svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ISIS-K ผงาด ความโกรธเกรี้ยวของสหรัฐฯ ความท้าทายของตาลีบัน

“เราจะไม่ให้อภัย เราจะไม่ลืม เราจะตามล่า และคุณต้องชดใช้” ถ้อยแถลงของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ภายหลังเหตุระเบิดทำเจ้าหน้าที่สหรัฐฯเสียชีวิตไปกว่า 13 ราย

กลายเป็นเหตุสะเทือนขวัญภายในกรุงคาบูลอีกครั้ง ภายหลังเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในสนามบินกรุงคาบูลที่เนืองแน่นไปด้วยผู้อพยพ ทำให้เกิดผู้เสียชีวิตมากถึง 73 ราย โดยเป็นพลเมืองชาวอัฟกัน 60 คน และเจ้าหน้าที่สหรัฐฯที่กำลังทำการอพยพอีก 13 คนพร้อมผู้บาดเจ็บอีกนับร้อย สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายขึ้นมาในพริบตา


ภายหลังการประกาศถอนตัวยุติความช่วยเหลือด้านการทหาร อัฟกานิสถานก็ถูกตาลีบันยึดครองอย่างรวดเร็ว ทำให้แผนอพยพในทีแรกที่กะเกณฑ์ไว้ว่าจะเสร็จสิ้นใน 11 กันยายน 2021 ต้องถูกเลื่อนขึ้นมาเป็นวันที่ 31 สิงหาคม 2021 แทน แม้จะมีเสียงคัดค้านมากมายทั้งจากภายในและภายนอกประเทศก็ตาม


ล่าสุดทุกอย่างอาจเปลี่ยนไปจากการวินาศภัยในครั้งนี้ ก่อเหตุอุกอาจจนทำให้เกิดผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ ถือเป็นเหตุการณ์นองเลือดที่สุดในรอบสิบปีของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯในอัฟกานิสถาน นับจากเดือนสิงหาคม 2011 กับเหตุการณ์นักรบตาลีบันยิงเฮลิคอปเตอร์บรรทุกกองกำลังจนทำให้มีทหารสหรัฐฯเสียชีวิตกว่า 30 นาย


นั่นทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดนออกมาประกาศกร้าวว่าจะล่าตัว ทำให้ผู้ก่อเหตุต้องชดใช้ ซึ่งผู้ออกมาอ้างตัวว่าลงมือคือกลุ่ม ISIS-K โดยอาศัยมือระเบิดฆ่าตัวตายติดตั้งระเบิดเอาไว้ในเสื้อกั๊ก จากนั้นพาตัวเองปะปนไปกับกลุ่มผู้อพยพชาวอัฟกันและกองกำลังสหรัฐฯแล้วจึงทำการจุดชนวน


นั่นย่อมนำไปสู่ทิศทางใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและอัฟกานิสถานที่อาจเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

 

ISIS-K คือใคร? เกี่ยวข้องอะไรกับ ISIS?
ไอซิส-เค หรือชื่อเต็ม กลุ่มอิสลามแห่งจังหวัดโคราซัน(ISKP) เป็นกลุ่มติดอาวุธท้องถิ่น มีขอบเขตปฏิบัติการในพื้นที่อัฟกานิสถานและปากีสถานที่เข้าสวามิภักดิ์ ยอมรับแนวทางอุดมการณ์รับการสนับสนุนจากไอซิสนับตั้งแต่มกราคม 2015 เป็นต้นมา โดยรวบรวมคนมีแนวคิดหัวรุนแรงสุดโต่งเข้าด้วยกันไม่ต่างจากไอซิสหลักที่เห็นว่าตาลีบันอ่อนข้อให้ตะวันตกมากไป


พื้นเพของกองกำลังนี้มีฐานปฏิบัติการอยู่ในจังหวัดนันการ์ฮาของอัฟกานิสถาน ใกล้กับเส้นทางขนส่งยาเสพติดสู่ปากีสถาน เคยรุ่งเรืองขนาดมีกำลังคนอยู่ในสังกัดกว่า 3,000 คน แม้ต้องสูญเสียไปมากจากการปะทะหลายครั้ง แต่คาดว่าทางกลุ่มสามารถรวบรวมคนแนวคิดสุดโต่งจากหลายที่เข้ามาด้วยกัน โดยเฉพาะหลังการแตกพ่ายของไอซิสหลักในอิรักและซีเรีย 
ภายหลังเหตุระเบิดได้ไม่นานไอซิส-เคก็ออกมาแสดงความรับผิดชอบเหตุระเบิดในครั้งนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดทั้งจากเหตุยิงปะทะของกองกำลังชาติพันธมิตรกับมือปืนปริศนาในสนามบินคาบูลช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา รวมถึงคำเตือนจากสถานทูตสหรัฐฯ ออกประกาศให้ชาวอเมริกันเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่สนามบินและออกห่างจากฝูงชนเพียงหนึ่งวันก่อนเกิดเหตุ
 

ความสุดโต่งอันน่าสะพรึงกลัวเข้มข้นไม่แพ้ต้นตำรับ
นับแต่รวมตัวกันในปี 2015 เป็นต้นมาการเคลื่อนไหวของไอซิส-เคดุดันมาตลอด ยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ในเดือนพฤษภาคม 2020 เกิดเหตุโจมตีด้วยการระเบิดฆ่าตัวตายในวอร์ดแม่และเด็กของโรงพยาบาลในกรุงคาบูล ทำให้เกิดผู้เสียชีวิต 24 คน ในจำนวนนี้มีทั้งพยาบาลกับหญิงตั้งครรภ์รวมอยู่ด้วย


นอกจากโรงพยาบาลยังก่อเหตุโจมตีอีกหลายครั้ง ทั้งในโรงเรียนสตรี, มหาวิทยาลัยคาบูล หรือยิงจรวดใส่สนามบินนานาชาติ แม้แต่บุกโจมตีคุกทางตะวันออกของอัฟกานิสถานเพื่อปลดปล่อยสมาชิกที่ถูกขังกว่า 400 คน ข้อมูลจาก Counter Extremism Project องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรตอบโต้กลุ่มหัวรุนแรงออนไลน์รายงานว่า ช่วงสี่เดือนที่ผ่านมากลุ่มไอซิส-เคก่อการร้ายไปแล้วไม่ต่ำกว่า 77 ครั้ง


ที่ผ่านมามีความหวาดกลัวจากหลายฝ่ายภายหลังกรุงคาบูลถูกตีแตก สุญญากาศทางการเมืองจากการปกครองของตาลีบันจะเป็นโอกาสให้กลุ่มกองกำลังทั้งหลายกลับมาเฟื่องฟู มีความหวั่นเกรงในเหตุลอบโจมตีและสุดท้ายมันก็เกิดขึ้นจากเหตุระเบิดสนามบินคาบูลในครั้งนี้

 

ท่าทีของสหรัฐฯภายหลังการโจมตีภายหลังเหตุโจมตีในสนามบิน
นับแต่การก้าวเข้ามาของไบเดนท่าทีของสหรัฐฯชัดเจนว่านำไปสู่การถอนตัวจากพื้นที่ ความตั้งใจในการถอนกำลังทหารและความช่วยเหลือจากอัฟกานิสถานนั้นแน่วแน่ แม้ชาติสมาชิก G7 ร่ำร้องว่าให้ชะลอเวลาการถอนกำลัง เช่นเดียวกับเสียงเรียกร้องในประเทศ ทั้งยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าสามารถอพยพคนอเมริกันออกมาทันหรือไม่ แต่ไบเดนยังยืนยันเดินหน้าต่อ


นั่นทำให้คะแนนนิยมและความน่าเชื่อถือของเขาในฐานะประธานาธิบดีตกต่ำที่สุดตั้งแต่รับตำแหน่ง ภายหลังภาพน่าสลดใจมากมายจากชาวอัฟกันพยายามหลบหนีจากประเทศ มีกระทั่งผู้พยายามเกาะล้อเครื่องบินกลายเป็นเหตุดังข่าว นั่นก็ไม่ทำให้ไบเดนเปลี่ยนใจขยายเวลาอพยพ ยังยืนยันทำตามคำประกาศของตาลีบันให้ออกไปในวันที่ 31 สิงหาคมที่จะถึงนี้

 

แต่ท่าทีของไบเดนต้องเปลี่ยนไปภายหลังเหตุระเบิด พร้อมคำประกาศว่าจะไล่ล่าศัตรูของสหรัฐฯนำตัวพวกเขามาชดใช้ เรื่องมาถึงขั้นนี้ไบเดนไม่สามารถถอนกำลังกลับโดยไม่ทำอะไรได้ จำเป็นต้องตอบโต้ในสักทางเพราะการถอนตัวก็ทำให้ประเทศชาติและตัวเขาเสียหน้ากับบทบาทในเวทีโลกไปมากพอ หากยังไม่ทำอะไรอีกบทบาทมหาอำนาจย่อมถูกกังขา


กระนั้นถ้าคิดจะเคลื่อนไหวก็ดูไม่ใช่เรื่องง่าย จากกองกำลังชาติสมาชิกหลายประเทศที่เคยส่งไปช่วยเหลือ ตั้งแต่ เนเธอร์แลนด์, เบลเยี่ยม, โปรตุเกส, เดนมาร์ก, และนิวซีแลนด์ กำลังจะเสร็จสิ้นการถอนกำลังในไม่ช้า เช่นเดียวกับแคนาดากับอีกหลายชาติสิ้นสุดภารกิจของตัวเองแล้ว ส่วนฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมนียังอยู่ระหว่างดำเนินการอพยพ


ยากจะคาดเดาว่าการเคลื่อนไหวของสหรัฐฯจะมีทิศทางเช่นไร แต่คงไม่ว่าง่ายขนาดปล่อยผ่านเรื่องนี้ไปแน่นอน

 

เสถียรภาพของอัฟกานิสถาน สู่การตั้งคำถามในศักยภาพของตาลีบัน
ย่อมต้องถูกตั้งคำถามภายหลังเหตุระเบิด ทั้งที่ตาลีบันเป็นผู้ยืนยันว่าจะรับประกันความปลอดภัยชาวต่างชาติที่ทำการอพยพจนถึงกำหนด รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแม้ทางสหรัฐฯไม่ได้กล่าวโทษ แต่ย่อมสร้างความกังขาให้นานาชาติไม่แพ้กัน ถึงศักยภาพในการสร้างความมั่นคงให้ประเทศหรือารควบคุมไม่ให้อัฟกานิสถานเป็นดินแดนของผู้ก่อการร้ายอีก


คาดว่าในปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างไอซิส-เคกับตาลีบันอาจไม่ราบรื่นนัก แม้เดิมทั้งสองกลุ่มค่อนข้างมีความใกล้ชิดจากเครือข่ายฮัคคานี หนึ่งในกองกำลังใหญ่ที่สุดของอัฟกานิสถาน มีความใกล้ชิดกับตาลีบันและอัลกออิดะฮ์อย่างแน่นแฟ้น อีกทั้งเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบความปลอดภัยของกรุงคาบูลในตอนนี้อีกด้วย


แต่ทางไอซิส-เคเองก็เคยออกประณามแนวทางเคลื่อนไหวของตาลีบัน ในการละทิ้งสนามรบแต่กลับหันไปประนีประนอมกับตะวันตก ด้วยแนวคิดสุดโต่งไม่ได้ตีกรอบจำกัดอยู่แค่อัฟกานิสถานสืบทอดต่อจากไอซิส รวมไปถึงเหตุการณ์สังหาร อาบูล โอมาร์ โคราซานี อดีตแกนนำกลุ่มไอซิส-เคไปเมื่ออาทิตย์ก่อนอาจเป็นชนวนในการตอบโต้นำไปสู่เหตุระเบิด


การกระทำของไอซิส-เคนอกจากเป็นการหักหน้าสหรัฐฯ ยังเป็นการท้าทายตาลีบันไปพร้อมกัน เพราะหากไม่สามารถรวบอัฟกานิสถานเป็นปึกแผ่น สร้างเสถียรภาพความปลอดภัยให้ประเทศ แผนงานลงทุนกับการสนับสนุนทางเศรษฐกิจย่อมพากันล้มครืน และจะไม่มีทางที่อัฟกานิสถานจะฟื้นตัวหรือลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้อีก


นี่จึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญว่าสหรัฐฯ ตาลีบัน และอัฟกานิสถานจะดำเนินทิศทางต่อไปเช่นไรในประชาคมโลก


ที่มา