มะรุม เป็นผักที่มีประโยชน์ แต่ก็อาจจะนำโทษมาให้ได้ โดย สถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร ได้โพสต์ เฟซบุ๊ก ระบุว่า
มะรุม เป็นผักที่นำมาเป็นอาหารได้ตั้งแต่ยอด ใบอ่อน ช่อดอก และฝัก นำมาลงกหรือต้มให้สุก จิ้มกับน้ำพริก ปลาร้า แจ่วบอง หรือกินแกล้มกับลาบ ก้อย หรือใช้ยอดอ่อน ช่อดอก ทำแกงส้ม แกงอ่อม ดอง ก็อร่อยไม่แพ้กัน
มะรุม มีคุณค่าโภชนาการสูงมาก ใบมะรุมมีวิตามินซีมากกว่าส้ม 7 เท่า แคลเซียมมากกว่านม 4 เท่า วิตามินเอมากกว่าแครอท 4 เท่า โปแตสเซียมมากกว่ากล้วย 3 เท่า และโปรตีนมากกว่านม 2 เท่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง เสริมภูมิคุ้มกัน ช่วยเสริมสร้างและบำรุงกระดูก บำรุงสายตา ทำให้หัวใจและกล้ามเนื้อทำงานเป็นปกติ และบำรุงกล้ามเนื้อ
ด้านยา ในคัมภีร์อายุรเวทของอินเดีย ระบุว่า มะรุม มีรสหวานและขม รสร้อน ขับปัสสาวะ ฟอกโลหิต ขับพยาธิ บำรุงสมอง ใช้รักษาโรคผิวหนัง โลหิตจาง โรคอ้วน ริดสีดวงทวาร โรคในช่องคลอด โรคเกี่ยวกับม้าม
การศึกษาวิจัย
1) คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล พบว่า สารสกัดน้ำมะรุม น่าจะมีส่วนช่วยลดโอกาสเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด จากการทดลองในหนู พบฤทธิืต้านอนุมูลอิสระ ลดการเกิดไขมันชนิดไม่ดี (LDL) ลดโอกาสเกิดคอเลสเตอรอลไปจับที่ผนังหลอดเลือดถึง 50%
2) ที่อินเดีย ใช้สารสกัดแอลกอฮอล์มาสกัดเมล็ดของมะรุมให้หนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นข้ออักเสบ พบว่าสารสกัดมะรุมช่วยลดการอักเสบ และทำให้ดัชนีของการเกิดข้ออักเสบ ลดลงด้วย
ทั้งนี้ แม้ "มะรุม" จะมีประโยชน์มาก แต่ก็ไม่มีการแนะนำให้กินขนาดเข้มข้นสูง ต่อเนื่อง เพราะอาจมีผลต่อร่างกายได้ แนะนำให้รับประทานเป็นผัก เป็นอาหารหมุนเวียนไปในชีวิตประจำวัน และใช้ในขนาดที่เหมาะสม
ข้อควรระวัง
1. ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ ควรหลีกเลี่ยงการทานมะรุม เพราะมะรุมจะส่งผลให้มีค่าเอนไซม์ของตับสูงขึ้น
2. ผู้หญิงมีครรภ์ อาจทำให้เกิดพิษ-เกิดอาการแท้งได้
3. ผู้ป่วยเป็นโรคเลือดไม่ควรรับประทานมะรุม เพราะจะทำให้เม็ดเลือดแตกได้ง่าย
4. ไม่ควรรับประทานมะรุมขนาดสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเกิดความผิดปกติกับตับ
5.ผู้ป่วยโรคเกาต์ไม่ควรรับประทาน เพราะจะทำให้ได้รับโปรตีนที่สูงเกินไปทำให้เกิดอันตรายกับโรคเกาต์ที่เป็นอยู่
6. มะรุมมีฤทธิ์ร้อน ระวังในผู้ที่มีธาตุเจ้าเรือน ไฟ หรือมีภาวะร้อนง่าย อาจส่งเสริมให้เกิดความร้อนในร่างกายได้
#มะรุม #สมุนไพรน่ารู้ #สถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร #อภัยภูเบศร