โฆษกกระทรวงกลาโหม แจง แนวคิดการยกเลิกเกณฑ์ทหาร ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะกระทรวงกลาโหม ก็มีแนวทางแบบค่อยเป็นค่อยไป ระบุที่ผ่านมาคนสมัครใจยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงเร็วเกินไปที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบใหม่
พลโท คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าว ถึงกรณีการนำเสนอแนวคิดการยกเลิกการเกณฑ์ทหารของบางพรรคการเมือง และเสนอพัฒนากองทัพให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมประเทศอื่น โดยการใช้เทคโนโลยีใหม่ทดแทนกำลังพล ว่า ในภาพรวมถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี กองทัพก็พร้อมเปิดกว้างรับแนวคิดต่างๆมาปรับปรุงสู่การเปลี่ยนแปลงให้มีความทันสมัยขึ้น ผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ด้วยกลไกรัฐสภา เนื่องจากเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับและเสถียรภาพความมั่นคงของประเทศในภาพรวม
ทั้งนี้ การเสนอแนวคิดการยกเลิกเกณฑ์ทหาร และสรรหากำลังพลด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นแนวทางการปฏิรูประบบงานกำลังพลระยะยาวที่กระทรวงกลาโหม มีอยู่เดิม โดยมีแผนงานต่อเนื่องในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาระบบกำลังสำรองและการฝึกวิชาทหาร / การดำเนินงานตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.2497 ได้มีการปรับปรุงให้ทันสมัยต่อเนื่องมา ทำให้กองทัพสามารถบริหารจัดการระบบการเข้าประจำการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านความมั่นคง โดยใช้การผสมผสานระหว่างระบบการเกณฑ์และระบบสมัครใจควบคู่กันไป
ซึ่งที่ผ่านมา สถิติผู้สมัครใจเข้าเป็นทหาร ยังมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของกองทัพในแต่ละปี เช่นเดียวกับหลายประเทศที่เคยยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ก็กำลังเตรียมผลักดันให้กลับมามีการเกณฑ์ทหารเช่นเดิม โดยเฉพาะประเทศในยุโรป เนื่องจากยังไม่สามารถสร้างแรงจูงใจเยาวชนให้เข้าเป็นทหารได้มากเท่าที่จำเป็น และมองว่าเป็นโอกาสที่คนหนุ่มสาวจะได้ทำประโยชน์คืนแก่ประเทศและสังคม อีกทั้งเชื่อว่าเป็นความภาคภูมิใจของทุกคน
ดังนั้นในภาพรวม จึงเร็วเกินไปที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบดังกล่าว โดยจำเป็นต้องศึกษาถึงผลกระทบด้านความมั่นคงและประเด็นปัญหาต่างๆอย่างรอบด้าน เช่น การขาดแคลนกำลังพลสำรองซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นกำลังทางยุทธศาสตร์ของระบบเตรียมความพร้อมของประเทศยามวิกฤต / การเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการพลทหารซึ่งเป็นเรื่องดี แต่อาจเป็นปัญหาภาระงบประมาณของประเทศระยะยาว ซึ่งอาจมีผลเชื่อมโยงต่อการปรับขยายฐานเงินเดือนและสวัสดิการของข้าราชการระดับต่างๆทั้งประเทศในอนาคต
อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงเวลารับราชการ ซึ่งจะมีผลให้พลทหารมีอายุมากขึ้นและมีช่วงอายุห่างกันมาก (21-40 ปี) อาจเป็นปัญหาต่อขีดความสามารถของกำลังพลโดยรวม และโอกาสทางอาชีพหลังปลดประจำการ โดยเฉพาะการเรียกเกณฑ์ ในเวลาที่จำกัดยามที่อาจเกิดสงคราม จะมีผลอย่างมากต่อระบบความพร้อมรบของประเทศในภาพรวม อีกทั้งการกำหนดบทนิรโทษกรรม จะกระทบต่อหลักนิติธรรม ความเท่าเทียมกันและเป็นช่องทางของการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และที่สำคัญต้องไม่ขัดกันในข้อกฎหมาย เรื่องสิทธิและหน้าที่
พลโท คงชีพ ยอมรับว่า กองทัพยังมีความกังวลอยู่บ้าง ต่อการนำเรื่องความมั่นคงไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองผ่านกิจกรรมต่างๆ ด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและครบถ้วน อาจสร้างความสับสนและความเข้าใจผิดกับสังคมได้ พร้อมเชื่อว่า การทำงานการเมืองแบบใหม่ที่ผ่านบทเรียนร่วมกันโดยปราศจากอคติ มองผลประโยชน์ส่วนรวมและประเทศชาติเป็นเป้าหมายร่วมกัน ผ่านกลไกในวิถีประชาธิปไตย จะทำให้สามารถหาทางออกที่สมประโยชน์ร่วมกันได้ในทุกเรื่อง