27 กันยายน 2564 โครงการชลประทานนครราชสีมา รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร พบว่า อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่างระดับน้ำเริ่มลดลง โดยในช่วงเช้าระดับน้ำในอ่างฯ ลดลง 30 เซนติเมตร และเหลือถึงระดับสันทำนบดินอ่างฯ 60 เซนติเมตร นั่นหมายถึงปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างฯ ประมาณ 400-500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งน้อยกว่าปริมาณน้ำที่ไหลออกจากทุกช่องทาง
จากสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้ยังไม่ต้องตัดคันทำนบดินอ่างฯ จุดอื่นเพื่อเพิ่มการระบายน้ำอีก เมื่อระดับน้ำในอ่างฯ ทรงตัวและลดลง ทำให้ไม่เกิดน้ำล้นข้ามทำนบดินสันของอ่างฯ ในลักษณะพังทลาย ณ เวลานี้สามารถบริหารน้ำออกจากอ่างฯ ให้มากกว่าหรือเท่ากับน้ำเข้าอ่างฯ รักษาความปลอดภัยเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ พ้นวิกฤต และบรรเทาความเสียหายด้านท้ายน้ำ แต่ยังเฝ้าระวังปริมาณน้ำที่ยังคงไหลลงมาจากตอนบน ห้วยสามบาท ที่ไหลลงมาอย่างต่อเนื่องต่อไป
ทางด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์ที่ลำเชียงไกร จังหวัดนครราชสีมา วานนี้ (26 ก.ย. 64) ว่า อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรไม่ได้แตก จุดที่เกิดปัญหาคือจุดที่มีไซด์งานก่อสร้าง อาคาร และทางระบายน้ำ โดยผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างไปได้แล้วร้อยละ 70
แต่ขณะก่อสร้างมีฝนตกหนัก และน้ำจากตัวอ่างลำเชียงไกรมีปริมาณน้ำเกินความจุอ่าง ทำให้น้ำล้นสปินเวย์มาสมทบกับตรงจุดก่อสร้าง ประกอบกับช่วงก่อสร้างใช้ทำนบดินกั้นขวางทางน้ำ เมื่อน้ำมากจึงกัดเซาะทำนบดินไซด์ก่อสร้างชำรุด น้ำจึงไหลลงตรงที่ก่อสร้างทางระบายน้ำ ซึ่งทำให้ดูเหมือนตัวอ่างชำรุด จริงๆ แล้วไม่ใช่
ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวยืนยันอีกว่า ตัวอ่างและสันอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรมั่นคงแข็งแรง แต่ด้วยปริมาณน้ำที่มากเกินความจุอ่างจึงทำให้น้ำล้น ขณะนี้ทางจังหวัดนครราชสีมาได้ออกประกาศเตือนประชาชนในพื้นที่ ที่อยู่ท้ายอ่างให้ระมัดระวังน้ำที่ล้นอ่างและอาจท่วมได้