เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 กระแสโอมากาเสะในปัจจุบันถือว่ากำลังได้รับความนิยม ทำให้ร้านจำหน่ายอาหารพื้นเมืองในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เกิดแนวคิดปรับรูปแบบการเสิร์ฟเมนูลาบและอาหารพื้นเมืองในรูปแบบเดิมๆ มาเสิร์ฟในรูปแบบโอมากาเสะ รูปแบบซูชิญี่ปุ่น โดยให้เชฟของร้านออกปั้นข้าวเหนียวพร้อมนำเมนูลาบที่อยู่ในเซตที่จัดเตรียมไว้มาออนท็อปลงบนข้าว ส่งให้ถึงมือลูกค้าแบบคำต่อคำ
นางสาวลักขณา อภิวงษ์ หรือ จ๊ะจ๋า อายุ 27 ปี เจ้าของร้านลาบช้างสาร เปิดเผยว่า ต้องการสร้างประสบการณ์ใหม่ในการรับประทานอาหารพื้นเมือง และสร้างจุดขายให้กับร้าน ที่กำลังพลิกฟื้นหลังวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยปกติทางร้านจะทำคอนเทนต์ประจำเดือนเพื่อโปรโมทเมนูอาหารอยู่แล้ว โดยเดือนนี้ได้เกิดแนวคิด กินลาบยังไงให้โลกจำ ซึ่งการรับประทานลาบ โดยทั่วไปจะปั้นข้าวเหนียวแล้วจิ้มลาบ หรือ คนเหนือจะเรียกว่า กุ้ยลาบ แต่ตอนนี้กระแสโอมากาเสะกำลังมาแรง ส่วนอาหารเหนือก็อร่อยไม่แพ้อาหารญี่ปุ่น จึงนำอาหารทั้งสองสัญชาติมาผสมผสานกัน กลายเป็นโอมากาเสะสไตล์พื้นเมือง
หลังทดลองทำเมนูนี้ออกมา ลูกค้าก็ให้การตอบรับค่อนข้างดี เพราะได้ประสบการณ์แปลกใหม่ในการรับประทานอาหารเมือง เซตโอมากาเสะขายในราคา 599 บาท มีเมนูทั้งหมด 6 อย่าง คือ ลาบหมูดิบ ลาบช้างสาร ลาบเนื้อดิบ ลาบไข่มดแดง ต้มเห็ดถอบน้ำพริกข่า น้ำพริกหนุ่มและแคบหมู โดยจะมีเชฟออกมาปั้นซูชิพื้นเมืองทั้งหมด 6 คำ ให้ลูกค้าได้ทานในสไตล์โอมากาเสะ หลังจากนั้นลูกค้าจะเลือกรับประทานอาหารเหนือในแบบฉบับดั้งเดิม หรือ สไตล์ซูชิ ก็สามารถปั้นได้เองตามความชอบ
นอกจากเซตโอมากาเสะ ที่ร้านยังมีอาหารพื้นเมืองแนะนำ เช่น แกงฮังเล ไส้อั่ว แอ๊บอ่องออ และลาบช้างสาร ซึ่งเป็นเมนูซิกเนเจอร์ขึ้นชื่อ ที่ผสมผสานวิธีการทำระหว่างลาบพื้นเมือง และลาบอีสาน จึงมีรสชาติที่เข้มข้นมีความหอมเครื่องเทศแบบลาบพื้นเมืองทางเหนือ แต่มีรสเปรี้ยวแทรกอยู่แบบลาบอีสาน หรือเมนูยอดฮิตตามฤดูกาล เช่น ลาบไข่มดแดง และต้มเห็ดถอบ ซึ่งปกติจะหารับประทานได้เฉพาะช่วงเวลาตามฤดูกาลเท่านั้น แต่ที่ร้านมีให้ลูกค้าสั่งได้ตลอดทั้งปี เพราะเราสต็อกวัตถุดิบไว้ในห้องเย็น จึงพร้อมนำมาปรุงเป็นเมนูเด็ดให้ลูกค้าได้ลิ้มลองตลอดเวลา
นางสาวลักขณา กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้เคยทำธุรกิจร้านอาหารสไตล์ผับ มาประมาณ 10 ปีแล้ว โดยเปิดร้านอยู่ในโครงการสันติธรรมพลาซ่าใช้ชื่อว่า ดอนมดแดง และ ยักษ์ษา แต่ต้องปิดตัวลง แต่ด้วยความที่เป็นคนชอบอาหารพื้นเมือง จึงตัดสินใจเปิดร้านอีกครั้งในสถานที่เดิม และครั้งนี้ได้ไปขอให้ครูบาอาจารย์ที่นับถือช่วยตั้งชื่อร้านให้ ซึ่งความหมายของ“ช้างสาร” ก็คือ ผู้มีอำนาจ มีพลัง โดยร้านลาบช้างสารเปิดมาได้ราว 3 ปีแล้ว แม้ช่วงที่โควิด-19 ระบาดจะประสบปัญหาแต่ก็ผ่านพ้นมาได้
สำหรับร้านช้างสาร อยู่ในโครงการสันติธรรมพลาซ่า ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 4 โมงเย็น จนถึง 8 โมงเช้า สาเหตุที่เลือกเปิดเวลานี้ เพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มครอบครัว และคนที่ชอบหาลาบและอาหารพื้นเมืองกินรอบดึก ในอนาคตวางแผนว่าจะเปิดร้านลาบแห่งนี้ตลอด 24 ชั่วโมง ลูกค้าที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารได้ที่เพจเฟซบุ๊ก “ลาบช้างสาร” หรือจองโต๊ะได้ที่เบอร์โทร 053- 216183
ข่าว/ภาพ : นิศานาถ กังวาลวงศ์ สำนักข่าวเนชั่นภาคเหนือ