เป็นประเด็นที่สมาชิกโซเชียลให้ความสนใจอย่างมาก ภายหลังเพจเฟซบุ๊ก “InsidePitlok” เผยแพร่เรื่องราวของแพทย์โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก พบผู้ป่วยเป็นข้าราชการหญิงวัย 40 ปี ที่ชอบกิน “กุ้งแช่น้ำปล่า” ป่วยโรค “พยาธิปอดหนู” ขึ้นที่ดวงตา
ผศ.พญ.สิรินันท์ ตรียะเวชกุล จักษุแพทย์ เปิดเผยว่า คนไข้เป็นหญิงอายุ 40 ปี อาชีพข้าราชการ ได้เข้าพบหมอด้วยอาการตาพร่ามัวข้างเดียว มีอาการมาประมาณ 1 สัปดาห์ จึงได้นัดทำการตรวจอย่างละเอียดอีก 3 สัปดาห์ พบตามีการอักเสบ และพบพยาธิในวุ้นตา
จากรายงานสถิติเคยพบผู้ป่วยพยาธิปอดหนูขึ้นตาครั้งแรกของโลก ในประเทศไทยเมื่อปี 2505 โดยทั่วโลกมีการรายงานพบผู้ป่วยไม่เกิน 50 ราย และพบมากที่สุดในไทย เป็นผู้ป่วยจากภาคอีสาน จ.ขอนแก่น 18 ราย
นพ.คณินท์ เหลืองสว่าง จักษุแพทย์เชี่ยวชาญด้านจอตาและน้ำวุ้นตา กล่าวว่า เบื้องต้นรักษาด้วยการให้ยาฆ่าพยาธิ และยาลดอักเสบ ก่อนผ่าตัดนำตัวพยาธิออกมาจากตาได้ พบเป็นพยาธิปอดหนู ความยาวประมาณ 0.5 ซม.
สาเหตุที่เรียกว่าพยาธิปอดหนู เพราะพยาธิตัวเต็มวัยทั้ง 2 เพศ จะอาศัยอยู่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนู พยาธิตัวเมียจะออกไข่ในหลอดเลือดแดง และฟักตัวเป็นตัวอ่อนระยะที่ 1 ปนออกมากับมูลหนู เมื่อตัวอ่อนไชเข้าหอยทาก หรือหอยน้ำจืด เช่น หอยโข่ง หอยขม หอยเชอรี่ กุ้งน้ำจืด ปลาน้ำจืด แล้วจะเจริญเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ
“ระยะนี้หากคนรับประทานอาหารปรุงสุกๆ ดิบ พยาธิจะเข้าสู่ระบบประสาท เช่น สมอง ไขสันหลัง หรือตา ฯลฯ อาการเจ็บป่วยจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของอวัยวะที่พยาธิอยู่ ซึ่งจากการซักประวัติผู้ป่วย พบว่ามีประวัติชอบทานอาหารสุกๆ ดิบๆ บ่อยครั้ง โดยเฉพาะกุ้งน้ำจืด ที่ทานในเมนูกุ้งแช่น้ำปลาเป็นประจำ”
หลังผ่าตัดนำพยาธิออกจากตา พบว่าตาข้างขวาของผู้ป่วยไม่สามารถกลับมามองเห็นได้ เนื่องจากตัวพยาธิได้ชอนไชไปยังจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาอักเสบเป็นหนอง ได้รับความเสียหายบอดสนิท เบื้องต้นได้ทำการนัดรักษาต่อเนื่องเพื่อเช็คร่างกายอย่างละเอียดว่า พยาธิมีเพิ่มเติมในตำแหน่งอื่นของร่างกายอีกหรือไม่