เดือน ก.พ.ถือเป็นเดือนแห่ง “ความรัก” ที่บรรดาคู่รักตั้งแต่รุ่นเล็ก ยันรุ่นใหญ่ ต่างถวิลหาความสุขมาให้กัน มองไปทางไหนก็มีแต่ “สีชมพู-สีแดง” ทุกหนแห่ง
แต่อีกมุมหนึ่ง นอกจากกลิ่นอบอวลของความรักแล้ว ยังมีเรื่องราว “รักขมๆ” วนเวียนอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่ม “เมียหลวง” ที่ต้องหนักอกหนักใจ เมื่อ “สามี” มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป และบางคนถึงขั้นมี “เมียน้อย” จนกลายเป็นความร้าวฉานในครอบครัว ที่อาจมีจุดจบคือการ “เลิกรา” ในบั้นปลาย??
แต่น้อยคนจะรู้ว่า “เมียหลวง” สามารถเรียกร้องเอาผิดตามกฎหมายกับพวก “เมียน้อย” และเรียกค่าเสียหายได้เช่นกัน...
“เมียหลวง” จดทะเบียน ฟ้อง “เมียน้อย” ได้หรือไม่?
ตามกฎหมาย หาก “เมียหลวง” มีการจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องกับ “สามี” ฉะนั้นสิทธิของภรรยาจะถือว่าชอบด้วยกฎหมายทันที ยิ่งถ้าในอนาคตมี “บุคคลที่สาม” หรือที่เรียกตามภาษาปากว่า “เมียน้อย” เข้ามาพัวพันฝ่ายชาย ที่มีการอยู่กิน และจ่ายค่าเลี้ยงดูให้กัน
ทางฝ่าย “เมียหลวง” สามารถยื่นฟ้องเรียกค่าทดแทน “บุคคลที่สาม” ที่มาแย่งสินสมรสได้เลย หรือจะฟ้อง “สามี” เพื่อขอหย่าร้าง และขอแบ่งสินสมรส หรือขอค่าทดแทนได้
ขณะที่ก่อนหน้านี้นายรัชพล ศิริสาคร ทนายความชื่อดัง เคยระบุถึงประเด็นดังกล่าวว่า สิทธิของ “เมียหลวง” ตามกฎหมายไทย มีสิทธิฟ้อง “เมียน้อย” เรียกค่าเสียหายได้โดยไม่ต้องหย่ากับ “สามี” แต่ต้องมีการจดทะเบียนสมรสอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 ภายใต้เงื่อนไข คือ
1.สามารถฟ้องเมียน้อยโดยไม่ต้องหย่ากับสามี (ฎ320/2530) หรือจะหย่าก็ได้
2.ต้องไม่รู้เห็นเป็นใจหรือสมัครใจให้คู่สมรสนอกใจ
3.ต้องรีบฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่รู้ หรือควรจะรู้เรื่อง
ฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ แต่จะฟ้องให้ทั้งคู่หยุดความสัมพันธ์ไม่ได้ เพราะสภาพคำขอไม่เปิดช่องให้ทำได้...(ฎ4014/2530)
“เมียหลวง” ไม่จดทะเบียน ฟ้อง “เมียน้อย” ได้หรือไม่?
ฉะนั้นเมื่อดูจากข้อกฎหมายแล้ว ถ้า “เมียหลวง” จะฟ้องร้อง “เมียน้อย” ได้ จะต้องมีการจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องกับ “สามี” เสียก่อน เพราะการ “อยู่กินฉันสามีภรรยา” มานานเพียงใด ถ้าหาก “ทะเบียนเป็นโมฆะ” หรือ “ไม่ได้จดทะเบียนสมรส” ก็ไม่มีสิทธิรับทรัพย์สินอีกฝ่ายได้ หรือไม่มีสิทธิรับมรดกของอีกฝ่าย กรณีมีการเสียชีวิตเกิดขึ้นด้วย
ยกเว้น “ทรัพย์สินอื่น” ที่ได้ทำมาหากินร่วมกัน ระหว่าง “อยู่กินฉันสามีภรรยา” ที่เรียกว่า “กรรมสิทธิ์ร่วม” ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะใส่เป็นชื่อของฝ่ายใด สามารถฟ้องเรียกร้องทรัพย์สินได้ครึ่งหนึ่งเสมอ
แต่ถ้าไม่มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง แม้จะมีการจัดงานใหญ่โต หรือเปิดให้คนในสังคมรับรู้ว่าเป็น “สามีภรรยา” กัน ก็ไม่เป็นผลทางกฎหมาย หรือไม่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย “ชู้” หรือ “เมียน้อย” ได้นั่นเอง!!
หลักฐานฟ้องร้อง “เมียน้อย” มีอะไรบ้าง?
ทั้งนี้ในกรณีที่ “เมียหลวง” ที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย ต้องการฟ้องร้อง “เมียน้อย” จะต้องมีการเตรียมหลักฐานต่างๆ ให้พร้อมเพรียง ไม่เช่นนั้นหาก “ฟ้องลอยๆ” โดยปราศจากหลักฐาน จากโจทก์อาจกลายเป็นจำเลยแทน ฐานหมิ่นประมาท หรือเบิกความเท็จ
ส่วนหลักฐานที่ “เมียหลวง” ต้องมีประกอบด้วย
1.ชื่อนามสกุลของ “เมียน้อย”
2.หลักฐานคบชู้กับสามี เช่น ภาพถ่าย , คลิปเสียง , คลิปวิดีโอ
3.หลักฐานข้อความสนทนาเชิงชู้สาว เช่น SMS โทรศัพท์ , แชทข้อความเฟซบุ๊กหรือไลน์
4.หลักฐานการถือครอง หรือซื้อทรัพย์สินให้แก่กัน (ถ้ามี)
5.หลักฐานการเคลื่อนไหวบัญชีธนาคารให้แก่กัน (ถ้ามี)
6.พยานบุคคลที่เห็นพฤติกรรม (ถ้ามี)