10 ตุลาคม 2564 พาณิชย์เผยผลการวิเคราะห์ธุรกิจดาวเด่นประจำเดือนสิงหาคม 2564 จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ธุรกิจขายปลีก-ขายส่งเฟอร์นิเจอร์ มีตัวเลขการเติบโตที่น่าสนใจมาอย่างต่อเนื่อง แม้ตัวเลขจดทะเบียนตั้งใหม่จะไม่สูงแบบก้าวกระโดด แต่เป็นสัญญาณที่ดีของนักธุรกิจเฟอร์นิเจอร์หน้าใหม่ที่กำลังมองหาจังหวะการลงทุน โอกาสนี้คือ ช่วงเวลาที่ดี ตลาดทั้งในและต่างประเทศยังกว้างอยู่ ในขณะที่มีจำนวนคู่แข่งต่ำทำให้สร้างตลาดของตนเองได้ง่ายขึ้น ประกอบกับมีปัจจัยความต้องการของผู้บริโภคที่มีความต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านสูง เพื่อนำมาใช้อำนวยความสะดวกในการทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home อีกทั้ง มีช่องทางการขายที่กว้างขึ้นบนโลกออนไลน์ทำให้สินค้าเฟอร์นิเจอร์กลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยม
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แม้ว่าขณะนี้แนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นสัญญาณทรงตัวทำให้รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคด้านต่างๆ ลง ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจและประชาชนให้มีความผ่อนคลายและพร้อมเริ่มต้นปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ทั้งนี้ จากการแพร่ระบาดของโรคฯ อย่างรุนแรงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาทำให้ประชาชนต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ประกอบกับภาคธุรกิจได้ใช้มาตรการให้พนักงานทำงานอยู่ที่บ้าน (Work From Home : WFH) เพื่อลดการติดต่อพบปะกันและลดการติดเชื้อในวงกว้าง
รมช.พณ. กล่าวต่อว่า “จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการทำงานดังกล่าว ในแง่มุมของเศรษฐกิจกลับมีข้อมูลที่น่าสนใจ จากวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจประจำเดือนสิงหาคม 2564 ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า ธุรกิจที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรคฯ อย่าง ‘ธุรกิจขายปลีก-ขายส่งเฟอร์นิเจอร์’ กลับเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงของการใช้มาตรการ WFH ปัจจุบันมีธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวน 4,163 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียนสูงถึง 24,434.72 ล้านบาท และช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 มีการจัดตั้งธุรกิจจำนวน 210 ราย เพิ่มมากขึ้นกว่าปี 2563 ของช่วงเวลาเดียวกัน อีกทั้งในเดือนส.ค. 64 มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจทั้งสิ้น 29 ราย เพิ่มขึ้น 4 รายจากเดือนก.ค. 64 คิดเป็น 16% แม้ว่าตัวเลขการเพิ่มขึ้นอาจจะดูไม่พุ่งสูงแบบก้าวกระโดด แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่ามีทิศทางการเติบโตที่ต่อเนื่อง และยังมีช่องว่างให้ผู้ประกอบการธุรกิจเฟอร์นิเจอร์หน้าใหม่เข้ามาลงแข่งขันกันได้ในจำนวนคู่แข่งที่ยังไม่เยอะมากนัก”
“นิติบุคคลที่จดทะเบียนในธุรกิจขายปลีก-ขายส่งเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่จัดตั้งในรูปแบบบริษัทจํากัด มีจํานวน 3,246 ราย คิดเป็น 77.97% แบ่งมูลค่าทุนเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1 ล้านบาท จํานวน 2,522 ราย ทุนจดทะเบียน 1.01-5.00 ล้านบาท จํานวน 1,323 ราย ทุนจดทะเบียน 5.01-100 ล้านบาท จํานวน 293 ราย และมากกว่า 100 ล้านบาท จํานวน 25 ราย จากจำนวนนี้คิดเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) มากที่สุด จํานวน 3,943 ราย คิดเป็น 94.72% ธุรกิจขนาดกลาง (M) จํานวน 183 รายคิดเป็น 4.40% และธุรกิจขนาดใหญ่ (L) จํานวน 37 ราย คิดเป็น 0.89%”
“สำหรับปัจจัยที่มาช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เป็นน่าจับตามองคือ มุมของ ‘ภาคการส่งออก’ ที่ปริมาณการสั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์จากประเทศไทยยังคงมีความต้องการจากผู้บริโภคชาวต่างชาติ (ข้อมูลจาก สำนักงานปลัด กระทรวงพาณิชย์) และสร้างมูลค่าการส่งออกเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561-2564 โดยในปี 2561 มีมูลค่าการส่งออก 37,886.08 ล้านบาท ปี 2562 มีมูลค่าการส่งออก 39,430.39 ล้านบาท ปี 2563 มีมูลค่าการส่งออก 44,504.06 ล้านบาท และปี 2564 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่าการส่งออก 29,448.51 ล้านบาท อย่างไรก็ดียังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นการเติบโตของธุรกิจนี้คือ ‘การพัฒนาของธุรกิจ e-Commerce’ โดยสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านบนโลกการค้าออนไลน์เป็นหมวดหมู่ที่มาแรงและมีมูลค่าเป็นอันดับที่ 4 รองจาก ธุรกิจห้างสรรพสินค้า เครื่องสำอางและอาหารเสริม และแฟชั่นเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมของการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ลดการเดินทางออกจากบ้าน และยังสามารถเลือกสินค้าได้หลากหลาย สามารถเปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นจากร้านค้าต่างๆ ได้ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อโดยไม่ต้องเดินทางไปด้วยตนเอง ทั้งหมดนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกเพราะไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่ต้องใช้มาตรการ WFH แต่ยังเป็นมาตรการที่ธุรกิจทั่วโลกนำไปใช้เพื่อให้พนักงานขององค์กรทำงานอยู่ที่บ้าน และอาจจะกลายเป็นแนวโน้มการทำงานรูปแบบใหม่อย่างถาวรก็เป็นได้”