เป็นระยะเวลากว่า 11 ปีที่เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายโครงการโขง ชี มูลเดิม โดยการสร้างเขื่อนกั้นน้ำชี โดยเฉพาะเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย ในพื้นที่ลุ่มน้ำชี ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ ทั้งพื้นที่ทำการเกษตรถูกน้ำท่วมผิดปกตินาน 1-3 เดือน ทำให้ต้นข้าวเน่าตายเสียหายต่อเนื่องกันกว่า 10 ปี ระบบนิเวศเกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดการอพยพโยกย้ายแรงงานเข้าสู่ภาคเมืองมากขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงทางประเพณีและวัฒนธรรม เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ทำให้ชาวบ้านได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์ให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอและข้อเรียกร้องของชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง เหมือนกับหลาย ๆ ปัญหาที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาล
แม่น้ำชีตอนกลางและตอนล่างมีสภาพทางภูมิศาสตร์กายภาพที่หลากหลาย ในพื้นที่ป่าทามจะเกิดน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก สำหรับชุมชนลุ่มน้ำซีในอดีตนั้น ภาวะน้ำท่วม ถือว่าเป็นปกติวิสัยและเป็นเรื่องธรรมชาติ ซึ่งคนในชุมชนจะต้องปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ แม่น้ำชีมีความสำคัญต่อการผลิตของชุมชน ความอุดมสมบูรณ์ของดินในพื้นที่นาทามทำให้ทำนาได้ผลดี และพื้นที่ริมชี กุด หนองน้ำต่าง ๆ ก็ใช้เป็นสถานที่เลี้ยงสัตว์ เป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนสืบเนื่องตลอดมา เป็นการออมของชุมชนในระยะยาว ชุมชนลำน้ำซีมีวิถีชีวิตแบบ "เฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน" และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากธรรมชาติเป็นหลัก
การกำหนดนโยบายของรัฐจากโครงการโขง ชี มูลเดิม ถือว่าเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ของรัฐที่สร้างเขื่อนบนแม่น้ำชี 6 เขื่อน คือ เขื่อนชนบท เขื่อนคุยเชือก เขื่อนวังยาง เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร พนมไพร เขื่อนธาตุน้อย แต่เดิมนั้นอยู่ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน เมื่อเริ่มแรกชาวบ้านได้รับข้อมูลว่า เป็นการสร้างฝายยาง ในลุ่มน้ำชี แต่เมื่อก่อสร้างเสร็จในปี 2543 กลับเป็นเขื่อนคอนกรีตขนาดใหญ่ มีประตูเปิดปิดทุกเขื่อน การตัดสินใจ ในการพัฒนาโครงการโดยไม่ได้ศึกษาถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ วิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของชุมชน จึงเป็นการทำลายภูมิปัญญาและองค์ความรู้ในการจัดการน้ำแบบดั้งเดิมของคนในพื้นที่ไป ทั้งยังส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในช่วงฤดูแล้งเขื่อนที่อยู่ลุ่มน้ำชีแต่ละตัวไม่ระบายน้ำออก พอเข้าช่วงฤดูฝนเขื่อนก็ไม่สามารถรองรับน้ำได้ จำเป็นต้องเร่งระบายน้ำออก จึงส่งผลกระทบกับพื้นที่ทำการเกษตรเป็นอย่างมากโดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วม
สถานการณ์น้ำท่วม 2 ฝั่ง แม่น้ำชีตอนกลาง ในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดยโสธร เป็นปัญหาต่อเนื่องมานับ 10 ปี ตั้งแต่สร้างเขื่อนเสร็จ เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นลักษณะแอ่งกระทะ หรือที่ลุ่มน้ำท่วมถึงในช่วงฤดูน้ำหลาก จากอดีตที่เคยท่วมเพียง 7-15 วัน ต้นข้าวจึงไม่เสียหาย ชาวบ้านเรียกว่า "น้ำสระหัวข้าว" แต่ภายหลังการสร้างเขื่อนก็เกิดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทำการเกษตรนาน 1-3 เดือน ข้าวต้องจมอยู่ใต้น้ำเน่าเสียหายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน ทั้งเรื่อง
ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทำกินและชุมชน การสร้างเขื่อนเป็นอุปสรรคต่อการไหลเวียนของน้ำ เกิดน้ำท่วมขัง เดิมน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากขึ้นช้าลงเร็ว ท่วมนานที่สุดไม่เกิน 10-15 วัน ไม่ทำให้ข้าวเสียหาย แต่จะเป็นตัวเร่งให้ข้าวเจริญเติบโต เพราะมีสารอาหารพัดพามากับน้ำและตกตะกอนในที่นาหลังน้ำลด ปัจจุบันน้ำท่วมขังนานกว่า 1-3 เดือน ทำให้ต้นข้าวเน่าเสียหาย รวมถึงชาวบ้านต้องสูญเสียพื้นที่ทำกินจากการที่ถูกน้ำท่วมตลอด 10 ปี นั่นย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงวิถีชีวิต และยังมีไมยราพยักษ์ พืชพันธุ์ใหม่เข้ามาแพร่ระบาดในพื้นที่ ถือว่าเป็นพืชที่อันตรายต่อพืชท้องถิ่น โดยไปขยายพันธุ์ปกคลุมทดแทนพืชในป่าทาม อีกทั้งยังทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ เช่น การสูญเสียพันธุ์ปลา
การเปลี่ยนแปลงวิถีชุมชน ในฤดูฝน ชาวบ้านเคยทำนาทาม ในปีที่น้ำหลากมากจะทำนาแซงตามที่ดอน โดยสูบน้ำเอาตามหนอง กุด แหล่งน้ำต่าง ๆ จะทำแค่พอยังชีพ ในฤดูหนาว จะมีการปลูกผักสวนครัวที่ริมฝั่งชี ตามพื้นที่ทามที่ใกล้แหล่งน้ำ และสามารถหากินตามพื้นที่ริมชีและพื้นที่ป่าทาม เช่น เก็บเห็ด เก็บหน่อไม้ หามันแซง แหย่ไข่มดแดง หาฟืน รวมทั้งเครื่องมือหาปลา ชาวบ้านจะหาปลาทั้งในลำน้ำซีและตามพื้นที่กุดและหนองน้ำ ปลาที่เหลือจากการทำอาหารก็สามารถนำไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่น เช่น แลกข้าวกับเครือข่ายพันธมิตรที่อยู่พื้นที่นาดอน ส่วนนอกฤดูทำนา ชาวบ้านจะอพยพไปทำงานนอกพื้นที่ ซึ่งเป็นการอพยพแรงงานชั่วคราวนอกฤดูผลิตเท่านั้น จะเห็นได้ว่า ชุมชนสามารถที่จะกำหนดการดำเนินชีวิตของตนได้ ด้วยว่ามีปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตอยู่เพียงพอ สามารถรู้ว่า ช่วงเวลาในแต่ละช่วงจะต้องทำอะไรบ้าง แต่สถานการณ์ปัจจุบัน ชาวบ้านจะอพยพแรงงานแบบถาวร จะกลับพื้นที่ก็แต่ในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น ปีใหม่ และสงกรานต์ เท่านั้น และไม่สามารถเป็นเจ้าของปัจจัยการดำรงชีวิต เพราะขึ้นกับภายนอกเป็นผู้กำหนด เช่น นายจ้างหรือคนอื่น ๆ เป็นต้น
ปัญหาหนี้สิน เมื่อพืชผลทางการเกษตรเสียหายจากที่น้ำท่วม ชาวบ้านจึงไม่มีรายได้ในการดำรงชีวิต เพราะไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ และภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นติดต่อกันถึง 10 ปี ทำให้ชาวนาต้องขาดทุน และก่อปัญหาหนี้สินในที่สุด เมื่อไม่มีเงินใช้หนี้ก็ต้องอพยพไปทำงานในเมือง และเขตอุตสาหกรรมในภูมิภาคต่าง ๆ เป็นปัญหาสังคมในชุมชนตามมา
การลดลงของสัตว์เลี้ยง จำนวนสัตว์เลี้ยงลดลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะ วัว ควาย เพราะการที่น้ำท่วมขังอย่างยาวนานทำให้พื้นที่ที่ชาวบ้านเคยใช้เลี้ยงสัตว์ลดน้อยลง จนชาวบ้านหลายพื้นที่ไม่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ การเลี้ยงสัตว์ที่ถือเป็นการออมเงินของชาวบ้านภาคอีสานทางหนึ่งก็หมดสิ้นลง
วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไป ภาวะน้ำท่วมขังไม่ได้ทำให้ต้นข้าวเน่าตายเท่านั้น แม้แต่ประเพณี วัฒนธรรมก็ต้องพลอยได้รับผลกระทบด้วย ประเพณีที่สำคัญของผู้คนที่มีเชื้อสายลาวนั้น ใน 1 ปีมีอยู่ถึง 12 เดือน หรือ "ฮีต 12 คอง 14" เพื่อให้ชาวบ้านได้มีกิจกรรมร่วมกัน สร้างความสามัคคีในชุมชน แต่เมื่อน้ำท่วมขังนาน ประเพณีบางอย่างจึงต้องถูกยกเลิก และบางอย่างต้องเลื่อนระยะเวลาออกไป เช่น บุญกุ้มข้าวใหญ่ ซึ่งเป็นฮีตที่ 2 ต้องถูกยกเลิกไป เพราะข้าว อันเป็นปัจจัยสำคัญในการทำบุญในฮีตนี้ถูกน้ำท่วมเน่าตายไปจนหมด ชาวบ้านจึงไม่มีข้าวทำบุญ
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้กระทบต่อโครงสร้างของชุมชนโดยตรง เมื่อโครงสร้างของชุมชนถูกทำลาย การล่มสลายจึงเกิดขึ้นกับชุมชนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิตและวัฒนธรรม ซึ่งตัวชี้วัดของความเปลี่ยนแปลงที่เห็นเป็นรูปธรรมและง่ายต่อความเข้าใจ คือ สภาวะน้ำท่วมที่ผิดแผกไปจากอดีตที่เคยมีเคยเป็น ภาวะน้ำท่วมอันเนื่องมาจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของรัฐแตกต่างจากการท่วมที่เป็นไปตามกลไกธรรมชาติอย่างในอดีตโดยสิ้นเชิง น้ำหลากที่เกิดจากธรรมชาติ ชาวลุ่มน้ำสามารถปรับตัวให้สอดคล้องอยู่ได้ สามารถคาดคะเนหรือคาดการณ์การมาของน้ำจนถึงขั้น "จับชีพจรน้ำ" ได้ แต่ภาวะน้ำท่วมอันเป็นผลมาจากโครงการพัฒนาของรัฐเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ชาวบ้านมิอาจปรับตัวให้กลมกลืนหรือยังชีพอย่างปกติสุขได้
การลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์ของเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร เป็นอีกปรากฏการณ์เพื่ออยากให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอ คือ 1.ให้เยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพรและเขื่อนธาตุน้อย 2.ให้ดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูวิถีชีวิต อาชีพ เศรษฐกิจและระบบนิเวศ ซึ่งเป็นข้อเรียกเรียกของเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างมาตั้งแต่ปี 2552 เป็นระยะเวลา 11 ปีแล้ว จากข้อเรียกร้องทำให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการสร้างฝายร้อยเอ็ด ฝายยโสธร-พนมไพรและฝายธาตุน้อย ขึ้นมา และแต่งตั้งอนุกรรมการแก้ไขปัญหาขึ้นมาอีก 4 ชุด ประกอบด้วย 1.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายร้อยเอ็ด ฝายยโสธร-พนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด 2.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายยโสธร-พนมไพร จังหวัดยโสธร 3.แต่งตั้งอนุกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมจากโครงการฝายร้อยเอ็ด ฝายยโสธร-พนมไพร และฝายธาตุน้อย 4.แต่งตั้งอนุกรรมการศึกษาหลักเกณ์เพื่อกำหนดกรอบและแนวทางการชดเชยความเสียหายหรือเยียวยาให้กับราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายร้อยเอ็ด โครงการฝายยโสธร-พนมไพร และโครงการฝายธาตุน้อย ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินการของคณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมจากโครงการฝายร้อยเอ็ด ฝายยโสธร-พนมไพร และฝายธาตุน้อย หรือ (Post EIA) ได้ดำเนินการศึกษาแล้วภายใต้กรอบระยะเวลา 300 วัน เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมานั้น และได้มีข้อสรุปชัดเจนดังนี้คือ 1.สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีเขื่อนและโครงสร้างของเขื่อนกีดขวางเส้นทางน้ำ 2.เกิดจากการบริหารจัดการน้ำ 3.ลักษณะทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น กระบวนการแก้ไขปัญหาจะต้องดำเนินการแก้ไขตามข้อเสนอข้อเรียกร้องของเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง
เมื่อผลการศึกษาภายหลังการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนธาตุน้อย ลุ่มน้ำชีได้ดำเนินการสรุปการวางมาตรการในการแก้ไขปัญหาจึงเห็นทางออกในการแก้ไขปัญหาให้กับเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป การลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์ของเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร เป็นเวลากว่า 11 ปีแล้ว กระบวนการแก้ไขปัญหาจะยังคงให้ชาวบ้านรอคอยอีกหรือไม่
ด้านนายจันทรา จันทาทอง อายุ 45 ปี เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาของชาวบ้านลุ่มน้ำชี ถือว่ารัฐควรแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาเพราะปัญหาเกิดขึ้นหลังเขื่อนก่อสร้างเสร็จปี 43 ก็ก่อให้เกิดปัญหาตามมาระยะยาว ชาวบ้านก็ได้เรียกร้องมา 11 ปีแล้ว และผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมจากโครงการฝายร้อยเอ็ด ฝายยโสธร-พนมไพร และฝายธาตุน้อย ก็มีข้อสรุปชัดเจนว่าต้นเหตุเกิดจากเขื่อนและโครงสร้างองค์ประกอบเขื่อนที่สร้างกีดขวางทางน้ำ ดังนั้นแล้วการแก้ไขปัญหาควรยึดตามาตรการของผลการศึกษาโดยเฉพาะ การเยียวยาให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย ฟื้นฟูวิถีชีวิต และระบบนิเวศ ที่ผ่านมาเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร ได้มีข้อเสนอคือ ให้เยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ให้จัดทำแผนฟื้นฟูฐานทรัพยากรชุมชนเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร จึงทำให้มีรัฐบาลมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนธาตุน้อย ลุ่มน้ำชี และมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯขึ้นมาจำนวน ชุด มาตั้งแต่ปี 52 เป็นต้นมา และอยากเห็นกระบวนการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็วและเป็นรูปธรรม
ด้านนายนิมิต หาระพันธ์ อายุ 62 ปี เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดยโสธร กล่าวว่า กระทั้งปัจจุบันทางรัฐบาลก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนธาตุน้อย ลุ่มน้ำชี กว่า 11 ปีแล้วที่รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงก็ยังไม่มีท่าทีที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้อง ข้อเสนอของเครือข่ายลุ่มน้ำชีตอนล่าง ทั้ง ๆ ที่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันดำรงตำแหน่งมา 7 ปีแล้ว แต่กระบวนการแก้ไขปัญหากลับไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างไร กลับจะมีแผนนำเงินมาใช้ในการพัฒนาแหล่งน้ำในด้านต่าง ๆ อีกมากมายโดยไม่เคยสรุปบทเรียนและสร้างปัญหาใหม่ไปเรื่อย ๆ เปรียบเสมือนไม่สนใจปัญหาที่ชาวบ้านเรียกร้องปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อมายาวนาน ยิ่งสะท้อนให้เห็นความไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหาเลย
ถือว่าเป็นบทเรียนการเคลื่อนไหวของเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร ที่ยังดำเนินการเรียกร้องร้องให้รัฐเร่งรีบแก้ไขปัญหาที่เกิดจากนโยบายการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการโขง ชี มูลเดิม แต่ก็คงเป็นอีกก้าวแรกที่กระบวนการแก้ไขปัญหาเริ่มมองเห็นทิศทางร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะใช้ผลการศึกษาฯ มาร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกันของเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง.