แม้ว่า ศบค. จะมีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ 29 จังหวัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ดูเหมือนว่า ยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจะยังพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางประเด็นความกังขาของประชาชนว่า มาตรการล็อกดาวน์ดังกล่าวควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ผลจริงหรือไม่ และมีบางส่วนยังคงเรื่องร้องให้ ศบค. คลายหรือยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าไม่มีประโยชน์และประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบ
ล่าสุด นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ค หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น หัวข้อ "กักตัวคนป่วยและกลุ่มเสี่ยง ไม่ใช่ล็อกดาวน์ทั้งเมือง" โดยระบุว่า
โรงพยาบาลเป็นสถานที่เสี่ยง มีคนไข้โรคโควิด-19 เข้ามารับการรักษาทุกวัน มีแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ติดเชื้อไวรัสจากคนไข้ ขณะปฏิบัติงานในทุกโรงพยาบาล
เมื่อวินิจฉัยว่า ติดเชื้อไวรัสโควิด ก็ให้หยุดทำงาน และถูกกักตัว จนกว่าจะพ้นระยะแพร่เชื้อ จึงให้กลับมาทำงาน นอกจากนี้ คนที่ใกล้ชิดกับคนที่ติดเชื้อในแผนกนั้น ต้องได้รับการตรวจยืนยันว่า ไม่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้หยุดงาน และตรวจซ้ำอีกครั้ง 4-5 วัน ให้แน่ใจว่าไม่ติดเชื้อ จึงให้กลับมาทำงานได้ เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อให้ผู้อื่น
ต้องยอมรับว่า บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลทุกคน ถึงแม้จะระวังตัวเต็มที่ ดูแลตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ ได้รับวัคซีนครบแล้ว ก็ยังติดเชื้อไวรัสโควิด การป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา ทำได้ยากมาก ๆ
ไม่มีใครมาสั่งปิดโรงพยาบาล เมื่อพบบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โรงพยาบาลปฎิบัติกับคนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับคนติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ อัตราตายของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ร้อยละ 0.1 (ไม่ใช่ร้อยละ 2) พอ ๆ กับไข้หวัดใหญ่ปี 2009 แต่ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล อัตราตายน้อยกว่าประมาณร้อยละ 0.03 ประเทศไทยไม่มีการประกาศล็อกดาวน์ช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ปี 2009
ถึงเวลาแล้วเราควรเอาบทเรียนจากมาตรการที่ใช้กับโรงพยาบาล นำไปใช้กับทุกสถานประกอบการ หน่วยงานต้องรับผิดชอบกับคนงานของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นแคมป์ก่อสร้าง งานก่อสร้าง โรงงาน ระบบขนส่งสินค้าพัสดุ ห้างสรรพสินค้า ร้านตัดผม ตลาด ร้านค้า สนามกอล์ฟ สนามกีฬา สวนสาธารณะ เมื่อพบคนติดเชื้อ ให้คนติดเชื้อ และคนใกล้ชิดหยุดทำงาน กักตัวจนกว่าจะพ้นระยะแพร่เชื้อ เพื่อลดการแพร่เชื้อไวรัสโควิดให้ผู้อื่น ไม่ควรมีการสั่งปิดสถานที่ใดที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด ทุกคนที่แข็งแรง ไม่มีอาการ สามารถทำงานตามปกติต่อไปได้
การ "ล็อกดาวน์" ปิดเมือง ปิดการเดินทาง ผลออกมา ยอดผู้ติดเชื้อของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ระลอกนี้ นอกจากจะไม่ลดลงยังเพิ่มขึ้น เป็นการยืนยันว่า ไม่ได้ผล ควรผ่อนคลายบ้างแล้ว เพราะการระบาดครั้งนี้ เกิดขึ้นในบ้านมากที่สุด
โรคโควิด-19 ทำให้คนไทยเดือดร้อนมากพอแล้ว การ "ล็อกดาวน์" ยิ่งทำให้คนไทยเดือดร้อนมากขึ้นอีก
ถึงเวลาควรเปิดเมือง ใครมีงานทำก็ไปทำ ค้าขายก็ค้าขายไป ไปท่องเที่ยวก็ไป ยกเว้นไปสถานที่คนรวมตัวกัน รวมกลุ่มกันมาก ๆ ไม่เว้นระยะห่าง สถานที่อากาศถ่ายเทไม่ดี ติดแอร์ เช่น ผับ บาร์ สนามมวย บ่อนการพนัน โรงหนัง กิจกรรมสันทนาการ สังสรรค์ ทานอาหารร่วมกัน (เพราะต้องถอดแมสก์) ทุกคนต้องระวังตัวเต็มที่ ดูแลตัวเอง ทั้งนอกบ้าน และในบ้าน ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ และรีบฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้เร็วที่สุด