วันที่ 3 ม.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีมีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า "Faii Sirirat" ได้ออกมาโพสต์เตือนภัยชาวโลกสังคมออนไลน์ ในกลุ่ม "Tak city" พร้อมข้อความระบุว่า "สวัสดีคะ พอดีซื้อปลาหมึกในร้านแห่งหนึ่งในจังหวัดตาก หากใครพบเห็นหมึกชนิดนี้ ไม่ควรรับประทานนะคะ หมึกชนิดนี้ชื่อว่าบลูริงค่ะ พิษของมันอันตรายถึงชีวิต ปีใหม่นี้ระวังกันด้วยนะคะ
ปล.ไม่ได้มีเจตนาทำให้ร้านเสียหาย แต่โพสต์เตือนให้คนซื้อสังเกตในการเลือกซื้อสินค้าคะ" ภายหลังมีการโพสต์เตือนภัยไปมีผู้ให้ความสนใจเข้ามาแสดงความคิดเห็นและแชร์ต่อเรื่องราวกันเป็นจำนวนมาก
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้เดินทางลงพื้นที่ไปตรวจสอบ ทราบว่าผู้ที่โพสต์เตือนภัยดังกล่าว คือ น.ส.ศิริรัตน์ แสงสี อายุ 22 ปี นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร สาขาวิชาพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลราชมงคลล้านนา พิษณุโลก พร้อมเปิดเผยเรื่องราวว่าก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2562 ที่ผ่านมา ตนเองได้กลับบ้านไปฉลองช่วงเทศกาลปีใหม่ที่บ้านเกิด จ.ตาก และเตรียมไปซื้อหาอาหารมารับประทานกันในครอบครัวเพื่อเฉลิมฉลองวันปีใหม่
โดยได้ไปซื้อกุ้ง ปลาหมึก ที่ร้านอาหารทะเลแห่งหนึ่งในตัวเมือง จ.ตาก โดยได้เลือกซื้อปลาหมึกมาประมาณ 10 ตัว เป็นเงินจำนวน 180 บาท แต่ก็ไม่ได้เอะใจอะไร แต่เมื่อนำกลับมาประกอบอาหารช่วงเย็นและล้างทำความสะอาดเอาไส้ปลาหมึกออก
พบว่ามีปลาหมึกอยู่หนึ่งตัวที่มีความผิดปกติ คือ ตามตัวมีจุดวงแหวนสีน้ำเงินคล้ายกับเป็นปลาหมึกพิษสายวงน้ำเงินที่เคยดูในสารคดีสัตว์โลกใต้น้ำ จึงรีบไปเปิดหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตปรากฏว่าเป็นชนิดเดียวกันที่ชื่อว่า "ปลาหมึกบลูริง"
ด้วยความเป็นห่วงกลัวว่าจะมีลูกค้าซื้อไปบริโภคก่อนหน้านี้จะเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะปลาหมึกชนิดนี้มีพิษร้ายแรงกว่างูเห่าถึง 20 เท่า ทำลายระบบประสาทอาจเสียชีวิตทันทีอย่างฉับพลัน จึงไปโพสต์เตือนภัยในกลุ่มสังคมออนไลน์ดังกล่าว
พร้อมกับโทรบอกที่ร้านที่ซื้อมาว่าพบปลาหมึกมีพิษ ซึ่งทางร้านอาหารทะเลก็ขอโทษ แต่ตนอยากให้ตรวจสอบให้ดีก่อนจะนำมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคอีกด้วย ซึ่งครั้งแรกตนเองยังไม่ทราบจึงได้ลองจับดูก็พบว่าแสบๆ ร้อนๆ ที่มือก็รู้สึกหวาดผวาจึงนำไปทิ้งทั้งหมดไม่นำมารับประทานแต่อย่างใด
ดังนั้น จึงขอฝากเตือนไปถึงผู้บริโภคให้เพิ่มความระมัดระวังและสังเกตเป็นพิเศษ หากพบเจอปลาหมึกมีลักษณะเช่นนี้ หรือให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบทันทีเพื่อหาแนวทางการป้องกัน และคาดว่าปลาหมึกพิษชนิดนี้อาจจะหลุดมากับปลาหมึกทั่วไปของชาวประมงที่ออกเรือจับมาขายตามท้องตลาด ซึ่งก็จะพบเจอได้เป็นส่วนน้อยอีกด้วย