svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เรื่องไม่ลับของ "คลองค้อ" เสือโคร่งเพศผู้ แห่งห้วยขาแข้ง

เรื่องเล่าไม่ลับฉบับนักวิจัย กับความเป็นมาของ "คลองค้อ" เสือโคร่งสุดหล่อของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เจ้าคลองค้อ ลูกเสือโคร่งตัวหนึ่ง ที่ไม่ได้เป็นแค่ลูกเสือโคร่งที่นักวิจัยช่วยให้รอดตาย แต่ยังเป็นลูกเสือโคร่งที่นักวิจัยรู้จักตั้งแต่แม่ไปจนถึงยาย

เรื่องเล่าไม่ลับฉบับนักวิจัย กับความเป็นมาของ "คลองค้อ" เสือโคร่งสุดหล่อของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เจ้าคลองค้อ ลูกเสือโคร่งตัวหนึ่ง ที่ไม่ได้เป็นแค่ลูกเสือโคร่งที่นักวิจัยช่วยให้รอดตาย แต่ยังเป็นลูกเสือโคร่งที่นักวิจัยรู้จักตั้งแต่แม่ไปจนถึงยาย 

 

"คลองค้อ" เป็นเสือโคร่งเพศผู้ เกิดในป่าห้วยขาแข้ง มาถึงวันนี้มีอายุได้ 6 ปีแล้ว ใครต่อใครที่รู้จักและแวะมาเยี่ยมเยียนที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ไม่เว้นแม้แต่ลุงซัน มาโนช พุตตาล ก็ยังเอ็นดู แต่ก็ต้องสะดุ้งกับวิธีทักทายของ "เจ้าค้อ" ที่โถมเข้าหาทั้งตัว อากัปกริยาแบบเด็กขี้เล่นและคุ้นคน 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง >> ติดตามเสือโคร่ง หลังพบสัญญาณดาวเทียมเดินออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์

ภาพจาก : ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

เมื่อเทียบกับตอนที่มาใหม่ๆ มันโถมตัวยกสองขาเข้าหา ขนาดตัวของมันก็อยู่แค่เข่าไม่ถึงเอว แต่ตอนนี้สูงเลยหัว ลำพังอุ้งเท้าของเจ้าค้อก็แทบจะใหญ่กว่าหัวผู้ใหญ่แบบเราๆ ไปแล้ว แม้จะมีตาข่ายเหล็กหนากั้น แต่ตัวคนมาเยี่ยมก็ยังต้องเผ่นออกห่างเพราะความตกใจ 

 

"ค้อ" เป็นผลพวงแห่งความไม่เที่ยงแห่งธรรมชาติ ดร.อัจฉรา ซิ้มเจริญ หรือ "ด็อกเตอร์ต้อม" แห่งทีมเสือ แม่ทูนหัวของเจ้าค้อ บอกอย่างนี้ นับจากวันที่อุ้มลูกเสือโคร่งอายุได้เดือนเดียว ผอมโกรก ผิวหนังน่วมเหี่ยวเพราะอาการขาดน้ำ ตามตัวมีแผลถูกหนอนไช สภาพเจียนไปเจียนอยู่ พร้อมกับน้องสาวของมันอีกตัวที่เดินตุปัดตุเป๋อยู่ไม่ไกลจากโพรงเกิดริมคลองค้อ ซึ่งเป็นลำห้วยกลางป่าไม่ไกลจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง >> อช.บางลาง เผยภาพเสือโคร่ง จากกล้องดักถ่าย สะท้อนความสมบูรณ์ผืนป่า

ภาพจาก : ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

สถานพักฟื้นใกล้ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แน่นอน ก็คือ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในความดูแลของ “หัวหน้าต่าย” ที่ด่านทุ่งแฝก "เจ้าค้อ" พร้อมกับน้องสาวจึงถูกนำตัวมาเป็นการด่วน แต่สภาพที่ย่ำแย่ เสือน้อยตัวเมียจากไปเพราะอาการขาดน้ำ ติดเชื้อ เหลือเพียงเจ้าค้อดวงแข็งจึงได้ชื่อตามสถานที่ที่พบมันเป็นครั้งแรก 

 

แม่ของคลองค้อคือรุ้งนภา เสือโคร่งสาวที่มีอาณาเขตอยู่ในละแวกหุบเขานางรำ และเป็นเสือที่ถูกจับใส่ปลอกคอติดวิทยุส่งสัญญาณ ทีมวิจัยเสือจึงพอจะรับรู้พฤติกรรมและก็รู้ว่า "น้องรุ้ง" มีลูก เพราะในตอนนั้น ช่วงเดือนมิถุนายน 2559 พิกัดบ่งชี้ว่า เธอเดินกลับมาในตำแหน่งนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่เวลาผ่านมาเพียงเดือนเศษ รุ้งนภาก็หายไป ไม่ยอมกลับมาในตำแหน่งใกล้ห้วยคลองค้ออีก 

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Thailand Tiger Project DNP
มีความผิดปกติเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่ก็สุดจะคาดเดาได้ว่าคืออะไร ทางเดียวที่จะไขให้กระจ่าง ก็คือเข้าไปดูซึ่งปกติจะเป็นวิธีสุดท้ายที่จะเลือก เพราะเป็นการรบกวนเสือและค่อนข้างอันตราย วิธีการเข้าไปจึงต้องทำอย่างระมัดระวังที่สุด และต้องเตรียมใจและทำใจเอาไว้อย่างที่สุดด้วยเช่นกันเมื่อเข้าไปใกล้ตำแหน่งรังก็พบกับลูกเสือโคร่งที่อ่อนเปลี้ยสองตัว "บอกไม่ได้ว่า ทำไมรุ้งนภาถึงทิ้งลูกไป"

แต่สถานการณ์ในช่วงนั้น มีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นกับ “บ้าน” ของเสือโคร่งครอบครัวนี้ อาจจะมีเสือโคร่งอื่นรุกล้ำเข้ามาในเขตบ้านของรุ้ง เมื่อเสือโคร่งตัวที่แข็งแรงกว่าเข้ามา เจ้าของเดิมที่อ่อนแอกว่าต้องหลบหนีจากไป หลังผ่านการประลองกันด้วยการ สเปรย์และตะกรุยพื้น  แต่ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ประกอบกับรุ้งนภาเป็นแม่เสือโคร่งสาว ประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกยังไม่มี  

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง >> รู้จัก "วันเสือโคร่งโลก" หรือ "วันอนุรักษ์เสือโลก" (Global Tiger Day)

"คลองค้อ" ภาพจาก : Thailand Tiger Project DNP

สำหรับพ่อของเจ้าค้อ  ดร.อัจฉราใช้เวลาทบทวนความทรงจำ “อาจจะเป็นอุทิศก็ได้” เพราะเสือโคร่งอุทิศ คือ ผู้ครอบครองอาณาเขตบ้านที่กว้างขวางมากในละแวกหุบเขานางรำ ตามธรรมชาติในอาณาเขตของเสือโคร่งตัวผู้ที่กว้างใหญ่จะมี "เขตบ้าน" ของตัวเมียมากกว่า 1 ตัว ซ้อนอยู่ภายในและรุ้งนภา ก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ก็เป็นเรื่องที่บอกได้ยาก แม้จะมีการครอบครองเขตบ้านอย่างชัดเจน แต่อาณาเขตของเสือโคร่ง ก็สิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตามเหตุปัจจัย ถ้าผู้ครอบครองไม่แข็งแกร่งเหมือนที่เคยเป็น “ในช่วงนั้นอุทิศกำลังอยู่ในช่วงขาลง และเริ่มมีเสือตัวผู้ใหม่เข้ามาก็คือชัชวาลย์”


ตอนที่คลองค้อเกิด จึงเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงผ่องถ่ายการครอบครองพื้นที่กัน พ่อคลองค้อจึงอาจเป็นอุทิศ หรือชัชวาลย์ แต่ ดร.อัจฉราเดาว่าน่าจะเป็นเสือโคร่งอุทิศมากกว่า


การเข้ามาของเสือโคร่งตัวผู้ตัวใหม่ อาจเกี่ยวข้องกับการที่รุ้งนภาทิ้งลูกไปก็ได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงผู้ครอบครอบอาณาเขตเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตของเสือโคร่ง โดยเฉพาะเสือตัวผู้ ซึ่งส่งผลไปถึงตัวเมีย และลูกเสือที่เกิดขึ้นมาด้วย 
ในชีวิตของเสือโคร่งนั้น มีช่วงเวลาเพียงสั้นๆ ไม่กี่ปีที่แข็งแกร่งพร้อมสำหรับการผสมพันธุ์ แต่ถ้าไม่อาจหาพื้นที่ครอบครองได้ มันก็จะเป็นเสือโคร่งพเนจร หลบซ่อนตัวตามริมผา หรือต้องร่อนเร่เดินทางไปจนกว่าจะหาเขตบ้านของตนเองได้ ส่วนเสือโคร่งที่เป็นเจ้าของบ้านก็มีหน้าที่ลาดตระเวณภายในเขตบ้านเพื่อมิให้มีการรุกล้ำ และย้ำอาณาเขตด้วยการ "สเปรย์" ไว้ตามโคนไม้


ในพื้นที่ที่เหยื่อชุกชุม เขตบ้านของเสือโคร่งอาจจะเล็กลง หากในบางพื้นที่ที่ประชากรเหยื่อเบาบาง อาณาเขตอาจจะกว้างขวางถึง 200 ตร.กม. ก็ได้ ตลอดชีวิตของเสือโคร่ง จึงเป็นเรื่องของการเดินทางตลอดเวลา เจ้าคลองค้อเกิดในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง ในทางหนึ่งมันจึงรับผลพวงจากความไม่เที่ยงในอาณาจักรแห่งธรรมชาติดังที่ว่า ซึ่งหากไม่มีการแทรกแซง มันก็จะตายอยู่ในที่ที่มันเกิดนั่นเอง

เรื่องไม่ลับของ \"คลองค้อ\" เสือโคร่งเพศผู้ แห่งห้วยขาแข้ง
แต่ถึงจะได้รับการช่วยเหลือแล้วก็ตาม ก็ต้องถือว่าเจ้าคลองค้อ "ตายไปแล้วจากป่าที่เป็นบ้านของแม่" เพราะนับจากนี้ มันจะไม่มีโอกาสกลับไปสู่การทำหน้าที่ในระบบนิเวศอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากการเติบโตขึ้นมาในกรงเลี้ยง ไม่ได้มีการฝึกให้พร้อมสำหรับการเป็นนักล่า หรือแม้จะได้รับการฝึก ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะอยู่รอดในป่าแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างห้วยขาแข้ง

 
อย่างไรก็ตาม การมีอยู่ของคลองค้อในสถานีเพาะเลี้ยง ได้สร้างความอุ่นใจเล็กๆ ประการหนึ่งที่ว่า เรามีเสือโคร่งอินโดจีนสายพันธุ์แท้ตัวหนึ่ง ที่เรารู้จักมันดีย้อนกลับไปอย่างน้อย 3 รุ่น หากในอนาคตจะมีแนวคิดหรือสถานการณ์ไม่คาดฝันใดๆ ที่ทำให้จำเป็นต้องหาพ่อพันธุ์เสือโคร่งอินโดจีนสายพันธุ์แท้ๆ เพื่องานอนุรักษ์ คลองค้อก็ยังอยู่ที่นี่


ส่วนบรรดาเสือโคร่งของกลางทั้งหมดที่อยู่ในความดูแลนั้นล้วนเกิดในกรงเลี้ยง เป็นเสือลูก ผสมจากพ่อแม่ที่ถูกซื้อ มาจากถิ่นอื่นนอกประเทศด้วยเหตุผลทางธุรกิจ เจ้าคลองค้อนั้น เป็นเสือโคร่งที่นักวิจัยเสือ รู้จักสาแหรกของมันย้อนกลับไปถึงรุ่นยาย ด้วยเป็นลูกของรุ้งนภา ซึ่งถูกจับติดวิทยุส่งสัญญาณระบุตำแหน่งเพื่อตามศึกษาในช่วงก่อนหน้าปี 2559 ไม่นานเท่าไหร่
รุ้งนภาเป็นลูกสาวในครอกแรกของสิทธิตรี ( สิด - ตรี ตั้งชื่อตามปลัด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก คือ คุณศักดิ์สิทธิ ตรีเดช)  สิทธิตรีนั้นเป็นแม่เสือโคร่งตำนานของเขตฯห้วยขาแข้งตัวหนึ่ง เพราะเป็นคุณแม่ยอดเยี่ยมที่ให้ลูกถึง 4 ครอก นับแต่ทีมนักวิจัยพบตัวตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 และเลี้ยงลูกจนโตได้หมดทุกครอก ซึ่งเป็นภารกิจที่ยากยิ่งสำหรับแม่เสือโคร่งในธรรมชาติ และลูกๆ 4 ตัว ในครอกแรกนั้น นักวิจัยเสือรู้จักทุกตัว โดยเฉพาะแม่รุ้งนภา จวบจนมีโอกาสได้ช่วยชีวิตเจ้าค้อลูกของแม่รุ้ง 


สำหรับเสือโคร่งที่เป็นตำนานแห่งห้วยขาแข้งอีกตัวหนึ่ง คือ "บุปผา" ซึ่งน่าจะเป็นเสือโคร่งในธรรมชาติไม่กี่ตัวในโลกที่นักวิจัยติดตามศึกษาชีวิตได้ตั้งแต่เกิดจนตาย บุปผา เป็นคุณยายเสือโคร่ง ร่วมรุ่นกับสิทธิตรี แต่อายุมากกว่าซึ่งนักวิจัยทราบว่า บุปผาเป็นลูกของ “แม่รตยา” ซึ่งรตยาเป็นลูกของ ที6 เสือโคร่ง ตัวแรกๆ เมื่อเริ่มโครงการศึกษาวิจัยราวๆ พ.ศ. 2540 


ด้วยเหตุนี้ จากการทำงานหนักของทีมวิจัยสัตว์ผู้ล่าแห่งเขานางรำ เราจึงไม่เพียงได้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ค่อนข้างแม่นยำเกี่ยวกับนิเวศวิทยาของเสือโคร่งในเขตห้วยขาแข้ง และผืนป่าตะวันตก หากในอีกด้านหนึ่ง ในมิติของความเป็นมนุษย์ เรายังได้ “รู้จัก” และ “เข้าใจ” ครอบครัวเพื่อนร่วมโลกครอบครัวใหญ่ จากเหลนไปจนถึงยายทวด ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 6 เจนเนอเรชั่นเลยทีเดียว นับเป็นการทำงานที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง เพราะรู้จักไปจนถึง “ยาย”

 

ดร.อัจฉรา ยอมรับว่ารักและผูกพันกับเจ้าค้อ แต่ภาระงานในป่าทำให้ ไม่ได้มีเวลามาหากันบ่อยๆ เจ้าคลองค้อจึงคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลของสถานีเพาะเลี้ยงไป แต่ในฐานะคุณแม่ เธอก็ยังจดจำเจ้าลูกเสือขี้เล่น ติดคน และออกจะอ้วนไปสักหน่อยแล้วตัวนี้ ขณะเดียวกันก็ยอมรับได้กับชีวิตของลูกเสือโคร่งห้วยขาแข้งตัวหนึ่งที่จะต้องอยู่ที่นี่ไปตลอดชีวิตที่เหลือ "ก็โลกธรรมชาติข้างนอกนั่นยากลำบากแสนสาหัสเกินกว่าผู้ที่ไม่ได้ถูกเคี่ยวกรำ จะอยู่รอดได้" เพราะเสือโคร่งถูกมอบหมายภาระอันหนักหนาในฐานะผู้ปกปกป้องระดับบนสุด


ที่มา : ห้วยขาแข้งสืบสาน
ที่มา : ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช