22 กันยายน 2564 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้รับทราบรายงานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) เกี่ยวกับสถานการณ์ข่าวปลอมและข่าวบิดเบือนว่าในปี 2564 มีแนวโน้มที่ลดลง ส่วนจำนวนข่าวจริงมีมากขึ้น
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมการทำงานของทั้งดีอีเอสในฐานะหน่วยงานหลักรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนภาคประชาสังคม ประชาชนที่ร่วมกันทำงาน แจ้งเบาะแสข่าวที่ต้องมีการตรวจสอบ หาข้อมูลข้อเท็จจริงชี้แจงข้อมูลให้เกิดความเข้าใจในวงกว้าง โดยเฉพาะในยุคที่มีโซเชียลมีเดียหลากหลายแพลตฟอร์ม มีการสื่อข้อมูลข่าวสารจำนวนมากกันอย่างรวดเร็ว ภาครัฐฝ่ายเดียวคงไม่สามารถดูแลได้ต้องอาศัยประชาชนช่วยกันดูแลด้วย
นายกรัฐมนตรีขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันทำงานอย่างเข้มแข็งต่อไป โดยเฉพาะการสร้างภูมิคุ้มกันให้สังคมจากการหลงเชื่อข่าวปลอม ข่าวบิดเบือน การรู้จักวิธีตอบโต้ข่าวปลอม การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี การใช้โซเชียลมีเดียที่ปลอดภัยและมีความรับผิดชอบต่อสังคม
“ในยุคที่โซเชียลมีเดียแพร่หลายมีแง่มุมที่ดีคือเป็นพื้นฐานของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ สนับสนุนการเกิดความคิดสร้างสรรค์ แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นช่องทางการส่งข้อข่าวสารที่สร้างความเข้าใจผิด ความตื่นตระหนก รวมถึงสร้างความแตกแยกในสังคม ซึ่งต้องอาศัยกลไกความร่วมมือทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน รวมถึงประชาชนในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน แนวโน้มที่ข่าวปลอม ข่าวบิดเบือนที่ลดลงนี้ นายกรัฐมนตรีชื่นชมการทำงานของทุกฝ่ายทั้ง และขอให้ร่วมกันทำงานที่เข้มแข็งเช่นนี้ต่อไป” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
ทั้งนี้ ดีอีเอส ได้รายงานว่าในปีงบประมาณ 2564 สัดส่วนข่าวปลอมลดลง 26.43% เมื่อเทียบกับปี 2563 ข่าวบิดเบือนลดลง 6.69% ขณะที่ข่าวจริงเพิ่มขึ้น 28.66%
นอกจากนี้ ดีอีเอสได้ร่วมกับหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและความมั่นคง (ANSCOP) (ศตปค.ตร.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระทำความผิด โดยปี 2563 มีจำนวนคดีที่เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย 158 ราย ดำเนินคดีแล้ว 59 ราย ส่วนปี 2564 จำนวนคดีที่เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย 135 ราย ดำเนินคดีแล้ว 57 ราย