เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่โรงเรียนบ้านสลก อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ปกครองนักเรียน และคณะครูในโรงเรียน ว่าถูก นางสาววราพร พงศ์อนันตกุล อายุ 46 ปี อดีตครูที่เคยสอนประจำอยู่ที่โรงเรียน แต่ปัจจุบันย้ายไปอยู่โรงเรียนอื่นแล้วในเขตอำเภอเมืองแพร่ ได้เบิกเงินจากธนาคารซึ่งเป็นเงินออมของนักเรียนไปใช้ แล้วไม่ยอมนำมาคืน โดยในเบื้องต้นทางโรงเรียนได้ให้ครูคนดังกล่าวเซ็นหนังสือสัญญาเงินกู้ไว้ก่อนจะย้ายไปตั้งแต่เมื่อปี 2562 โดยมียอดเงินทั้งหมด 429,367 บาท จากนั้นได้มีการนัดพูดคุยกันหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้รับเงินคืน จึงได้เข้าไปพูดคุยตกลงกันและลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สภ.วังชิ้น เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 โดยนัดว่า ในวันนี้คือ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 จะนำเงินทั้งหมดมาคืนให้กับโรงเรียน แต่พอถึงเวลานัดก็ไม่มาอีกเช่นเคย
นางธิติพร สืบสมุทร ผอ.โรงเรียนบ้านสลก กล่าว่า กรณีนี้เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะย้ายมาดำรงตำแหน่ง หลังจากที่ทราบเรื่องเบื้องต้นก็ได้มีการเรียกผู้ปกครองมาประชุม เนื่องจากนักเรียนบางส่วนที่กำลังจะเรียนจบก็ต้องการจะเบิกเงินออมทรัพย์ส่วนนี้ไปใช้ เพราะบางรายยอดเงินฝากมากเกือบ 3 หมื่น เนื่องจากเป็นโครงการที่โรงเรียนให้นักเรียนรู้จักการออมเงิน โดยนักเรียนทุกคนจะเริ่มออมเงินตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนเรียนจบสามารถฝากและถอนได้ตลอด โดยจะมีสมุดบัญชีไว้ให้นักเรียนแต่ละคนถือไว้ และครูประจำชั้นจะทำบัญชีนำส่งยอดเงินให้ฝ่ายที่ดูแล จากนั้นจึงรวบรวมเงินทั้งหมดไปฝากบัญชีธนาคาร ซึ่งเปิดไว้เป็นชื่อของโรงเรียน มีผู้มีอำนาจลงนาม 3 คน จะเบิกเงินต้องมีชื่อ 2 ใน 3 คน จึงจะสามารถเบิกเงินได้ และปัญหาเริ่มเกิดขึ้นเมื่อนักเรียนบางส่วนกำลังจะจบการศึกษาและต้องการเบิกเงินออมทรัพย์ทั้งหมดแต่ไม่สามารถเบิกได้ เนื่องจากไม่มีเงินในบัญชี 2 ใน 3 รายที่เป็นผู้มีอำนาจลงนามนั้นได้ทำการเคลียร์ยอดเงินคืนมาให้โรงเรียนแล้ว ยังค้างเพียงยอดเงินที่คุณครูวราพร นำไปใช้ แต่ไม่ยอมนำกลับมาคืน มีการนัดพูดคุยกันหลายครั้ง ว่าจะนำเงินบางส่วนมาคืนให้ แต่ก็ไม่เคยได้รับเงินคืน ล่าสุดก่อนที่จะเข้าแจ้งความทางครูวราพรฯ นำเช็คเงินสดมาให้โรงเรียน แต่พอนำไปขึ้นเงินกลับไม่สามารถเบิกเงินได้ เช็คเด้ง จึงได้เข้าแจ้งความกรณีเช็คเด้งไว้ที่ สภ.เมืองแพร่แล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งคดีอยู่ในระหว่างดำเนินการ ส่วนในวันนี้ทางครูวราพรฯ ได้นัดกับกลุ่มครูและผู้ปกครองไว้ว่าจะเข้ามานำเงินที่ค้างอยู่ทั้งหมดคืนให้ แต่รอทั้งวันก็ยังไม่มา
ทางด้าน นางกัลยา ต๊ะมะครุฑ ครูประจำชั้น นักเรียน กล่าวว่า ในเบื้องต้นเรื่องการเบิกจ่ายเงินในบัญชีนั้นทางคณะครูจะไม่ทราบเรื่องเลย เพราะไม่มีอำนาจในการดูแล ซึ่งทางคณะกรรมการโดยอดีตผู้อำนวยการฯ ที่เกษียณอายุราชการไปแล้วเป็นคนดูแลและจัดการ ทางครูประจำชั้นมีหน้าที่เพียงรับเงินจากเด็กๆ ที่ส่งให้ทุกวัน ทำสมุดบัญชีรายละเอียดยอดเงินของแต่ละวัน และนำส่ง
นางสาวกชพร มะโนสอน ครูในโรงเรียน เล่าว่า ตนเองมีหน้าที่เพียงนับเงิน ไม่มีอำนาจในการเบิก ถอน ซึ่งจะเป็น อดีต ผอ. และครูอีก 2 ท่านที่ดูแล ทุกครั้งที่รับเงินมาก็จะนับเงินส่งแล้วทางครูวราพร ก็จะมาอาสานำเงินไปฝากเอง ซึ่งตนเองไม่มีอำนาจหน้าที่ จึงไม่ทราบว่าเงินนำฝากแต่ละครั้งจริงหรือไม่อย่างไร
ทางด้านตัวแทนผู้ปกครอง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ทางโรงเรียนมีเงินกองทุนออมทรัพย์ของนักเรียน จากนั้นทางครูได้นำมาตั้งเป็นเงินกู้ในโรงเรียนให้ครู โดยการนำดอกเบี้ยมาปันผลให้นักเรียน เท่าที่ทราบมา และ ที่ผ่านมาทาง ผอ.คนก่อนนั้นไม่ยอมให้นักเรียนได้เบิกเงินออกมาเลย โดยบอกว่าเงินนั้นไม่ได้หายไปไหน แต่ไม่อยากให้ผู้ปกครองเบิกเงินของนักเรียนออกมาใช้ ซึ่งช่วงเปิดเทอมใหม่นั้นเด็กต้องซื้ออุปกรณ์การเรียน ถุงเท้ารองเท้า บางครั้งก็อยากจะถอนเงินออกมาช่วยบ้าง แต่ครูก็มักจะบอกว่าเงินไม่ได้หายไปไหน อยากจะให้จบแล้วค่อยถอนออกมา ณ ตอนนี้เด็กบางคนจะจบแล้วแต่ทางโรงเรียนไม่มีเงินให้ เนื่องจากตอนนี้ทางโรงเรียนไม่มีเงินให้ คือผู้ปกครองนั้นจะรู้ว่าลูกของตนมีเงินฝากไว้เท่าไหร่เพราะเด็กจะมีสมุดคนละเล่ม แต่ละคนไม่เท่ากัน ตอนนี้ผู้ปกครองทราบว่าทางโรงเรียนไม่มีเงิน เพราะทางผอ.คนใหม่ได้เรียกประชุมและชี้แจง จึงทราบว่าไม่มีเงินในบัญชี ที่ผ่านมาผู้ปกครองเองก็สงสัย แต่ผอ.คนเดิมยืนยันเสมอว่าเงินยังอยู่ไม่ต้องเป็นห่วง แต่พอ ผอ.คนใหม่มา ได้แจ้งให้ผู้ปกครองทราบเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ว่าเงินได้หายไป มีคุณครูท่านหนึ่งนำเงินไป และไม่สามารถนำมาคืนให้ทางโรงเรียนได้ จึงได้เข้ามาร่วมร้องทุกข์ในครั้งนี้