16 เมษายน 2568 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่ม ในช่วงวันที่ 15 -17 เมษายน 2568
โดยให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่เสี่ยงและบริเวณที่มีฝนตกสะสม เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้สามารถเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยขึ้น รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์และวิธีการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัยให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศพบว่าบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากสาธารณรัฐประชาชนจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ทำให้ภาคเหนือและภาคกลางยังคงมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น และได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ซึ่งมีพื้นที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่ม ระหว่างวันที่ 15 -17 เมษายน 2568 ดังนี้
➡️ ภาคเหนือ จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่
- จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน และอำเภอแม่สะเรียง)
- เชียงใหม่ (อำเภอเมืองเชียงใหม่ จอมทอง เชียงดาว ดอยสะเก็ด ดอยหล่อ พร้าว แม่แจ่ม แม่แตง แม่ริม แม่วาง แม่ออน สันกำแพง
สันทราย และอำเภออมก๋อย)
- เชียงราย (อำเภอเวียงป่าเป้า)
- ลำพูน (อำเภอเมืองลำพูน บ้านธิ ป่าซาง และอำเภอแม่ทา)
- ลำปาง (อำเภอเมืองลำปาง งาว แจ้ห่ม เมืองปาน วังเหนือ สบปราบ เสริมงาม และอำเภอห้างฉัตร)
- พะเยา (อำเภอปง)
- แพร่ (อำเภอสอง)
- ตาก (อำเภอท่าสองยาง และอำเภออุ้มผาง)
➡️ ภาคกลาง จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่
- จังหวัดกาญจนบุรี (อำเภอเมืองกาญจนบุรี ไทรโยค ทองผาภูมิ บ่อพลอย ศรีสวัสดิ์ สังขละบุรี และอำเภอหนองปรือ)
- สระบุรี (อำเภอแก่งคอย) ตราด (อําเภอเขาสมิง และอำเภอบ่อไร่)
- เพชรบุรี (อำเภอแก่งกระจาน)
➡️ ภาคใต้ จำนวน 11 จังหวัด ได้แก่
- จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอชัยบุรี พนม บ้านตาขุน พระแสง และอำเภอเวียงสระ)
- นครศรีธรรมราช (อำเภอฉวาง ชะอวด ช้างกลาง ถ้ำพรรณรา ทุ่งสง ทุ่งใหญ่ และอำเภอนาบอน)
- พัทลุง (อำเภอเมืองพัทลุง ควนขนุน ป่าพะยอม และอำเภอป่าบอน)
- สงขลา (อำเภอนาทวี คลองหอยโข่ง ควนเนียง รัตภูมิ สะเดา และอำเภอสะบ้าย้อย)
- ยะลา (อำเภอเมืองยะลา กรงปินัง เบตง ธารโต บันนังสตา กาบัง ยะหา และอำเภอรามัน)
- นราธิวาส (อำเภอจะแนะ และอำเภอระแงะ) ระนอง (อำเภอกระบุรี)
- พังงา (อำเภอเมืองพังงา กะปง คุระบุรี ทับปุด และอำเภอท้ายเหมือง)
- กระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่ เขาพนม คลองท่อม ปลายพระยา เหนือคลอง และอำเภออ่าวลึก)
- ตรัง (อำเภอกันตัง วังวิเศษ สีเกา และอำเภอหัวยอด)
- และจังหวังหวัดสตูล (อำเภอเมืองสตล ควนกาหลง ควนโดน ท่าแพ ทุ่งหว้า มะนัง และอำเภอละงู)
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้งจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณฝนที่ตกหนักซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัย โดยกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนักและพื้นที่ที่มีฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานาน สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีความเสี่ยงเกิดสถานการณ์ภัย ให้ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ไม่ให้บุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด และจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมง ในกรณีที่มีคลื่นลมแรง ให้แจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเลและนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำโดยเด็ดขาด พร้อมให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อาทิ กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจน้ำ แจ้งเตือนการเดินเรือ ให้ชาวเรือ ผู้บังคับเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือโดยสาร เดินเรือด้วยความระมัดระวัง หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ให้พิจารณาห้ามเดินเรือออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด นอกจากนี้ ให้เตรียมความพร้อมของเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถปฏิบัติการ และเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) ให้พร้อมเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดสถานการณ์ขึ้น และให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้าเพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์โดยปฏิบัติตามคำแนะนำจากทางราชการอย่างเคร่งครัด
ท้ายนี้ ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามสภาพอากาศ ข้อมูลสถานการณ์ และข่าวสารจากทางราชการอย่างต่อเนื่อง และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นโดยปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด โดยสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT”
ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android และทางสื่อสังคมออนไลน์บัญชีทางการของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย Facebook กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM และ X @DDPMNews ทั้งนี้ หากได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย ประชาชนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป