svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

แผ่นดินทองคำระอุ! จับตา​ 'สุริยะ'​ ปิดดีลเหมืองทองก่อนเดือน​ พ.ย.

ถ้าในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ซึ่งเคยใช้ม. 44 ปิดเหมืองทอง ตอนเป็นคสช. สู่ยุครัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง จะมีนโยบายเดินหน้าเรื่องเหมืองทองคำอย่างไร จะเข้าทางที่ว่า "เขียนด้วยมือลบด้วยเท้า" หรือไม่?

1 มกราคม ปี 2560 เหมืองทองคำ บริษัท อัครารี ซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ต้องหยุดประกอบ โลหกรรม หลังมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปิดเหมืองทองทั่วประเทศ

เป็นอันยุตินโยบายแร่ทองคำ 12 จังหวัด หลังจากเกิดปมความขัดแย้งในพื้นที่ แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิสูจน์ว่าผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และสุขภาพที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านรอบเหมือง มีที่มาจากเหมืองทองหรือไม่แต่ก็มีข้อมูลหลากหลายด้าน

แต่คำสั่งม. 44 ปิดเหมืองทอง ก็เกิดขึ้น ด้วยปัญหาหลักคือ 'ความขัดแย้ง' ในพื้นที่ ทว่าการใช้อำนาจพิเศษปิดเหมืองในครั้งนั้น นำมาสู่การฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เกี่ยวกับผิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย- ออสเตรเลีย ทำให้เหมือนทองได้รับความเสียหาย จนเป็นที่มาของค่าโง่เหมืองทองที่รัฐอาจต้องจ่ายเพราะการใช้อำนาจพิเศษนี้หรือไม่

นักวิชาการ วิเคราะห์ว่า การต่อสู้กันในชั้นอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศนั้น 'ไทย' มีข้อเสียเปรียบ ส่วนหนึ่งจากการใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ทั้งๆที่การปิดเหมืองทองที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม สามารถใช้กฎหมายธรรมดาที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติแร่ หรือพระราชบัญญัติการสาธารณสุข ในการยุติกิจกรรมของบริษัทเหมืองทอง

แต่กลับไม่ใช้กฎหมายดังกล่าว เลือกใช้อำนาจพิเศษจากหัวหน้าคณะปฏิวัติแทน ซึ่งอาจดูไม่มีความชอบธรรมมากนัก ในสายชาวโลก

หากไทยแพ้ในชั้นอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ให้กับบริษัทคิงเกต ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจต้องเสียค่าโง่ครั้งใหญ่อีกครั้งซึ่งว่ากันว่ามีมูลค่าถึง "3 หมื่นล้านบาท"

หลังการเลือกตั้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เราได้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ จากพรรคพลังประชาชน เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกลเพราะเคยนั่งในตำแหน่งนี้มาแล้วในสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร และเป็นผู้ออกอาชญาบัตรพิเศษและประทานบัตรเหมืองหลายแปลง เรื่อง 'เหมือง' เหมือนจะเป็นงานที่คุ้นมือของนายสุริยะเป็นอย่างดี

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ท่ามกลางภาวะ 'เศรษฐกิจตกต่ำ' กระทรวงเศรษฐกิจหลากหลายกระทรวง พยายามใช้กลไกที่มีอยู่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีตัวเลขเติบโตขึ้นเดินไปข้างหน้า ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม เห็นได้ชัดว่าผลักดัน EEC เต็มสูบ.เร็วๆนี้ก็จะไฟเขียวถมทะเลเพื่อก่อสร้างท่าเรือ มาบตาพุด อีกเป็นพันไร่ จากแนวโน้มการเดินหน้าอุตสาหกรรมหนัก พื้นฐานหลายอย่าง ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ เป็นไปได้ว่าเหมืองทองอาจเป็นหนึ่งในความคิดของ "สุริยะ" ที่จะเดินหน้าต่ออย่างแน่นอน

แต่อย่าลืมว่า 'กรณีเหมืองทอง' มีความซับซ้อนกว่าโครงการใหญ่โครงการอื่นๆ ปัญหามากมายที่ยังคาราคาซัง และยังไม่ได้รับข้อพิสูจน์ มากกว่าปัญหาผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ก็ยังมีปัญหาเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นที่ภาคประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำยื่นหลักฐานเข้าไปต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือป.ป.ชให้ตรวจสอบสินบนข้ามชาติ และก็ยื่นไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษในเรื่องของการทำเหมืองแร่นอกพื้นที่ประทานบัตร บนถนนสาธารณะ ยังรวมไปถึงการขออาชญาบัตรทับที่ทำกินของชาวบ้านในหลายแหล่ง ที่อยู่บนสายแร่ทองคำ

ต่างๆเหล่านี้ยังรอคอยการพิสูจน์ความชัดเจนว่าใครถูกหรือใครผิด ซึ่งกลุ่มชาวบ้านที่เดินหน้าคัดค้านเรื่องนี้บอกว่าหน่วยราชการ ดำเนินการสืบสวนสอบสวนเรื่องอย่างล่าช้า และพบความไม่ชอบมาพากลหลายประการ

ถ้าในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ซึ่งเคยใช้ม. 44 ปิดเหมืองทอง ตอนเป็นคสช. สู่ยุครัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง จะมีนโยบายเดินหน้าเรื่องเหมืองทองคำอย่างไร จะเข้าทางที่ว่า "เขียนด้วยมือลบด้วยเท้า" หรือไม่?

คงจะได้เห็นกันก่อนเดือน 'พฤศจิกายน' นี้ แน่นอน เพราะช่วงเวลานั้นจะเป็นนัดแรกของการต่อสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัทคิงเกตต่อกรณีการปิดเมืองทอง

ถ้าการเจรจาเกิดขึ้นจริง และมีการเดินหน้าเหมืองทองคำ หลายคนอาจคิดว่าสิ่งที่ 'พลเอกประยุทธ์' จะต้องทำอย่างแรกก็คือยกเลิก 'ม.44 ปิดเหมืองทอง' ที่เคยมีไปก่อนหน้านี้ หรือไม่? ตอบเลยว่า ยังกฎหมายอีกตัวที่เปิดช่องทำเหมือง นั่นคือ... พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 ฉบับใหม่ 'นายสุริยะ' ระบุ ให้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษได้ และเป็นไปตามนโยบายทองคำ...

ในช่วงระยะเวลา 2-3 เดือนหลังจากนี้ แผ่นดินทองคำจะกลับมาร้อนระอุ อีกครั้ง! ห้ามกระพริบตาเลยทีเดียว

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #Vajiravit #VajiravitDaily #Nation #NationTV