svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

“หมอสุภัทร”ถามอภ.ปมจัดซื้อ ATK ไม่ต้องผ่านมาตรฐาน WHO

จากกรณีชมรมแพทย์ชนบท โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็นมีการวิ่งเต้นกดดันฝ่ายการเมือง ถึงขั้นขู่ถอนตัวเพื่อกลับมติ ครม. เรื่องการจัดหา ATK โดยความผิดพลาดของเอกสาร เพื่อไม่ต้องใช้ ATK มาตรฐาน WHO ตามที่มติ ครม. เมื่อวันที่ 17 ส.ค.นั้น 

20 สิงหาคม 2564 นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวผ่านรายการ "เนชั่นกรองข่าว" เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา ว่า เป็นกระแสข่าวจากผู้สื่อข่าวที่บอกมาว่าตอนนี้ มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจมาก สืบเนื่องจากการประชุมครม. วันที่ 17 ส.ค. มีมติเขียนชัดเจนว่ามีข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี สั่งการผ่าน ศบค. จะต้องมีการจัดซื้อ ATK ผ่านองค์การอาหารและยา (อย.) ผ่านมาตรฐานระดับสากล และผ่านมาตรฐานองค์การอนามัยโลก และสามารถจัดส่งได้โดยเร็ว 

 

นพ.สุภัทร กล่าวต่อว่า พอมีคำว่าต้องผ่านมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ก็ทำให้ ATK ของ LEPU ที่องค์การเภสัชกรรม หรือ อภ. จัดซื้อ จึงไม่ตรงกับมติ ครม. แต่ว่าองค์การเภสัชฯ ก็ดำเนินการไปเยอะแล้ว คือประมูลกันเสร็จแล้ว เพียงแต่ยังไม่ลงนามในสัญญา ความน่าสนใจ คือ องค์การเภสัชฯ จะทำอย่างไร ซึ่งนักข่าวสายทำเนียบ ก็แจ้งข่าวมาให้ทราบ ว่ามันมีปรากฏการณ์ที่อยากจะบอก

 

"ไม่รู้เป็นข่าวลือหรือข่าวจริง ว่ามีการวิ่งเต้นไปคุยกัน จะให้มติ ครม. ให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขมติ ครม. ให้ตัดคำว่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลกออก โดยอ้างว่าพิมพ์ผิด มติไม่ได้เป็นเช่นนั้นแต่พิมพ์ผิด พอนักข่าวแจ้งเรามา เราก็คิดว่าก็เป็นไปได้นะ สถานการณ์มันก็อาจเป็นเช่นนั้นได้ เราก็อยากแจ้งข่าวกับสาธารณะให้ทราบ ว่ามีข่าวลือแบบนี้ จะได้ช่วยกันตรวจสอบ" ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าว

อย่างไรก็ตาม ความจริงแพทย์ชนบท ออกมาคัดค้าน ATK ของ LEPU ซึ่งไม่ได้สนใจยี่ห้อ ไม่ได้เกี่ยวว่าเจ้าไหน ใครจะวิ่งเต้นอะไรยังไง เพราะเป็นผู้ใช้ ก็อยากใช้ของมีคุณภาพ รวมถึงชาวบ้าน เพราะว่าเมื่อตรวจ ATK แล้ว ATK บอกว่าเป็นโควิด แต่จริงๆยังไม่เป็นโควิด ก็จัดไปแอดมิทตึกโควิด ที่มีคนรักษาโควิดทั้งตึก ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นโควิด ก็จะลำบาก พอเจอปรากฏการณ์ความผิดพลาดทางการตรวจอยู่หลายครั้ง คนก็จะไม่เชื่อถือ ATK พอไม่เชื่อถือ ก็ต้องถามหา RT-PCR เป็นหลัก

 

ส่วนการเอาแค่ อย. ไทยรับรอง ยอมรับว่า ไม่พอถ้าจะเอามาตรฐาน คือ มีของดีแล้วทำไมต้องใช้ของที่มีความแม่นยำต่ำ เมื่อมันเป็นเรื่องความเป็นความตาย ถือเป็นเรื่องที่สำคัญในการควบคุมโรค ถึงจะแพงไปหน่อย แต่ถ้าหากหลายชาติรับรอง อย่างกรณีของ LEPU ทางผู้บริหารของออสแลนด์ ก็ให้สัมภาษณ์สื่อ โดยบอกว่าของเยอรมันรับรอง ยุโรปรับรอง และอย.ของไทยรับรอง อันนี้ในมุมมองของหมอ ไม่พอ มันต้องมาถกกัน อะไรที่รับรองแล้วรับรองอะไร

 

สำหรับข้อมูลที่บอก WHO องค์การอนามัยโลกรับรองแค่ 2 ยี่ห้อเท่านั้น จริงเท็จแค่ไหนนั้น นพ.สุภัทร กล่าวว่า มีขายในประเทศไทย 2 ยี่ห้อเป็นอย่างน้อย แต่ที่รับรองมีหลายยี่ห้อ แต่จะมีขายในประเทศไทยไหม ซึ่งตอนนี้ก็ชัดเจนแล้วในเรื่องการจัดซื้อ เป็นขององค์การเภสัชกรรม หมอไม่มีอำนาจที่จะซื้อหรือไม่ซื้อ แต่มีอำนาจในการตรวจสอบคุณภาพ ถ้าซื้อเสร็จ ก็ต้องส่งของมาที่โรงพยาบาลต่างๆ 

"เราก็จะชวนเพื่อนๆ เรา 60 โรงพยาบาล ตรวจสอบ ก็ง่ายมากเลย คนไข้โควิดก็นอนอยู่ในตึกของโรงพยาบาล เราก็เอา ATK นี่แหละไปให้คนไข้โควิดตรวจตัวเอง แล้วก็มาดูผลว่าผลเป็นบวกหรือเป็นลบ ก็รายงานผล รวบรวมข้อมูลทั้ง 60 โรงพยาบาล โรงพยาบาล ละ 100 ตัวอย่าง 50 ตัวอย่าง ก็ได้สัก 4,000-5,000 ตัวอย่าง มันก็จะเห็นแล้วว่าผลบวกปลอมมีไหม ผลบวกจริงมีไหม ผลลบปลอมเป็นยังไง ผลลบจริงเป็นยังไง แล้วผมก็ได้ข้อมูลทางวิชาการมาชุดนึงครับ แล้วถ้าผลคลาดเคลื่อน เราก็ปฏิเสธการใช้ เดี๋ยวเราก็แจ้งองค์การให้ทราบว่า ล็อตต่อไปจะเอายังไง ก็เป็นสิ่งที่องค์การต้องแก้ปัญหาความซื่อสัตย์" นพ.สุภัทร ระบุ

ทั้งนี้ เพราะว่ามติ ครม. เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ก็ชัดเจนแล้วว่า การซื้อ ATK ต้องเลือกซื้อที่ผ่านมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกจริงๆ ก็ไม่มีอะไร ไม่พิมพ์ผิดแน่นอน เรื่องแบบนี้ไม่พิมพ์ผิด ขนาดเป็นประโยคกันเลย หรือถ้าพิมพ์คำผิด เป็นคำๆ นั้น มาตรฐาน ร.เรือ หายไป แต่เล่นพิมพ์ผิดกันเป็นประโยค มันก็คงไม่ใช่