พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พลเอกสุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือ ศบค. เพื่อพิจารณาผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศมีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วย
โดยที่ประชุม ศบค. จะมีการพิจารณาการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร และผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด-19 มีรายละเอียดดังนี้
1. ปรับโซนสีพื้นที่
จากเดิม ประกอบด้วย จังหวัดพื้นที่สีส้ม มี 69 จังหวัด และสีฟ้า 8 จังหวัด(ทั้งจังหวัด) และบางพื้นที่ใน 18 จังหวัด ซึ่งในวันพรุ่งนี้จะมีการปรับลดความเข้มข้น ดังนี้
จังหวัดสีส้ม จะปรับลดจาก ปัจจุบัน 69 จังหวัด เหลือ 40-42 จังหวัด
จังหวัดสีเหลือง จากปัจจุบันที่ไม่มีจังหวัดสีเหลือง คาดว่าจะมีปรับเพิ่ม โดยย้าย 24-27 จังหวัดสีส้มเดิม ให้มาเป็นจังหวัดสีเหลือง
สำหรับ พื้นที่สีฟ้า หรือจังหวัดนำร่องการท่องเที่ยว ยังคงไว้เท่าเดิม คือ 8 จังหวัด
2. ปรับเพิ่มเวลาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร
ขณะเดียวกัน ยังคาดว่า จะมีการปรับขยายเวลาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในจังหวัดพื้นที่สีฟ้า ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว และ จังหวัดสีเหลือง ให้สามารถดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้ถึง 23.00 น. จากปัจจุบันอนุญาตให้ดื่มได้ถึง 21.00 น.
3. นำ Test & Go กลับมาใช้
นอกจากนี้ยังมีการปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร โดยที่ประชุมจะมีการพิจารณานำรูปแบบการเดินทางเข้าประเทศแบบ Test & Go กลับมาใช้ โดยผู้ที่ต้องการเดินทางเข้ามาในระบบ จะต้องมีการคัดกรองเชื้อในวันแรก และวันที่ 6 ด้วยระบบ RT - PCR หลังจากนั้นเมื่อครบกำหนด 7 วัน หากตรวจแล้วไม่พบการติดเชื้อ ก็สามารถเดินทางได้ทั่วราชอาณาจักรเพราะถือว่าปลอดภัย โดยระหว่าง 7 วันแรกผู้ที่เดินทางเข้าประเทศจะต้องมีการแจ้งตำแหน่งและพิกัด การเดินทางในแอพพลิเคชั่นติดตามตัว
4. ขยายเวลาประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีก 2 เดือน
นอกจากนี้จะมีการพิจารณาการต่อขยายระยะเวลาประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มกราคม 2565 นี้ ออกไปอีก 2 เดือน สิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2565 ด้วยเหตุผลที่ต้องบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานต่างๆทั้งการสกัดกั้นการเข้าประเทศหรือออกมาตรการต่างๆในการควบคุมโรค
ด้านร้านอาหารผับ บาร์ คาดการณ์ว่าที่ประชุมอาจมีการเลื่อนการเปิดดำเนินกิจกรรมออกไปก่อน หลังจากช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาเกิดการแพร่ระบาดจนเป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ใน 14 แห่ง ส่วนผู้ที่มีการปรับกิจการให้อยู่ในรูปแบบร้านอาหารกึ่งผับ จะต้องมีการตรึงมาตรการเข้ม โดยมอบหมายให้กทม.แล้วพื้นที่จังหวัดเข้าตรวจอย่างเข้มงวด