(6 สิงหาคม 2563) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า กล่าวเมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา ถึงข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 รวมถึงหลายพรรคการเมือง เห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 นั้น ยังไม่พอ แต่ต้องแทงที่กลางหัวใจ คือ แก้มาตรา 272 ห้าม ส.ว. แต่งตั้งเลือกนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ การแก้มาตรา 256 เป็นเพียงเปิดช่องทางให้ไปแก้รัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่การที่ให้ส.ว.ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร มาร่วมเลือกนายกฯนั้น ถือไม่เป็นประชาธิปไตย และเกิดปัญหาทำให้คนแตกแยก แบ่งฝั่งกันทั้งที่ไม่จำเป็นควรจะแก้ไข ซึ่งถ้ามองในแง่ "ปฏิบัตินิยม" การให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ร่วมลงมติเลือกนายกฯ ตามบทเฉพาะกาล 5 ปีแรก ถือเป็นกลไกที่ไม่มีความจำเป็น
อย่างไรก็ตาม เพราะบุคคลที่จะเป็นนายกฯ ต้องได้เสียงส.ส.มากกว่าครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร หากได้คะแนนเสียงไม่ถึงตามเงื่อนไขนี้ แล้วดันทุรังเอาเสียง ส.ว. มาดันตัวเองเป็นนายกฯ สุดท้ายจะเป็นนายกได้ไม่ถึง 1 เดือน ก็จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยแพ้โหวตจากสภาฯ เพราะเสียง ส.ส.ไม่พอ
"กรณีลงมติเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เสียง ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎร 251 เสียง ตามเงื่อนไขมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ตามหลักการอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายเผด็จการพิสดาร ใช้เสียง ส.ว.แต่งตั้งมาช่วย ก็สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ จึงเห็นว่า การให้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นกลไกที่ไม่มีความจำเป็น และไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง" เลขาธิการพรรคกล้า กล่าว
อย่างไรก็ตาม การให้ ส.ว. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี นอกจากไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตยแล้ว ยังไม่ตรงตามเจตนารมย์ของคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นประเด็นที่เพิ่มมาจากคำถามพ่วงประกอบการประชามติ ไม่ใช่ถ้อยคำที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ตั้งใจร่างไว้แต่แรก จนทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีตำหนิ ดังนั้น หากจะแก้รัฐธรรมนูญต้องแทงกลางใจ ด้วยการแก้ มาตรา 272 ไม่ให้ ส.ว. แต่งตั้งเลือกนายกฯ