17 พฤษภาคม 2565 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 15 – 19 พฤษภาคม 2565 โดยได้นำคณะผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐจำนวน 78 คน จาก 28 หน่วยงาน และภาคธุรกิจ จำนวน 57 คน จาก 39 บริษัทเดินทางร่วมด้วย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน
ล่าสุดวานนี้( 16 พ.ค.) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถ้อยแถลงในงาน Saudi-Thai Investment Forum 2022 ซึ่งเป็นงานที่ภาครัฐและภาคเอกชนของไทยและซาอุฯ จะได้แลกเปลี่ยนนโยบายและข้อมูลเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างกันอีกด้วย โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 300 คน ซึ่งมีเจ้าชายฟัยศ็อล บิน ฟัรฮาน อัลซะอู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย หารือกับผู้แทนภาคธุรกิจไทย-ซาอุดีฯ โดยนายดอน ได้ย้ำว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นสิ่งที่สอดคล้องกันระหว่าง SaudiVision 2030 และโมเดลเศรษฐกิจ BCG
พร้อมเป็นสักขีพยานการแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ ระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับหอการค้าซาอุดีอาระเบีย ร่วมกับเจ้าชายฟัยศ็อล บิน ฟัรฮาน อัลซะอูด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย และการลงนามเอกสารความร่วมมือระหว่างบริษัทเอกชนซาอุดีอาระเบียและบริษัทเอกชนไทยอีก 4 ฉบับ
ทั้งนี้ งาน Saudi - Thai Investment Forum เป็นการพบปะครั้งแรกของเอกชนไทยและซาอุดีฯ เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนในสาขาธุรกิจที่มีศักยภาพของทั้งสองฝ่าย
การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือทวิภาคี ภายหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุฯ พร้อมติดตามประเด็นที่สองประเทศแสดงเจตนารมณ์ ผลักดันร่วมกัน ภายหลังการเยือนของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐของทั้งสองฝ่าย ในประเด็นทวิภาคีและพหุภาคี รวมทั้ง การส่งเสริมการสร้างงานและการดูแลคนไทยในซาอุฯ การส่งเสริมการเจรจาการค้าและการลงทุนระหว่างภาคเอกชนของไทยและซาอุฯ การขยายการส่งออกสินค้าไทยไปยังซาอุฯ และการนำภาครัฐและภาคเอกชนไทยศึกษาดูงานโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของซาอุฯและศึกษาสภาพสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและซาอุดีฯต่อไป
โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดการเข้าพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
นอกจากนี้จะมีการหารือหาข้อสรุปการเจรจาเอกสารแผนการขับเคลื่อนและส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-ซาอุฯ (Roadmap to Strengthen Bilateral Relations between the Kingdom of Thailand and the Kingdom of Saudi Arabia) และบันทึกความเข้าใจการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุฯ-ไทย (Memorandum of Understanding between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the Kingdom of Saudi Arabia on the Establishment of the Saudi-Thai Coordination Council) ซึ่งจะมีการลงนามในโอกาสต่อไป
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจการจัดตั้งสภาความร่วมมือไทย - ซาอุฯ และระหว่างสภาหอการค้าไทย - ซาอุฯ ซึ่งจะปูทางการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจเอกชนของทั้งสองฝ่าย อีกทั้ง จะกล่าวถ้อยแถลงในงาน Saudi-Thai Investment Forum 2022 ซึ่งเป็นงานที่ภาครัฐและภาคเอกชนของไทยและซาอุฯจะได้แลกเปลี่ยนนโยบายและข้อมูลเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างกันอีกด้วย โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 300 คน
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมพิธีเปิดงานส่งเสริมการค้าและผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลของไทยในซาอุฯ ซึ่งเป็นโครงการของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาดที่จะส่งเสริมผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลของไทยให้เป็นที่รู้จักและนิยมในซาอุฯ เยี่ยมชมโครงการพัฒนาเมืองอัลลูลา (Al-Ula) ตาม Vision 2030 ของซาอุฯ เพื่อศึกษาศักยภาพและการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของซาอุฯ ศึกษาดูงานที่ King Abdullah Economic City ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาเมืองใหม่ริมชายฝั่งทะเลแดง เพื่อเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมทางภาคตะวันตกของประเทศ รวมทั้ง King Abdullah University of Science and Technology (KAUST) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของซาอุฯ มีความโดดเด่นด้านการวิจัยและพัฒนา
ทั้งนี้ นับตั้งแต่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ ทั้งสองฝ่ายได้เร่งรัดความร่วมมือทวิภาคีในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นและสาขาความร่วมมือที่ให้ความสำคัญและต้องการผลักดันในลำดับต้น อาทิ ความมั่นคง การค้า การลงทุน แรงงาน ด้านสาธารณสุข การศึกษา การเกษตร และการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น