16 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากรกรณีที่นายวรพล บวรลัทธพล อายุ 55 ปี พลเมืองดี ชาว อ.ปักธงชัย จ.นคราชสีมา ได้ไปกดเงินจากตู้เอทีเอ็ม ของธนาคารกรุงเทพ สาขา อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 9 ก.ย.64 โดยกดออกมาเป็นธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 4 ใบ และใช้จ่ายไปแล้ว 3 ใบ เหลือ 1 ใบ ได้นำไปซื้อกาแฟในร้านกาแฟแห่งหนึ่ง แต่ถูกพนักงานขายของร้านกาแฟปฏิเสธรับเงินดังกล่าว โดยแจ้งว่าเป็นธนบัตรปลอม เนื่องจากมีจุดผิดสังเกตหลายจุด เช่น แถบสีปีกแมลงทับ ลอกออกมาได้คล้ายนำสติ๊กเกอร์มาแปะไว้, เนื้อกระดาษธนบัตรมีความหยาบกว่าธนบัตรทั่วไป และธนบัตรมีขนาดสั้นกว่าธนบัตรทั่วไปประมาณ 2 มิลลิเมตร ทำให้นายวรพลฯ ร้องเรียนต่อสื่อมวลชนเพื่อฝากถามถึงระบบการจัดธนบัตรเข้ามาใส่ไว้ในตู้เอทีเอ็มของธนาคารว่า เหตุใดธนบัตรปลอมจึงสามารถเล็ดลอดเข้าไปอยู่ในระบบของธนาคารได้ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด วันนี้ นายวรพลฯ ได้นำธนบัตรดังกล่าว มาตรวจสอบที่ศูนย์จัดการธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย สาขานครราชสีมา ริมถนนมิตรภาพ ต.หมื่นไวย อ.เมือง จ.นครราชสีมา ภายหลังจากที่ได้ประสานงานไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อขอตรวจสอบธนบัตรดังกล่าวที่นี่ โดยทางเจ้าหน้าที่ของศูนย์จัดการธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย สาขานครราชสีมา ได้นำธนบัตรดังกล่าวไปตรวจสอบผ่านเครื่องพิสูจน์ธนบัตร เป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง จึงได้ข้อสรุปว่าธนบัตรดังกล่าวเป็นของจริง นายอดิศร จันทพิมพะ ผู้จัดการศูนย์จัดการธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย สาขานครราชสีมา จึงได้ออกหนังสือรับรองให้ โดยระบุว่า ธนบัตรชนิดราคา 1,000 บาท ที่นายวรพลฯ นำมาให้พิสูจน์นี้ เป็นธนบัตรแบบ 17 หมวดอักษร 5ต/G หมายเลข 7353216 ซึ่งผลการพิสูจน์ปรากฎว่าเป็นฉบับจริง ทั้งนี้เนื่องจากธนบัตรดังกล่าวถูกสารเคมี จึงทำให้แถบสีบางส่วนหลุดออกจากเนื้อกระดาษ และทำให้ขนาดของธนบัตรหดสั้นลง อีกทั้งเนื้อกระดาษมีความหยาบมากกว่าปกติ
ด้านนายวรพลฯ กล่าวว่า หลังจากที่ตนเองเกิดความสงสัย จึงได้ประสานงานไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อขอตรวจสอบ ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้นำธนบัตรนี้มาตรวจสอบที่ศูนย์จัดการธนบัตรฯ สาขานครราชสีมา จนได้ความกระจ่างชัดว่าเป็นธนบัตรจริง โดยทางเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าสาเหตุที่ธนบัตรดังกล่าวมีความผิดปกติ แถบสีปีกปมลงทับลอกออกมาเหมือนแปะสติ๊กเกอร์ อาจจะเป็นเพราะว่าถูกเครื่องซักผ้าปั่น หรือถูกสารเคมีจากน้ำยาซักผ้ากัด ส่วนเนื้อกระดาษที่หยาบ และสั้นกว่าธนบัตรทั่วไป เพราะถูกสารเคมีจากน้ำยาซักผ้า ทำให้เนื้อธนบัตรหยาบและหดสั้นกว่าธนบัตรทั่วไป นอกจากนี้แถบสีปีกแมลงทับ ที่เลื่อนต่ำกว่าฉบับอื่นก็เพราะเป็นธนบัตรที่ผลิตคนละบล็อก ซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไป ดังนั้นทางธนาคารแห่งประเทศไทย จึงได้ออกหนังสือรับรองว่าเป็นธนบัตรจริงให้ตนเองมา เพื่อที่จะได้นำไปยืนยันกับธนาคารใช้ในการแลกเปลี่ยนธนบัตรฉบับใหม่ได้ และที่ตนต้องออกมาค้นหาความจริงครั้งนี้ ก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะต่อว่าธนาคารแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการทราบความจริงเท่านั้น
โดย – ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ