โรคมะเร็งกระดูก (Bone cancer หรือ Malignant bone tumor) เป็นโรคของเด็กโต วัย รุ่น และวัยหนุ่มสาว ช่วงอายุประมาณ 10-20 ปี แต่อาจพบในช่วงอายุอื่นๆได้บ้างทั้งในเด็กเล็กจนถึงในผู้สูงอายุ ซึ่งโรคมะเร็งกระดูกพบได้เพียงประมาณ 6% ของโรคมะเร็งในเด็กทั้งหมด ในสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยใหม่โรคนี้เพียงประมาณปีละ 650-700 ราย ทั้งนี้พบในเด็กชายได้บ่อยกว่าเด็กหญิงประมาณ 2-3 เท่า ส่วนในประเทศไทยช่วง พ.ศ. 2544-2546 พบโรคนี้ในเพศหญิง 0.8 รายต่อประชากรหญิง 100,000 คนต่อปี และพบในเพศชาย 1.1 รายต่อประชากรชาย 100,000 คนต่อปี
การป้องกัน "โรคมะเร็งกระดูก" ทางเพจเฟศบุ๊ก มูลนิธิหมอชาวบ้าน ได้ระบุไว้ดังนี้....
โรคมะเร็งกระดูก ภัยเงียบที่ไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ แบ่งได้ 2 ชนิด
- ชนิดแรก เกิดจากความผิดปกติภายในเซลล์ของกระดูกที่เป็นเนื้องอก ซึ่งถ้าเป็นเนื้อร้ายก็จะก่อให้เกิดมะเร็งกระดูก
- ชนิดที่สอง เกิดจากการแพร่กระจายของมะเร็งชนิดอื่นมาที่กระดูก ซึ่งมักเกิดกับผู้ป่วยที่มีประวัติการเป็นโรคมะเร็งของอวัยวะอื่นมาก่อน เช่น มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น
อาการของมะเร็งกระดูก
- อาการของก้อนที่โตขึ้นเรื่อยๆ จากกระดูก
- อาการปวด มีลักษณะเฉพาะ คือ อาการปวดตอนกลางคืน อาจจะทำให้ผู้ป่วยต้องลุกขึ้นขยับไปขยับมาแล้วอาการดีขึ้นจนกลับไปนอนได้ ซึ่งแตกต่างจากอาการปวดจากกล้ามเนื้ออักเสบ หรือจากข้อเคล็ดต่างๆ อาการปวดเหล่านั้นจะเป็นช่วงกลางวัน ช่วงที่ผู้ป่วยใช้งานบริเวณนั้นๆ ในเด็กเองอาจจะพบว่า เด็กมีอาการปวดมากขึ้นที่ไปวิ่งเล่นแล้วหกล้ม หรือว่าไปเตะฟุตบอลกับเพื่อนๆ แล้วมีอาการปวด โดยที่อาการปวดนี้ไม่หายไปในระยะเวลาอันสั้น แล้วสังเกตว่าตอนกลางคืนเป็นมากขึ้น
การรักษาผู้ป่วย ขึ้นกับชนิดและระยะของโรค มีตั้งแต่การให้ยาบรรเทาอาการปวด ยาเคมีบำบัด ยาต้านฮอร์โมน ยาลดแคลเซียมในเลือด ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดและช่วยให้กระดูกแข็งแรงขึ้น ส่วนการให้รังสีรักษาเป็นไปเพื่อหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเฉพาะตำแหน่ง ลดอาการปวด ช่วยให้ผู้ป่วยหายจากอาการอัมพาตในรายที่มะเร็งแพร่กระจายไปที่กระดูกสันหลัง
ผู้ป่วยที่เป็นมากและเป็นหลายตำแหน่งจะทำการฉายแสงรักษาเพื่อลดอาการปวด และหากพิจารณาพบว่าเกิดภาวะมะเร็งกระดูก ตำแหน่งที่รับน้ำหนักมาก เช่น กระดูกต้นขา แพทย์จะใช้วิธีผ่าตัดเอากระดูกที่เป็นโรคมะเร็งออก และทดแทนด้วยโลหะชนิดต่างๆ เพื่อเสริมความแข็งแรงของกระดูกที่ขา หรือทดแทนด้วยกระดูกที่นำไปฆ่าเชื้อมะเร็ง แล้วกลับมาใส่ใหม่ ด้วยวิวัฒนาการต่างๆ ทำให้เรารักษา ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเดินได้ตามปกติ
มะเร็งกระดูกแม้พบได้น้อย แต่เมื่อเป็นแล้วผู้ป่วยจะมีอาการทรุดอย่างรวดเร็ว หากพบความผิดปกติ เช่น มีก้อนบริเวณแขน ขา กระดูก ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของโรค และยังไม่มีการแพร่กระจายของมะเร็งไปที่อวัยวะอื่น สามารถรักษาหายขาดได้ จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตสูง มีคุณภาพชีวิตภายหลังการรักษาที่ดี