สำหรับประเพณีฮีตสิบสองคองสิบสี่หรือประเพณีสิบสองเดือนที่ชาวไทยอีสานยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมานั้น ประเพณีหนึ่งในฮีตสิบสองคองสิบสี่ คือ การลอยกระทงที่นิยมที่จัดขึ้นในวันขึ้นสิบห้าค่ำ วันเพ็ญเดือนสิบสอง โดยมีความเชื่อว่าเป็นการขอขมาพระแม่คงคาและเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์ที่เชื่อกันว่าจำพรรษาอยู่ใต้มหาสมุทรมาร่วมในพิธีกรรมด้วย ประเพณีลอยกระทงเป็นทั้งประเพณีของไทยภาคกลางและเป็นทั้งประเพณีของคนไทยในแต่ละท้องถิ่น ในแต่ละภาคต่างมีวิถีการปฏิบัติและวิถีความเชื่อที่แตกต่างกันไป รศ.ดร.นิยม วงษ์พงศ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ม.ขอนแก่น กล่าวว่า สำหรับในภาคอีสาน ชาวอีสานจัดประเพณีลอยกระทงขึ้นเนื่องจากมีความเชื่อเรื่องการบูชาและขอขมาน้ำ หรือการบูชาพระแม่คงคาเช่นเดียวกันชาวภาคกลาง บูชาสมมาน้ำ คือ การขอขมาน้ำ คืนวันเพ็ญและประทีป เนื่องจากได้ใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังได้อัญเชิญ พระอุปคุตมาร่วมในพิธีกรรมด้วย โดยเฉพาะในปีนี้ที่ประเทศต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 การจัดงานสืบสานประเพณีที่เน้นความเรียบง่าย
มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงร่วมกันจัดกิจกรรม ในชื่อ "อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันงดงามแม้ในยามโควิด" ในงานประเพณีลอยกระทง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี 2563 ในวันเสาร์ ที่ 31 ตุลาคม 2563 ที่บึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบกับ กิจกรรมทำบุญตักบาตร พิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มหาพุทธชัยมังคลาภิเษกสมโภช หลวงพ่อพระศรี 50 ปี มข. พิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ"สำหรับแนวคิดประเพณีลอยกระทงในปีนี้ ยังคงยึดหลักอนุรักษ์วัฒนธรรมแม้ยามโควิด 19 คือความเรียบง่าย งดงาม เพียงพอ ตามวิถีอีสาน ซึ่งแต่ละปีไม่ต้องการจัดซ้ำ ทุกงานจะมีทั้งของเก่า ของใหม่ ที่สอดคล้องต้องกัน เพื่อให้เป็นภาพจำที่สวยงามของชาวขอนแก่น เมื่อคิดค้นจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า แต่เดิมทางอีสานไม่มีประเพณีลอยกระทง แต่จะมีประเพณีที่เรียกกันว่าใต้ประทีป โคมไฟ ที่จะจัดขึ้นช่วงหลังออกพรรษา ตามวัฒนธรรมอีสานล้านช้างบริเวณใดใกล้น้ำ จะมีการไหลเรือไฟ ส่วนพื้นที่ที่ห่างไกลจากลำน้ำจะมีประเพณีที่เรียกว่ากระทงโคกหรือกระทงบก โดยรากวัฒนธรรมอีสานพบว่าใกล้เคียงกับวัฒนธรรมของ สปป.ลาว ที่แต่เดิมเคยมีวัฒนธรรมนี้ แต่เลือนหายไป จึงคิดว่าน่าจะรื้อฟื้นให้วัฒนธรรรมนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง" รศ.ดร.นิยม กล่าว
สำหรับกระทงบกซึ่งจัดขึ้นปีนี้เป็นปีแรก เกิดจากความร่วมมือ ร่วมใจของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ได้ช่วยกันทำกระทงจำนวน 3,000 ดวง พร้อมกับตกแต่งประดับประดาบริเวณโดยรอบบึงศรีฐาน ปีหน้าทำให้ถึง 15,000 ดวง และขยายเป็นแสนดวงในปีถัดๆไป การจัดงานครั้งนี้ได้เน้นการส่งเสริมวัฒนธรรมอีสานและวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยได้กำหนดให้มีกิจกรรมทำบุญตักบาตร พิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มหาพุทธชัยมังคลาภิเษกสมโภช หลวงพ่อพระศรี 50 ปี มข. พิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ในวันเสาร์ ที่ 31 ตุลาคม 2563 เพื่อเป็นการรักษาสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมอันดีงาม ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม จึงกำหนดจัดกิจกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมแม้ยามวิกฤตภัยโควิด (งานประเพณีลอยกระทง ) ประจำปี 2563 อันเป็นอีกหนึ่งงานประเพณียิ่งใหญ่ของชาวจังหวัดขอนแก่นให้คงอยู่สืบไป