"ภาชนะ"ใบสักแห้ง-ลดเผาแก้หมอกควัน
วันที่ 23 มีนาคม 2564 ที่อุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ เนื่องจากมีต้นสักใหญ่ที่สุดในโลก ลำต้นโตขนาด 8 คนโอบ และมีอายุมากกว่า 1,500 ปี ปัจจุบันยังคงยืนต้นเจริญเติบโต ท่ามกลางลูกหลานเหลนโหลนไม้สัก จำนวนมากพื้นที่กว่า 2 หมื่นไร่ และเป็นพื้นที่อนุรักษ์ปลูกต้นสักธรรมชาติมากที่สุด ด้วยเป็นป่าเบญจพรรณผสมป่าเต็งรัง เมื่อถึงช่วงหน้าแล้ง ใบสักร่วงหล่นเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาปล่อยให้ทับถมและเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดไฟป่า จากชุมชนโดยรอบ สาเหตุปัญหาหมอกควัน ซึ่ง จ.อุตรดิตถ์เป็นหนึ่งในจังหวัดภาคเหนือที่ ล่าสุดค่า PM.2.5 เกินมาตรฐาน
ผู้สื่อข่าวรายงาน บริเวณลานหน้าต้นสักใหญ่ที่สุดในโลก นายปริญญา คุ้มสระพรหม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจ.อุตรดิตถ์ ,นายวานิช ศรีพรหม ผจก.องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.)เขตอุตรดิตถ์,นายสมเกียรติ กาติ๊บ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว และ นายศุภกิจ เอี่ยมลออ หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าต้นสักใหญ่ นำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประโยชน์ของใบสักใหญ่ รวมไปถึงใบไม้ต่างๆ ทั้งแห้งและสด นอกจากนำมาทำปุ๋ยหมักตามโคนต้นไม้ทั่วป่าแล้ว ยังนำใบสักใหญ่ ทำเป็นภาชนะถ้วย จาน ขยายฐานการเรียนรู้ไปยังชุมชนทั้ง 9 อำเภอ เพื่อลดการเผา ลดหมอกควัน ลดปริมาณการใช้พลาสติก ที่สำคัญถ้วย จานใบสักใหญ่ใช้วัสดุจากธรรมชาติล้วนๆ ใช้ประโยชน์ได้จริง และยังสร้างรายได้สู่ชุมชน
นายปริญญาคุ้มสระพรหม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจ.อุตรดิตถ์กล่าวว่า พื้นที่ป่าไม้จังหวัดอุตรดิตถ์ คือป่าเบญจพรรณช่วงแล้งใบจะแห้งร่วงหล่น ผลัดใบรอการผลิใบอ่อน หากเกิดไฟป่ากลายเป็นเชื้อไฟที่ลุกลามขยายวงกว้างได้ง่ายและรวดเร็ว จึงเน้นมาตรการชิงเก็บ ลดเผา ระดมเจ้าหนาที่และอาสาสมัคร รวมไปถึงประชาชน ช่วยกันทำแนวกันไฟ เก็บออกจากพื้นที่ป่า ทำปุ๋ยหมัก
พบว่าลวดลายของหลังใบลายเส้นนูนเป็นร่างแหชัดเจน สวยงามทั้งใบสดสีเขียวเข้ม และใบแห้งสีน้ำตาลแดง สอดคล้องกับกระแสรักษ์โลก จึงนำใบสักใหญ่ ขึ้นรูปเป็นภาชนะ ถ้วย จาน เริ่มต้นใช้ในองค์กร ขยายตามจุดท่องเที่ยวเขตอุทยานฯเพื่อลดการใช้กล่องโฟม และ สร้างรายได้สู่ชุมชน ด้วยลวดลายความสวยงามและความหนาของใบสักใหญ่ สามารถใช้ใส่อาหารรับประทาน คล้ายกับภาชนะทั่วไปและปลอดภัย พร้อมเผยแพร่ให้กับเครือข่ายป่ายชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างงานสร้างรายได้เสริมเบื้องต้นใบละ 3 บาท ถูก ทน ปลอดภัย
นายวานิช ศรีพรหม ผจก.องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.)เขตอุตรดิตถ์ กล่าวว่า หลังเก็บใบสักใหญ่ออกจากป่า แล้งจะเน้นใบแห้ง นำมาล้างให้สะอาด เช็ดด้วยผ้า จากนั้นทาด้วยน้ำผสมแป้งมัน หรือแป้งข้าวเหนียว เพื่อช่วยผสาน ซึ่งถ้วย จาน 1 ใบใช้สักใหญ่ 3 ใบทับกัน จากนั้นนำขึ้นรูปตามแบบแม่พิมพ์ ด้วยความร้อน ประมาณ 1-2 นาที นำออกมาตกแต่ง ก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ ไม่มีสารตกค้างเป็นภาชนะจากธรรมชาติโดยแท้ เบื้องต้นแจกนักท่องเที่ยวสำหรับใส่อาหาร ที่สำคัญย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ