ มีประวัติโชกโชน
14 ก.ย. 2564 ถูกตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี จับกุมในความผิดตามหมายศาลจังหวัดหนองคาย ฐานร่วมกันส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งของที่ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร
ร่วมกันมีอาวุธปืนครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันควร ร่วมกันนำอาวุธปืนผ่านราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อหาปลอมแปลงเอกสารซื้อปืนสวัสดิการของทางราชการหลายกระบอก
“เบล 1,000 กระบอก” ถูกตำรวจกองปราบปราม สืบสวนสะกดรอยตามเรื่อยมา ก่อนนำ 16 หมายจับ-หมายค้น เข้าตรวจค้นเป้าหมาย 21 จุด ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี กรุงเทพฯ กาญจนบุรี อุดรธานี และเชียงใหม่ เข้าทลายเครือข่ายการค้าอาวุธข้ามชาติ รวมถึงการฟองเงิน
ตำรวจ เตรียมเสนอ ปปง. อายัดทรัพย์สินของ ดนุพล ซึ่งเป็นตัวการใหญ่ เพื่อตรวจหาที่มาของทรัพย์สิน และเส้นทางการเงินทั้งหมด หากพบว่าทรัพย์สินใดได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็จะถูกดำเนินคดี และยึดทรัพย์สินให้ตกเป็นสมบัติของแผ่นดิน
สำหรับเครือข่ายพ่อค้าความตาย กลุ่ม “เบล 1000 กระบอก” ทำกันเป็นขบวนการ มีการวางแผนในลักษณะกลุ่มอาชญากร แบ่งหน้าที่กันทำ ระหว่าง กลุ่มนายทุน กลุ่มของเบล มีหน้าที่หาคนทําใบ ป.3 และขนส่งอาวุธ กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องในชั้นการออกใบอนุญาต และกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มร้านปืน
พยานหลักฐานสำคัญระบุว่า ขบวนการนี้มีแผนประทุษกรรม นำเอาชื่อบุคคลอื่น หรือคนในขบวนการ มาขอใบอนุญาตซื้ออาวุธปืน (ป.3) ตรวจสอบพบมีการขอใบ ป.3 มากกว่า 2,000 ใบ ประกอบไปด้วย อาวุธปืนลูกซอง ขนาด .22 และ อาวุธปืนพกสั้นขนาด 9 มม.ซึ่งเป็นเอกสารเท็จ
เมื่อได้รับใบอนุญาตซื้ออาวุธปืน กลุ่มของเบล จะไปซื้ออาวุธปืน จากร้านขายปืน จากนั้นส่งอาวุธปืน ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ ยังเชื่อว่ามีการขายในตลาดมืดภายในประเทศด้วย
โดยกลุ่มขบวนการพ่อค้าความตาย จะได้กําไรกระบอกละ 30,000 – 50,000 บาท จากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบเงินหมุนเวียนในขบวนการมากกว่า 150 ล้านบาท
นอกจากนี้ เมื่อสอบสวนต้นทางที่มาของปืนที่ยึดได้ มีหลายสิบกระบอกเป็นปืนสวัสดิการหลวง ที่มีใบอนุญาต ป.3 ถูกต้อง ส่วนใหญ่พบใบอนุญาตออกมาจาก อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และอ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี
14 มิ.ย. 2565 อธิบดีกรมการปกครอง ธนาคม จงจิระ ลงคำสั่งเด้งฟ้าผ่า นายอำเภอศรีราชา "ดงพล รุจิธรรมธัช" เข้ากรุช่วยราชการกรมการปกครอง โดยคาดว่า ปมมาจากการพัวพันแก๊งค้าปืน เบล 1,000 กระบอก
ส่วน อดีตนายอำเภอไทรโยค จ.กาญจนบุรี สาวิตร เจียมจิระ จากการจรวจประวัติ เข้ามารับตำแหน่งนายอำเภอ เมื่อ 7 เม.ย. 2563 เกษียณอายุราชการเมื่อ 30 ก.ย. 2564 ห้วงเวลานั้น สาวิตร ออกใบอนุญาตขอมีอาวุธปืน ป.3 กว่า 1,000 กระบอก
กระทรวงมหาดไทย กำลังสอบสวนเพื่อดำเนินการสอบสวนว่าการออกใบอนุญาต ป.3 มีการเชื่อมโยงกับขบวนการค้าอาวุธข้ามชาติในครั้งนี้ด้วยหรือไม่