svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

“กมธ.ดีอีเอส” ถกโครงการ “Net2Home” “กัลยา” ชี้ เกิดประโยชน์

“กมธ.ดีอีเอส” ถกโครงการ “Net2Home” “กัลยา” ชี้ เกิดประโยชน์ “สร้างอาชีพ-สร้างรายได้-ลดค่าใช้จ่าย” ให้ประชาชน “เศรษฐพงค์” แนะ “ก.ดิจิทัลฯ” ต่อยอดการลงทุนเน็ตประชารัฐ เน็ตชายขอบ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้จริง

18 พฤศจิกายน 2564 น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ประชุมกรรมาธิการฯ ได้มีการพิจารณาเรื่องวิสาหกิจเพื่อสังคมเน็ตถึงบ้าน (Net2Home) ที่อยู่ภายใต้มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย โดยตัวแทนจากมูลนิธิฯ ชี้แจงว่า การสร้างระบบบรอดแบนด์ชุมชน เป็นการเน้นให้ประชาชนทำเอง ติดตั้งเอง  บริหารงานโครงข่ายด้วยตัวชุมชนเอง โดยทางมูลนิธิสนับสนุนเพียงค่าอุปกรณ์ตั้งต้น และการถ่ายทอดความรู้ ทำให้แนวทางเกิดความยั่งยืน ที่ผ่านเราดำเนินการที่ตำบลแม่กาษา จังหวัดตาก ตั้งแต่พ.ศ.2556 โดยเดิมเริ่มต้นให้บริการได้ไม่กี่หลังคาเรือน แต่ปัจจุบันขยายได้ครอบคลุมเกือบ 400 หลังคาเรือน และมีการขยายโครงการออกไปในที่ต่างๆ อีกเช่น แม่กุ จังหวัดตาก เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ บางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี และล่าสุดที่ชุมชนร่มเกล้า เขตคลองเตย โดยการนำเทคโนโลยีที่พัฒนาโดย InterLab ที่เน้นเรื่องต้นทุนราคาถูก ติดตั้ง ดูแลรักษาง่าย มีคุณภาพเพียงพอที่จะใช้ในการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันมีการเรียนออนไลน์มากขึ้น ทำให้ความต้องการการใช้งานอินเตอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปกติประชาชนในชุมชนส่วนใหญ่จะใช้บริการอินเตอร์เน็ตมือถือให้บุตรหลานใช้เรียนออนไลน์ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ด้วยโครงการนี้ ก็ทำให้ช่วยแบ่งเบาภาระเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันนี้ได้มีการร้องขอการขยายไปที่ชุมชนแห่งอื่นบริเวณเดียวกันเพิ่มเติม น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ประธาน กมธ.ดีอีเอส

ประธานกรรมาธิการ ฯ กล่าวต่อว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี เห็นผลได้จริงในทางปฏิบัติ ด้วยเหตุผลสำคัญคือ 1.สามารถสร้างงานสร้างอาชีพเพิ่มในชุมชน ทั้งในส่วนของช่างผู้ติดตั้ง ผู้ประสานงานภายในชุมชน 2.ประชาชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของโครงข่าย เพราะคนในชุมชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการสร้างโครงข่ายและบริหารงานโครงข่ายเอง รวมทั้งมีความยืดหยุ่นและคล่องตัว ไม่ต้องรอการบริการจากผู้ให้บริการเท่านั้นตามโครงการเน็ตชายขอบ หรือเน็ตประชารัฐ 3.ด้วยต้นทุนที่ถูกลงทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ในคุณภาพที่ยอมรับได้ ทำให้เกิดการลดช่องว่างทางดิจิทัล ของผู้มีรายได้ที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก

ด้าน พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธาน กมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า โครงการนี้หากรัฐบาลหรือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) มีการสนับสนุนหรือมีนโยบายอย่างชัดเจนในการนำโครงการของเน็ตถึงบ้านนี้มาต่อยอดจากโครงการเน็ตประชารัฐหรืออินตอร์เน็ตชายขอบ ทำให้สอดคล้องกับบริบทการใช้อินเตอร์เน็ตจริง ที่อำนวยความสะดวกการให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่ปัจจุบันนี้การใช้งานผ่านโครงการของรัฐจะมีข้อจำดัดและความยุ่งยากที่จะต้องเดินทางไปใช้งานที่ศูนย์อินเตอร์เน็ตชุมชน หรือบริเวณจุดที่มีการวางสายสัญญาณเท่านั้น โดยเรื่องนี้มุมมองของกรรมาธิการเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะมีความร่วมมือกันทั้งผู้ประกอบการ และมูลนิธิฯ ในการผลักดันในมีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้น มากกว่าจะมองเป็นการแข่งขันแย่งลูกค้าระหว่างกัน โดยทั้งนี้จะได้นำประเด็นเรื่องนี้ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปในการสนับสนุนให้มีการเกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติในเร็ววัน พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กมธ.ดีอีเอส