ผศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการ อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "คนอีสานกับโควิดระลอก 3" เพื่อสำรวจความคิดเห็นคนอีสานต่อเหตุการณ์การระบาดของโควิด 19 ระลอก 3 ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ปี 2564 ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 28-30 พฤษภาคม 2564 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,122 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด โดยผลสำรวจพบว่า
กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าโควิดระลอก 3 เกิดจากการบริหารจัดการของรัฐบาลเป็นหลัก การที่ไม่คุมเข้มในช่วงสงกรานต์มีผลต่อการควบคุมการระบาด 2 ใน 3 พร้อมฉีดวัคซีนที่รัฐจัดหาให้ ส่วนกลุ่มที่ยังไม่กล้าฉีดต้องการฉีดไฟเซอร์ แอสตร้าเซนเนก้า และโมเดอร์นา ตามลำดับ ส่วนใหญ่รายได้ลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี ต้องการให้รัฐฉีดวัคซีนให้มีภูมิคุ้มกันหมู่ให้เร็วที่สุด ขอเงินเยียวยาเพิ่ม และลดรายจ่ายของรัฐที่ไม่จำเป็น โดยรวมมีความพึงพอใจปานกลางถึงน้อยที่สุดในการการแก้ปัญหาโควิดและการจัดหาวัคซีนของรัฐ
ผศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ กล่าวอีกว่า เมื่อสอบถามว่า ท่านคิดว่าการระบาดของโควิดระลอก 3 เป็นเพราะสาเหตุใดเป็นหลัก พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ 46.4 ชี้ว่าเกิดจากการบริหารจัดการของรัฐบาลเป็นหลัก รองลงมา ร้อยละ 35.2 เกิดจากการทำงานของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก ร้อยละ 35.2 และร้อยละ 18.4 เกิดจากประชาชนบางส่วนที่ไม่มีวินัยเป็นหลัก
นอกจากนั้นเมื่อสอบถามว่า การที่ไม่คุมเข้มในช่วงสงกรานต์มีผลต่อการควบคุมการระบาด มากน้อยเพียงใด พบว่า มีผู้ตอบว่ามากที่สุด ร้อยละ 18.7 ตอบว่ามาก ร้อยละ 30.5 ตอบว่าปานกลาง ร้อยละ 37.9 ตอบว่า น้อย ร้อยละ 9.3 และตอบว่า น้อยที่สุด ร้อยละ 3.5เมื่อสอบถามว่า ท่านพร้อมจะฉีดวัคซีนหรือยังตามที่รัฐบาลจัดหาวัคซีนให้ พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 66.4 ตอบว่าพร้อมฉีดหรือฉีดแล้ว ขณะที่ ร้อยละ 33.6 ตอบว่ายังไม่กล้าฉีด และหากเลือกได้ท่านต้องการฉีดวัคซีนยี่ห้อใดมากที่สุด พบว่า อันดับหนี่ง ร้อยละ 46.9 เลือกไฟเซอร์ รองลงมา ร้อยละ 17.0 เลือก แอสตร้าเซนเนก้า ตามมา
เมื่อสอบถามว่า ช่วง เมษายนและพฤษภาคม รายได้ท่านหดหายไปประมาณเท่าใด เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 86.6 มีรายได้ลดลง โดยแยกเป็น ลดลงมากกว่า 50% คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.5 ลดลง 41-50% ร้อยละ 13.2 ลดลง 31-40% ร้อยละ 19.4 ลดลง 21-30% ร้อยละ 16.2 ลดลง 11-20% ร้อยละ 20.6 และลดลง 1-10% ร้อยละ 10.9 ขณะที่ร้อยละ 13.3 ตอบว่ารายได้เท่าๆ เดิม และมีเพียง 0.1% ที่มีรายได้เพิ่มขึ้น
เมื่อสอบถามว่า ท่านต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาเศรษกิจช่วงโควิดอย่างไรมาก พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ 48.1 ต้องการให้ฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด รองลงมา ร้อยละ 24.0 ขอให้แจกเงินเยียวยาเพิ่ม ตามมาด้วย ร้อยละ 10.1 ขอให้ลดรายจ่ายภาครัฐที่ไม่จำเป็น ร้อยละ 9.4 ช่วยให้มีการจ้างงาน ร้อยละ 4.5 ขอเงินกู้สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ร้อยละ 3.1 ขอเงินกู้สำหรับคนที่เป็นหนี้นอกระบบ และความเห็นอื่นๆ ร้อยละ 0.8
และสุดท้ายเมื่อสอบถามว่า ท่านพึงพอใจในการแก้ปัญหาโควิดและการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลมากน้อยเพียงใด พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ให้คะแนนอยู่ในช่วงปานกลางถึงพอใจน้อยที่สุด แยกเป็นพอใจปานกลางร้อยละ 38.6 พึงพอใจน้อย ร้อยละ 24.6 พึงพอใจน้อยที่สุด ร้อยละ 24.3 ขณะที่มีกลุ่มที่ให้คะแนน พึงพอใจมาก ร้อยละ 11.5 และพอใจมากที่สุด ร้อยละ 1.0