นางรวีพรรณ ช้างเย็นฉ่ำ พาณิชย์จังหวัดปทุมธานี ลงพื้นที่ฟาร์มสร้างสุข ตำบลบ้านงิ้ว อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ให้คำแนะนำส่งเสริมเชื่อมโยงโอกาส การเลี้ยงจิ้งหรีด แหล่งโปรตีนอาหารเทรนด์ใหม่ของโลก ตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ ด้านอาหารแนวใหม่ที่กำลังเป็นเทรนด์สำคัญของโลก โดยอาหารแห่งอนาคต (Future Food) และอาหารใหม่ (Novel Food) พบว่า “แมลง” มีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ทั้งแคลเซียม ซิงค์ วิตามินบี 2 บี 12 ในปริมาณสูง มี โอเมกา 3 6 9 รวมทั้งไฟเบอร์ ซึ่งเป็นไฟเบอร์จากสัตว์เพียงชนิดเดียว ช่วยปรับสมดุลในลำไส้ นอกจากนี้ยังมีกรดอะมิโนจำเป็นต่อร่างกายอีกกว่า 10 ชนิด ส่วนแมลงที่มีอยู่นับล้านชนิด “ จิ้งหรีด” ถือเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด โดยมี นายพิษณุ ประภาธนานันท์ นายอำเภอเมืองปทุมธานี เจ้าของฟาร์มจิ้งหรีด ให้การต้อนรับและพาเยี่ยมชม
นางรวีพรรณ ช้างเย็นฉ่ำ พาณิชย์จังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า การส่งเสริมเลี้ยงจิ้งหรีด มุ่งหวังให้เป็นอาชีพใหม่ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นแหล่งอาหารโปรตีนทางเลือก ทั้งยังเล็งเห็นโอกาสในการสร้างอาชีพและแหล่งรายได้ใหม่ให้แก่เกษตรกร สำหรับ “แมลงกินได้” มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในฐานะแหล่งโปรตีนทางเลือกและอาหารแห่งอนาคต ด้วยคุณสมบัติการเป็น superfood ที่มีจุดเด่นในการเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพ และอุดมด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เพื่อตอบโจทย์ทั้งทางด้านความมั่นคงทางอาหารและการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตในยุคนิวนอร์มอล
เนื่องจากปัจจุบัน แมลงเป็นหนึ่งในสัตว์เศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมจากตลาดทั้งใน และต่างประเทศ เป็นตลาดที่น่าจับตามอง เนื่องจากสถิติการส่งออกสินค้าแมลงมีชีวิต ไทยเป็นตลาดส่งออกสินค้าแมลงมีชีวิต อันดับที่ 17 ของโลก ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 ไทยส่งออกสินค้าแมลงสู่ตลาดโลก ปริมาณ 575 ตัน มูลค่า 85,346 เหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว ร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ไทยส่งออก มูลค่า 34,519 เหรียญสหรัฐฯ (สัดส่วนการส่งออก ร้อยละ 40.45 ของการส่งออกแมลงอื่นๆทั้งหมด) ซึ่งจิ้งหรีด ก็นับเป็นแมลงชนิดหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของตลาด และยังมีกระบวนการเลี้ยงที่ไม่ต้องลงทุนสูง คืนทุนไว สามารถเลี้ยงได้ในพื้นที่จำกัด และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สำนักงานพาณิชย์จังหวัดปทุมธานี มองเห็นโอกาสที่ดีในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ตลอดจนผู้ประกอบการในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มของเกษตรกร ตลอดจนผลักดันให้ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP เพื่อสร้างมาตรฐาน และการยอมรับจากตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดในพื้นที่ ซึ่งเป็นจุดแข็งของจังหวัดปทุมธานี ที่มีตลาดรวมกว่า 50 แห่ง หากมีการเชื่อมโยง และบูรณาการความร่วมมือที่ครอบคลุมทุกมิติ ก็จะยิ่งผลักดันได้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จึงมองว่า เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มีความน่าสนใจ และสามารถสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานรากได้เป็นอย่างดี
เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน การค้าปรับตัวเร็ว อะไรที่เป็น เทรนด์สินค้าใหม่ๆ ถ้าผู้ประกอบการสามารถปรับตัวรับโอกาสได้เร็ว จะทำให้สามารถสร้างรายได้ครัวเรือน ชุมชนและจังหวัดในภาพรวม โอกาสที่จะส่งเสริมให้สามารถส่งออกไม่ยาก ถ้าฟาร์มมีมาตรฐาน สามารถส่งออกไปหลายประเทศ อาทิ สหรัฐ เม็กซิโก สวิตเซอร์แลนด์ และกลุ่มอียู ฯลฯ จึงมองว่า เป็นอีกอาชีพที่สร้างรายได้ให้ฐานราก เราจึงส่งเสริมสินค้าที่มีโอกาส ตามหลักตลาดนำการผลิต ตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ คาดว่า การเลี้ยงแมลงเป็นอาหารปัจจุบันที่เลี้ยงกันเป็นอาชีพเสริมจะกลายเป็นอาชีพหลักในอนาคต
นายพิษณุ ประภาธนานันท์ นายอำเภอเมืองปทุมธานี เจ้าของฟาร์มจิ้งหรีด เปิดเผยว่า ตนเองได้น้อมนำเอาแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในการดำรงชีวิต ตนเองจึงได้ใช้พื้นที่ว่างเปล่าของเพื่อนในอำเภอสามโคก ประมาณ 1 ไร่ สร้างโรงเรือนเพราะเลี้ยงจิ้งหรีด โดยใช้เวลาว่างช่วงเลิกงานราชการหันมาเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดพันธ์ทองดำ-ทองแดงจนเป็นที่ต้องการของตลาด พร้อมเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ ช่วยประชาชน เป็นรายได้เสริมช่วงโควิด-19 ระบาด โดยได้พาไปชมขั้นตอนต่างๆ ในการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดขาย
การเลี้ยงจิ้งหรีดนั้น เริ่มจากการเพาะไข่ ซึ่งโดยปกติวงจรของจิ้งหรีด เมื่อโตเต็มวัยก่อนจับขาย จิ้งหรีดเพศเมียจะวางไข่โดยนำขันพลาสติก นำไปวางในบ่อเลี้ยง ใส่ ขุยมะพร้าว น้ำ คลุกให้เข้ากันนำไปวาง จิ้งหรีดจะรู้เองว่าเป็นที่ที่เหมาะสำหรับการวางไข่ หลังได้ไข่จากการวางไข่ของจิ้งหรีดแล้ว เมื่อจำหน่ายตัวจิ้งหรีดออกไป ให้เก็บขันทั้งหมดไปวางไว้รวมกัน แล้วนำผ้าคลุมไว้ ไม่นานจิ้งหรีดจะฟักจากไข่ออกมาเป็นตัวเล็กๆ เป็นจุดเริ่มต้นของพันธุ์จิ้งหรีดที่จะใช้เลี้ยงในรุ่นต่อไป
อุปกรณ์สำหรับเลี้ยงจิ้งหรีดที่ต้องลงทุนในระยะแรกคือ การสร้างโรงเรือน กระบะไม้ แผงไข่ อุปกรณ์ให้น้ำ เป็นการลงทุนถาวร ส่วนอุปกรณ์การเลี้ยงที่เป็นต้นทุน ทุกครั้งเมื่อถึงรอบจับทุก 45 วัน คือ อาหารสำเร็จรูป ซึ่งหากไม่ใช้อาหารสำเร็จรูป ก็สามารถใช้พืชหรือใบไม้ในการเลี้ยงจิ้งหรีดได้เช่นกัน แต่ต้องเป็นพืชที่ปลอดสารเคมี ส่วนแผงไข่ ใช้สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของจิ้งหรีด ควรปราศจากความชื้น หากชื้นหรือผุพัง ก็ต้องเปลี่ยนแผงไข่ใหม่ อาจจะเปลี่ยนเฉพาะแผงที่ชำรุด เพื่อลดต้นทุนการผลิตได้ โดยจับขายในราคากิโลกรัมละ 100-120 บาท
โดยจิ้งหรีดนั้นสามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารได้หลายอย่าง ส่วนใหญ่นิยมนำมาทอด ลาบ คั่ว อบกรอบปรุงรส ทำน้ำพริก และสามารถนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ผงโปรตีนจิ้งหรีดใช้ในการผสมในอาหารประเภทต่างๆ เช่น พาสต้า คุกกี้ เค้ก หรือพิซซ่า หลายคนที่เคยชิมต่างติดใจในรสชาติ นอกจากจะมีรายได้จากการจำหน่ายตัวจิ้งหรีดแล้ว ยังสามารถนำมูลจิ้งหรีดมาทำเป็นปุ๋ยขาย เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ อีกทางหนึ่งด้วย
อนาคตเราจะทำแบบครบวงจร ให้ชาวบ้านในพื้นที่มีส่วนร่วม ตั้งกลุ่มขยายฐานการผลิต สร้างรายได้ให้ชุมชน ป้อนความต้องการของตลาดอาหารทางเลือกโปรตีนสูง ให้ผู้บริโภคเข้าถึงผลิตภัณฑ์จากแมลงได้ง่ายขึ้น เพราะกินโดยที่ไม่ต้องเห็นตัวเป็นๆ แต่มาในรูปแบบของการแปรรูปเรียบร้อยแล้ว หากสนใจเข้าเยี่ยมชมหรือศึกษาดูงานการเลี้ยงจิ้งหรีด ติดต่อได้ที่เบอร์ 081-8824623