สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,051 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 13-18 พฤษภาคม 2565 เรื่อง “คนไทยกับโลกดิจิทัล” พบว่า ส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันในการติดต่อสื่อสาร พูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์ โซเชียลมีเดียมากที่สุด ร้อยละ 79.96 รองลงมาคือชำระเงินแบบดิจิทัล ฝาก ถอน โอน จ่าย ร้อยละ 78.44
เปรียบเทียบก่อนและเมื่อมีโควิด-19 ใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันมากขึ้น ร้อยละ 76.97 โดยมองว่า “โลกดิจิทัล” ไม่ได้สร้างความลำบากและวุ่นวาย ร้อยละ 53.28 ในโลกออนไลน์เคยพบปัญหาการส่งต่อเฟคนิวส์ คลิปหรือข้อมูลความเชื่อผิด ๆ มากที่สุด ร้อยละ 82.40 รองลงมาคือมิจฉาชีพออนไลน์ หลอกให้โอนเงิน ร้อยละ 63.84
วิธีการปรับตัวให้เข้ากับโลกดิจิทัล คือ ต้องมีวิจารณญาณในการใช้เทคโนโลยีและสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ร้อยละ 71.81 สิ่งที่คาดหวังโลกดิจิทัลสำหรับคนไทย คือ ใช้งานได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ระบบไม่ล่ม ไม่ติดขัด ร้อยละ 70.00 รองลงมาคือ คนไทยเข้าถึงโลกดิจิทัลอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ร้อยละ 61.52 ในภาพรวมประชาชนพร้อมแล้วกับการเป็นคนไทยในโลกดิจิทัล ร้อยละ 89.30
นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า รัฐบาลต้องการผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล คนไทยก็ใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันมากขึ้นและพร้อมเข้าสู่โลกดิจิทัลสูงถึงร้อยละ 89 แต่ปัญหาที่พบและพบอย่างต่อเนื่อง คือ เฟคนิวส์ และมิจฉาชีพออนไลน์ต่าง ๆ ดังนั้น ในการวางรากฐานด้านดิจิทัลนอกจากนโยบายและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้ว การใช้กฎหมายเกี่ยวกับดิจิทัลอย่างเข้มงวดจึงเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ นอกจากนี้ต้องเน้นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย เข้าถึงได้เท่าเทียมกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้คนไทยทุกคนเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างมีคุณภาพและเสมอภาค
ด้าน ดร.เอื้ออารี จันทร หัวหน้าฝ่ายพัฒนาระบบการเรียนรู้ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ให้ความเห็นว่า จากการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการอภิปรายกลุ่มและการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลหลัก จำนวน 15 คน พบว่า องค์ประกอบที่สำคัญของการเป็น “คนไทยในโลกดิจิทัล” มี 3 องค์ประกอบ คือ
การพัฒนาคนจึงต้องจัดระดับตามช่วงวัยและพัฒนาการ ปฐมวัยควรใช้น้อยแต่เน้นเตรียมทักษะชีวิต มัธยมค้นหาและปรับพื้นฐานให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง อุดมศึกษาพัฒนาวิธีคิด พื้นฐานการออกแบบ ใช้ข้อมูลเจาะลึกเกี่ยวข้องกับอาชีพ เน้นทักษะและทัศนคติ วัยทำงานเน้นการพัฒนาตนเองตามความสอดคล้องกับงานและความสนใจ รองรับแนวโน้มการทำงานแบบ 1 คน มากกว่า 1 งาน และวัยสูงอายุเน้นใช้ในการสื่อสารและการเข้าถึงสวัสดิการของภาครัฐ