อาหารไทยได้รับความนิยมอย่างมากสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทย และต้องการรับประทานอาหารที่ขึ้นชื่อของจังหวัด ทำให้ผู้ประกอบร้านอาหาร โรงแรมและภัตตาคารในแต่ละจังหวัด ต้องสรรหาเมนูเด็ดที่เป็นสัญลักษณ์จังหวัดของตนเองมานำเสนอ และที่สำคัญต้องมีเอกลักษณ์ของอาหารไทย บวกกับรสชาติถูกปากนักท่องเที่ยว ดังนั้นการพัฒนาทักษะในการประกอบอาหารให้มีรสชาติที่อร่อย และมีการบริหารจัดการด้านต้นทุน จึงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อผู้ประกอบการ ล่าสุดกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงเห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะกลุ่มพ่อครัว- แม่ครัว รวมถึงเชฟตามโรงแรม ให้เข้าใจและสามารถบริหารจัดการในส่วนของครัว ทั้งด้านการจัดการวัตถุดิบ จนถึงการบริหารบุคลากรในห้องครัวได้ด้วย
สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ (สพร.19 เชียงใหม่) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ร่วมกับชมรมพ่อครัว-แม่ครัวเชียงใหม่ (Chiang Mai Chefs Club) เปิดโครงการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวเพื่อรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ด้วยการยกระดับทักษะฝีมือ พ่อครัว-แม่ครัว แผนกผู้ผลิตอาหาร (Food Production) ซึ่งเปิดคอร์สให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการในห้องครัว ในสาขาเดมี-เชฟ (Demi-Chef) ระยะเวลาการฝึก 30 ชั่วโมง มีผู้เข้าอบรมแล้วจำนวน 27 คน เรียนรู้การบริหารจัดการภายในครัว อาทิ การดูแลควบคุมการสั่งวัตถุดิบ
เชฟสมบูรณ์ ชัยลังกา อายุ 69 ปี ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาชมรมพ่อครัว แม่ครัวเชียงใหม่ มีประสบการณ์ด้านอาหารกว่า 50 ปี เล่าว่า การฝึกสาขาเดมี-เชฟ ในครั้งนี้เป็นรุ่นแรก เพื่อเพิ่มทักษะให้กับเชฟ และพ่อครัว แม่ครัว ในโรงแรมหรือร้านอาหาร ให้มีความรู้ด้านการบริหารจัดการในห้องครัว ตั้งแต่การจัดการวัตถุดิบ การคิดต้นทุน เพื่อคำนวณราคาอาหารต่อจาน วางแผน เตรียมการ และจัดแสดงบริการอาหารบุฟเฟ่ต์ และอาหารประเภทอื่นๆ ตลอดจนการบริหารบุคลากรในห้องครัว ตำแหน่งเดมีเชฟ เป็นเสมือนหัวหน้าขั้นต้น เตรียมพร้อมเพื่อก้าวขึ้นในเชฟที่สูงขึ้นอีกระดับ
นางสาวดลนภา รัศมี (คุณปุ๊) อายุ 35 ปี เล่าว่า เป็นผู้รับการฝึกเตรียมเข้าทำงานของ สพร.19 เชียงใหม่ ในสาขาเบเกอรี่ ผู้ประกอบอาหารไทย และผู้ประกอบอาหารยุโรป ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ North Hill City Resort ในตำแหน่ง เดมี-เชฟ ปุ๊บอกว่าโชคดีที่ได้เข้าอบรมกับ สพร.19 เชียงใหม่ ทำให้ได้รับโอกาสในการทำงาน เพราะโรงแรมรับเข้าทำงานทันทีหลังจากฝึกงานเสร็จ สำหรับการฝึกอบรมในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเพิ่มเติมความรู้อีกขั้นหนึ่ง จากเชฟที่มีประสบการณ์ เพราะจริงๆ แล้ว เรื่องการปรุงอาหารเราได้รับการฝึกมาแล้ว แต่การแก้ปัญหาต่างๆ และการบริหารในห้องครัว มีงานหลายด้านมาก ได้พัฒนาตัวเอง เพื่อให้ได้มีโอกาสก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าหรือเป็นเชฟอีกระดับหนึ่ง ซึ่งนั่นหมายถึงรายได้ที่มากขึ้นด้วย
นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การฝึกอบรม สาขาเดมี-เชฟ จะช่วยยกระดับฝีมือพ่อครัว-แม่ครัว ไม่เพียงรสชาติของอาหารเท่านั้น แต่ยังได้เรียนรู้วิธีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การทำงานเป็นทีมของกลุ่มคนในครัว เพื่อให้การจัดการต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน www.dsd.go.th หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 หรือ กองสื่อสารองค์กร 0 2245 4035"