24 กันยายน 2564 ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ และ โฆษกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงแนวทาง และหลักเกณฑ์การเปิดสถานที่ทำการของสถาบันอุดมศึกษา โดยเตรียมเปิดมหาวิทยาลัยทั่วประเทศในเดือน พ.ย.2564
ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 เริ่มคลี่คลายดีขึ้น รัฐบาลได้กำหนดวิธีปฏิบัติเพื่อที่จะสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้ โดยมีมาตรการดูแลที่เหมาะสม รวมถึงการใช้อาคารสถานที่ของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรมหรือการจัดกิจกรรมต่างๆ
โดยให้มีการประเมินร่วมกันกับทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยดำเนินการเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 เดือน พ.ย.64 อนุญาตเฉพาะคณาจารย์ บุคลากร นักวิจัย และนิสิตนักศึกษาที่เข้ามาปฏิบัติงานจัดการเรียนการสอน หรือทำกิจกรรมในพื้นที่สถาบันอุดมศึกษา
ส่วนระยะที่ 2 เดือน ธ.ค.64 กำหนดจำนวนผู้ที่เข้ามาในพื้นที่สถาบันอุดมศึกษา โดยคำนึงถึงการป้องกันการติดเชื้อและภูมิคุ้มกันของผู้ปฏิบัติ เช่น มีผู้ที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อยร้อยละ 90 ของบุคคลทั้งหมดที่เข้ามาในสถาบันอุดมศึกษา
ระยะที่ 3 เดือน ม.ค. 65 กำหนดจำนวนของผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในพื้นที่สถาบันอุดมศึกษา
โดยระยะที่ 1 กำหนดไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ในสถานการปกติ ระยะที่ 2 ไม่เกินร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ในสถานการปกติ และระยะที่ 3 ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของของภาครัฐหรือพื้นที่ในขณะนั้น
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องดังกล่าว รมว.อว.ได้ประชุมหารือร่วมกับตัวแทนอธิการบดี ทั้ง 4 ทปอ. ผ่านระบบออนไลน์แล้ว พร้อมมอบนโยบายเน้นย้ำให้ใช้มาตรการเฝ้าระวังสูงสุด โดยต้นเดือน พ.ย.64 สถาบันอุดมศึกษาสามารถเปิดได้ และอธิการบดีแต่ละพื้นที่สามารถพิจารณาได้ตามความเหมาะสม
ส่วนการเข้ามาปฏิบัติงาน จัดการเรียนการสอน หรือทำกิจกรรมกลุ่ม ได้มีการจำแนกตามพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ไม่เกินกลุ่มละ 25 คน พื้นที่ควบคุมสูงสุด ไม่เกินกลุ่มละ 50 คน พื้นที่ควบคุม ไม่เกินกลุ่ม 100 คน พื้นที่เฝ้าระวังสูง ไม่เกินกลุ่มละ 200 คน และพื้นที่เฝ้าระวัง ไม่เกินกลุ่มละ 500 คน
ทั้งนี้ สถาบันอุดมศึกษาสามารถกำหนดเกณฑ์เพิ่มเติมหรือลดหย่อนเกณฑ์บางอย่างได้ขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ที่เข้ามาในพื้นที่ของสถาบันอุดมศึกษาเป็นสำคัญ
“การตัดสินใจเปิดสถาบันอุดมศึกษา อยู่ที่การเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมและให้มีการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน การเสริมประสิทธิภาพการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีสร้างสรรค์ การเรียนรู้ทั้งแบบออนไซด์และออนไลน์ ส่วนการจัดการเรียนการสอนจะต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก ปรับรูปแบบกิจกรรมมุ่งสู่วิถีชีวิตแนวใหม่” ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าว
ที่มาเฟซบุ๊ก : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม