svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดภาระค่าใช้จ่ายรับ"เปิดเทอม"กทม.พุ่งสูง เผยเรียนฟรี 15 ปีไม่ใช่คำตอบ

เปิดภาระค่าใช้จ่ายการศึกษา รับ"เปิดเทอม" พบ กทม. สูงกว่าทั้งประเทศ 2 เท่า ครัวเรือนจนสุด-รวยสุด  ใช้จ่ายเพื่อการศึกษาห่างกันถึง 12 เท่า เสนอปรับสูตรงบประมาณ จัดบัตรสวัสดิการนักเรียน  เพื่อคุณภาพชีวิตของเด็กกทม.

 

"กสศ."เสนอ ปรับสูตรจัดสรรงบประมาณ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายการศึกษาให้ครัวเรือนยากจน เพิ่มทรัพยากรโรงเรียนด้อยโอกาส   อุดหนุนสวัสดิการสังคม ยกระดับศูนย์เด็กเล็ก บัตรสวัสดิการนักเรียน   เพื่อคุณภาพชีวิตของเด็กกทม. ขณะที่เครือข่ายผู้ปกครองบ่นเสียงเดียวกันต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายสูงก่อนเปิดเทอม เสนอควรมีมาตรการแบ่งเบาภาระผู้ปกครองที่ชัดเจน

 

"ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค" รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.)  กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในกรุงเทพมหานคร  พบว่า  กทม.นับเป็นพื้นที่ซึ่งมีช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนสูงที่สุดในประเทศไทย  

 

"ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค" รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.)

 

จากข้อมูลการคัดกรองนักเรียนทุนเสมอภาค สังกัด สพฐ. ในกรุงเทพมหานคร พบว่า ครอบครัวของเด็กยากจนพิเศษของกรุงเทพฯ มีรายได้เพียง 1,964 บาทต่อคนต่อเดือน  ต่ำกว่าเส้นความยากจนของสภาพัฒน์ ซึ่งอยู่ที่ 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน  ทั้งนี้  COVID-19 ทำให้รายได้ครัวเรือนยากจนพิเศษทั้งประเทศลดลง คิดเป็น  7% เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนมีสถานการณ์ COVID-19  

 

"ดร.ภูมิศรัณย์" กล่าวว่า   ข้อมูลจากการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าคนกรุงเทพฯ ต้องจ่ายค่าอุปโภคบริโภคต่อครัวเรือนเฉลี่ย 13,738 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายดังกล่าวสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ 1.5 เท่า  

 

เปิดภาระค่าใช้จ่ายรับ\"เปิดเทอม\"กทม.พุ่งสูง เผยเรียนฟรี 15 ปีไม่ใช่คำตอบ

 

นอกจากนี้จากการสำรวจค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของเด็กนักเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า เด็กกรุงเทพฯมีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเฉลี่ย 37,257 บาทต่อคนต่อปี  ในจำนวนนี้เป็นค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาสูงถึง 26,247 บาท ที่เหลือเป็นค่าเสื้อผ้าและเครื่องแบบ 2,072 บาท  ค่าหนังสือ เครื่องเขียน และอุปกรณ์ 2,175 บาท และค่าเดินทาง 6,763 บาท  ตัวเลขเฉลี่ยเหล่านี้สูงกว่าทุกพื้นที่ในประเทศไทย สูงกว่าเฉลี่ยของทั้งประเทศซึ่งมีค่าใช้จ่าย 17,832 บาทต่อคนต่อปี ถึง 2 เท่า

 

"ตัวเลขนี้กำลังบอกเราว่า คนกรุงเทพฯ กำลังเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพที่สูงกว่าจังหวัดอื่นๆ ในแทบทุกมิติ ทั้งด้านค่าใช้จ่ายครัวเรือน รวมถึงค่าใช้จ่ายทางการศึกษา  และแม้ประเทศไทยจะมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี แต่พบว่ายังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทางการศึกษาอย่างเพียงพอ  โดยเฉพาะสำหรับครัวเรือนยากจน   ยิ่งคำนึงถึงสถานการณ์เงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา  อาจต้องถึงเวลาปรับสูตรการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาอีกครั้งเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ  การเพิ่มทรัพยากรทางการศึกษาสำหรับโรงเรียนด้อยโอกาส   รวมถึงเพิ่มการจัดสรรสวัสดิการทางสังคมด้านอื่นๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตเด็กกทม.   เช่น บัตรสวัสดิการนักเรียน

 

เปิดภาระค่าใช้จ่ายรับ\"เปิดเทอม\"กทม.พุ่งสูง เผยเรียนฟรี 15 ปีไม่ใช่คำตอบ


นอกจากนี้ เนื่องจากปฐมวัยถือเป็น ช่วงวัยที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาคุณภาพชีวิต จึงควรมุ่งพัฒนา ยกระดับคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวันเรียนของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีอยู่   290  แห่ง เพื่อดูแลบุตรหลานครอบครัวยากจน คนหาเช้ากินค่ำในกทม. กลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยเพิ่มมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย  เพิ่มสวัสดิการครูพี่เลี้ยง และอาสาสมัคร  การเชื่อมฐานข้อมูลเด็กปฐมวัยและส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  

 

นอกจากนี้ กสศ.กำลังร่วมกับสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร  ในการบูรณาการฐานข้อมูลนักเรียน เพื่อเตรียมการจัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข หรือทุนเสมอภาค ในปีการศึกษา 2565 เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ให้กับครัวเรือนยากจน" 

 

(การสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2564 สำนักงานสถิติแห่งชาติ)

 

รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.)  กล่าวว่า หากเปรียบเทียบ ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของเด็กที่มาจากครัวเรือนยากจน 10% ล่างสุดของกรุงเทพฯ จะอยู่ที่ 6,600 บาทต่อคนต่อปี  ในขณะที่เด็กที่มาจากครัวเรือนที่รวยที่สุด  10% แรกของกรุงเทพฯ มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่สูงถึง 78,200 บาทต่อคนต่อปี ตัวเลขห่างกันถึง 12 เท่า ค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกันอย่างมากบ่งบอกถึงคุณภาพการศึกษาที่นักเรียนกลุ่มยากจนและกลุ่มที่มีฐานะดี มีโอกาสได้รับแตกต่างกัน”   

 

"แม้ว่าค่าใช่จ่ายทางการศึกษาของครอบครัวยากจนจะไม่สูงนัก แต่จากข้อมูลบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ( National Education Account : NEA) พบว่า โดยเฉลี่ยครัวเรือนยากจนต้องแบกรับรายจ่ายด้านการศึกษาเมื่อเทียบกับรายได้ สูงกว่าครัวเรือนที่ร่ำรวยถึง  4 เท่า ความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาอาจนำไปสู่การหลุดออกนอกระบบการศึกษาของเด็กยากจน รวมถึงคุณภาพการศึกษาที่พวกเขาได้รับภายใต้ทรัพยากรอันจำกัด ซึ่งทำให้พวกเขามิอาจหลุดพ้นออกจากวงจรของความยากจนแบบข้ามรุ่นได้"

 

"ทองพูล บัวศรี"  ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน (ไซต์ก่อสร้างและริมทางรถไฟ ) กล่าวว่า เราจำเป็นต้องอธิบายถึงภาวะที่ครอบครัวต่าง ๆ ประสบ อันเป็นผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ประเด็นแรกคือการตกงาน ขาดรายได้ เป็นสภาวะ ‘จนเฉียบพลัน’ ที่เดิมแม้จะมีรายได้น้อย แต่ยังพอประคองชีวิตให้อยู่รอดได้ แต่เมื่อธุรกิจหลายอย่างปิดตัวลง เกิดปัญหาเศรษฐกิจที่กินวงกว้าง งานรับจ้างรายวันที่เคยมีจึงหายไป ทำให้ไม่มีรายได้เข้าสู่ครอบครัวเลย

 

ประเด็นต่อมาคือเหตุ "อุบัติ" ในครอบครัว หมายถึงเคสที่คนหารายได้หลักในบ้านเสียชีวิตจากโควิด-19 ทิ้งให้อีกหลายชีวิตเจอกับความยากลำบากยิ่งขึ้น หรือบางบ้านผู้ปกครองเสียศูนย์จากวิกฤต เด็กจึงต้องออกจากโรงเรียนเพื่อทำงานหารายได้ดูแลน้อง ๆ นอกจากนี้ปัญหารุมเร้ายังนำมาสู่ความเครียด เป็นบ่อเกิดของความรุนแรงในครอบครัวที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ประเด็นที่สามคือการที่เด็ก ๆ ถูกผลักจากครอบครัวให้ลงไปอยู่บนท้องถนนมากขึ้น เราจะเห็นเด็กที่เร่ขายของตามสี่แยก หรือตามแหล่งท่องเที่ยวกลางคืนบริเวณย่านใจกลางเมือง

 

"เมื่อมองไปที่ปลายทาง มูลเหตุเหล่านี้ล้วนนำความสุ่มเสี่ยงด้านความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตมาที่ตัวเด็กโดยตรง เราจะพบผู้ปกครองที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตและการควบคุมอารมณ์มากขึ้น ขณะที่ปัจจัยยังชีพพวกข้าวสาร อาหารแห้ง นับว่าเป็นสิ่งที่สามารถเข้ามาช่วยให้ครอบครัวในชุมชนต่าง ๆ ผ่อนคลายจากสภาวะที่เผชิญได้บ้าง ส่วนภาระที่หัวหน้าครอบครัวต้องเผชิญโดยตรงเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการศึกษา เครื่องแบบ กระเป๋า รองเท้า หนังสือเรียนอุปกรณ์การเรียน พบว่าในปีการศึกษาใหม่นี้ หลายอย่างได้ปรับราคาสูงขึ้น" ทองพูล  กล่าว


 
"ทองพูล" กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ก่อนเปิดเทอมเพื่อนำสิ่งของบริจาคไปมอบให้เด็ก ๆ ในพื้นที่ชุมชนหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร ข้อมูลบ่งชี้ว่า รองเท้านักเรียนมีราคาต่อคู่อยู่ที่ประมาณ 320 บาท เสื้อนักเรียนตัวละประมาณ 200 บาท กระโปรงหรือกางเกงราว 250 บาท กระเป๋านักเรียนราคาเฉลี่ย 200 กว่าบาท ยังไม่รวมว่ามีค่าชุดพละ 250 บาท ชุดลูกเสือซึ่งต้องมีส่วนประกอบของเครื่องแบบเช่น ผ้าพันคอ หมวก วอกเกิ้ล เข็มขัด ฯลฯ รวมแล้วตกราว 650 บาท หรือในส่วนนักเรียนหญิงจำเป็นต้องมีรองเท้าผ้าใบสำหรับชั่วโมงพละร่วมด้วย เมื่อคิดมูลค่าของทั้งหมดรวมเบ็ดเสร็จ ค่าใช้จ่ายจึงมีมากกว่า 2,000 บาท ต่อคน ซึ่งแน่นอนว่าหลายครอบครัวที่ไม่มีรายได้หรือรายได้ลดลง ต้องนับว่าเป็นภาระที่หนักมากในช่วงเวลานี้ 


  
"นอกจากนี้เราต้องไม่ลืมว่า แม้เด็กส่วนใหญ่ไม่เสียค่าเทอม แต่ยังมีค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าประกันอุบัติเหตุ 500 บาท  หรือค่าจ้างพิเศษในส่วนของครูสอนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ค่าเรียนคอมพิวเตอร์ ประมาณ 300 บาทต่อวิชา รวมแล้วค่าธรรมเนียมเหล่านี้จึงมากกว่า 1, 000 - 2,000 บาทต่อคน เหล่านี้คือค่าใช้จ่ายแท้จริงที่ส่งผลต่อโอกาสทางการศึกษาของเด็กเยาวชนคนหนึ่ง ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองต้องแบกรับ และหมายความไปถึงความมั่นคงทางการศึกษาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่เด็กจะอยู่ในระบบการศึกษาต่อไปได้จนถึงปลายทาง" ทองพูล กล่าว

 

ณัฏฐนาท  ปฐมวรชัย เครือข่ายผู้ปกครองในสถานศึกษา  กล่าวว่า ตลอดการศึกษาของลูกชายใน 14 ปี พบว่าไม่เคยได้เรียนฟรีเลย ซึ่งขณะนี้ลูกชายของแม่มดกำลังขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 แม้เป็นโรงเรียนรัฐบาลแต่ก็ยังต้องเสียค่าใช้ให้สถานศึกษาปีละประมาณ 7,000 บาท ร่วมกับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น เสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียน หรือค่าเดินทาง จะตกอยู่ที่ปีละประมาณ 20,000 บาท แต่เมื่อย้อนไปก่อนหน้านั้นในชั้นประถมศึกษาน้องเรียนโรงเรียนเอกชนสอน 3 ภาษา ทำให้ปีนึงค่าใช้จ่ายอยู่ที่ปีละ 100,000 กว่าบาท พอขึ้นมัธยมศึกษาตอนต้นแม้เป็นโรงเรียนรัฐบาลแต่เรียนในห้องอีพี ทำให้เสียค่าใช้มากกว่าห้องเรียนอื่น ๆ อยู่ที่ปีละประมาณ 50,000 บาท ทั้งนี้แม้พ่อมีรายได้พอสมควรจากอาชีพวิศวกรคอมพิวเตอร์ แต่ก็เป็นรายได้ทางเดียวของครอบครัวที่เลี้ยงชีวิตทั้ง 4 คนทั้ง พ่อ แม่ ลูกชาย และคุณย่า 

 

"ณัฏฐนาท"  เล่าต่อว่า ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ลูกชายต้องเรียนอยู่ที่บ้านมา 2 ปีแล้ว ภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือค่าอาหาร รวมไปถึงกิจกรรมสันทนาการอื่น ๆที่ปกติน้องจะได้ทำที่โรงเรียนก็ต้องจัดหาอุปกรณ์เหล่านั้นมาไว้ที่บ้าน เช่น อุปกรณ์กีฬา ดนตรี หรืออุปกรณ์ที่ใช้เรียนออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

"เราเห็นว่ารัฐมีโครงการชุดนักเรียนราคาถูกเราเลยไปซื้อ แต่พบว่ามีไม่เพียงพอในบางไซส์ ทั้งนี้ได้คุยกับผู้ปกครองที่ไปเจอโดยบังเอิญที่ร้าน ซึ่งมีลูกชายขนาดใกล้เคียงกันและเขากำลังมาซื้อชุดลูกเสือ เราเลยแลกไลน์กันเผื่อนำชุดลูกเสือของลูกเราที่ไม่ได้ใช้แล้วมอบให้ เราเลยคิดว่ามันน่าจะดีถ้ามีโครงการหรือหน่วยงานที่เชื่อมข้อมูลตรงนี้ ให้สามารถนำชุดนักเรียนที่ไม่ได้ใช้แล้วถูกส่งมอบต่อให้ครอบครัวที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในวันเปิดเทอม" ณัฏฐนาท  กล่าว 

 

เช่นเดียวกับ "ประกาย ช่างถม" เครือข่ายผู้ปกครองในสถานศึกษา กล่าวว่า ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ครอบครัวมีรายได้จากทั้งพ่อที่เป็นพนักงานราชการของกรุงเทพมหานคร โดยมีเงินเดือน 12,000 บาท และยังมีรายได้จากแม่ที่เปิดร้านทำผมเล็ก ๆ ในชุมชนที่ทำให้พออยู่ได้ทั้งครอบครัว แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้รายได้จากร้านทำผมเป็นศูนย์ ทำให้บ้านที่อยู่กัน 5 คน คือ พ่อ แม่ ลูก 2 คนที่ยังอยู่ในวัยเรียน และย่าที่เป็นผู้สูงอายุจึงแทบไม่พอใช้

 

ในแต่ละปีครอบครัวนี้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาให้ลูกทั้ง 2 คนปีละประมาณ 20,000 บาท คนโตกำลังขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ใช้จ่ายมากกว่าน้องคนเล็กที่กำลังขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อยู่พอสมควร อีกทั้งในระหว่างภาคการศึกษายังมีภาระที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมตลอดปีการศึกษา เช่น ค่ารายงาน หรือค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ และซ้ำเติมด้วยการเรียนออนไลน์อยู่บ้าน ที่ครอบครัวต้องแบกรับทั้งค่าอินเตอร์เนท อุปกรณ์แท็บเล็ตที่ต้องซื้อใหม่ รวมถึงค่าอาหารที่ต้องเผื่อไว้ตลอดทั้งวัน

 

"แม่ซื้อรองเท้าของทั้ง 2 คนเผื่อไว้ให้หลวม ๆ แต่ไม่เท่าไหร่ก็ต้องซื้อใหม่แล้ว ส่วนที่เขาบอกว่าเรียนฟรีค่าเทอม แต่ไม่รู้มีค่าอะไรบ้างอีกตั้งเยอะที่แต่ละปีโรงเรียนยังเรียกเก็บมา ตอนนี้เงินไม่พอใช้ที่บ้านก็ต้องไปหยิบยืมญาติมาจ่ายไปก่อนก็เกรงใจเขา" ประกาย กล่าว