"เนชั่นทีวี" ได้พูดคุยกับ พล.ท.นันทเดช ซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย และเคยเป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ (ภาคใต้) ศูนย์รักษาความปลอดภัย หรือ ศรภ. ซึ่งทำงานด้านความมั่นคง และการข่าวลับมาตลอดชีวิตราชการ
โดย พล.ท.นันทเดช วิเคราะห์อนาคตรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ว่าตั้งแต่ตอนนี้จนถึงเดือนพฤษภาคม นายกฯยังอยู่ได้สบายๆ ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคก็จะยังให้การสนับสนุน เพราะยังไม่อยากให้รีบยุบสภาเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากไม่ต้องการเจอปัญหาใหม่ คือ กรณียุบสภาโดยที่กฎหมายลูกยังไม่เสร็จ
แต่หลังจากเดือนพฤษภาคมไปแล้ว นายกฯไปต่อยาก เพราะ
1.กลุ่มผู้กองธรรมนัส จะยังเป็น "หอกข้างแคร่" ของนายกฯ และรัฐบาลต่อไป
2.นายกฯน่าจะผ่านศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจไปได้ รวมถึงผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2566 ด้วย เพราะเรื่องงบประมาณ สุดท้ายไม่มีใครกล้าค้าน และนายกฯจะใช้ทุกกลไกเข้าไปประกบตัว ส.ส.กลุ่มที่มีความอ่อนไหว ไม่ให้พลิ้วหรือหักหลังได้
3.แต่จุดตายของรัฐบาลน่าจะอยู่ที่กฎหมายการเงิน ซึ่งยังมีอีก 1-2 ฉบับ โดยเฉพาะหากต้องกู้เงินเพิ่มมาพยุงราคาน้ำมัน อาจสร้างกระแสคัดค้านเรื่องการก่อหนี้สาธารณะเพิ่ม จนมีคนโหวตสวน และทำให้รัฐบาลแพ้โหวตในสภา ต้องลาออก
ที่สำคัญการพิจารณากฎหมายการเงินที่วาระไม่ใหญ่นัก ไม่ตื่นเต้นเท่าศึกซักฟอก ส.ส.รัฐบาลอาจประมาทและหย่อนยาน เข้าประชุมไม่ครบ จนถูกจับแพ้ได้เมือนกัน
4.เชื่อว่าพรรคภูมิใจไทยยังสนับสนุนรัฐบาล เพราะมีผลประโยชน์ร่วมกัน และหากล้างไพ่ พลิกขั้วใหม่ ก็ไม่แน่ว่าพรรคตัวเองจะได้คุมกระทรวงคมนาคมเหมือนปัจจุบัน
5.อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ประกาศเป็นสัญญาประชาคมแล้ว "มาด้วยกัน ไปด้วยกัน" ฉะนั้นถ้าบิดพลิ้วจะเสียหายมาก
พล.ท.นันทเดช ยังตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงที่รัฐบาลอ่อนแอมากๆ จะมีการเปิดไฟเขียว ส่งสัญญาณให้มีกระแสต่างๆ กดดันรัฐบาลเพิ่มขึ้น ที่ต้องจับตาคือ "ม็อบสามนิ้ว" กำลังจะกลับมา และขณะนี้เริ่มก่อตัวในหลายๆ พื้นที่แล้ว เพราะรอจังหวะเวลากดปุ่ม จัดม็อบใหญ่ อีกเรื่องหนึ่งคือความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีมากขึ้น
แต่ พลโทนันทเดช มั่นใจว่า ศึกนอกสภา นายกฯเอาอยู่ ปัจจัยเสี่ยงอยู่ที่ "ล้มในสภา" ฉะนั้น หากให้คาดการณ์อนาคตทางการเมือง เชื่อว่านายกฯจะอยู่ได้ถึงเดือนพฤษภาคมแน่ และอยู่ต่อจากนั้นได้อีกระยะ แต่จะถึงวาระปิดประชุมเอเปคตามที่ตั้งใจหรือไม่ ยังต้องลุ้น เนื่องจากมีอุปสรรคจากในสภา ทั้งศึกซักฟอก กฎหมายงบประมาณ และกฎหมายการเงิน