svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

บริคณห์สนธิครอบจักรวาล โทษประหารว่าที่ ส.ส.?

การตรวจสอบจากสังคมอย่างหนักหน่วง และการตอบโต้จากผู้ถูกตรวจสอบแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ว่าด้วยข้อเท็จจริงเรื่องการโอนหุ้นกิจการสื่อสารมวลชนของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคสีส้ม ทำให้เกิดประเด็นแตกหน่อต่อยอดไปมากมาย โดยเฉพาะประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการถือครองหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชน

ประเด็นสำคัญที่กำลังถูกพูดถึงอย่างมากคือการตรวจสอบการถือครองหุ้นสื่อ มีปัญหาทั้งในเชิงข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง เพราะผู้สมัคร ส.ส.ที่ถูกตรวจสอบบางรายอ้างว่า บริษัทที่ตนเองถือหุ้นอยู่นั้นไม่ได้ประกอบกิจการเกี่ยวกับสื่อสารมวลชนจริงๆ เพียงแต่ตอนยื่นขอจดแจ้งก่อตั้งบริษัทกับกระทรวงพาณิชย์ จะมีแบบฟอร์มมาให้กรอกเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การประกอบกิจการ พูดง่ายๆ คือ "รูปแบบธุรกิจ" ซึ่งมีอยู่ในแบบฟอร์มเป็นเอกสารอยู่แล้ว 22 รูปแบบ รวมถึงกิจการสื่อสารมวลชนด้วย

ฉะนั้นแม้จะไม่ได้ประกอบกิจการสื่อสารมวลชนจริงๆ แต่ในบริคณห์สนธิก็จะมีแนบเอกสารแบบฟอร์มที่ว่านี้ กลายเป็นว่าแทบทุกกิจการที่จดแจ้งตั้งบริษัทจะมีวัตถุประสงค์อยู่ข้อหนึ่ง คือประกอบธุรกิจสื่อสารมวลชน หนังสือพิมพ์ และสิ่งพิมพ์ด้วย

เรื่องนี้เข้าไปดูได้ง่ายๆ ที่หน้าเว็บของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพราะสมัยนี้เขาโหลดเอกสารเตรียมจดแจ้งก่อตั้งบริษัทแบบออนไลน์ได้อย่างสะดวกสบาย จากหน้าหลัก เมื่อคลิกต่อไปที่หน้าการจดทะเบียนตั้ง "บริษัทจำกัด" จะพบเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่คำขอจัดตั้งบริษัท, หนังสือบริคณห์สนธิ, รายละเอียดวัตถุที่ประสงค์ พูดง่ายๆ คือวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการ มีแยกย่อยเป็นกิจการพาณิชยกรรม ธุรกิจบริการ กิจการอุตสาหกรรม หัตถกรรม และอื่นๆ

เมื่อลองคลิกเข้าไปดูหัวข้อ "รายละเอียดวัตถุที่ประสงค์ประกอบกิจการ" จะเจอหน้ากระดาษว่างๆ ที่ต้องวัตถุประสงค์เข้าไปเองเป็นข้อๆ ส่วนหัวกระดาษจะมีช่องให้เติม "ชื่อบริษัท" กับ "ทะเบียนเลขที่" เอกสารนี้เรียกว่า "แบบ ว." ไม่มีตัวเลขกำกับ

ส่วนเอกสารตัวปัญหาที่กำลังพูดถึงกันอยู่ คือเอกสาร "แบบ ว.1" เป็นเอกสารเกี่ยวกับ "รายละเอียดวัตถุที่ประสงค์ประกอบพาณิชยกรรม" คือการประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ทั่วๆ ไป เอกสารของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะเขียนวัตถุประสงค์รวมๆ มาให้ 22 ข้อ เช่น ประกอบกิจการค้าข้าว ค้าผัก ผลไม้ วัสดุก่อสร้าง ฯลฯ โดยกิจการหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ สื่อมวลชน อยู่ในข้อ 17 ซึ่งเป็นข้อเดียวกับการประกอบกิจการค้ากระดาษ แบบเรียน เครื่องเขียน จะเห็นได้ว่าเขียนไว้ครอบจักรวาล

โดยมากทนายที่ปรึกษาการเปิดบริษัทจะแนะนำให้ผู้ที่จะก่อตั้งบริษัทแจ้งวัตถุประสงค์ให้ครอบจักรวาลเอาไว้ก่อน เพื่อที่ว่าในอนาคตจะได้ไม่ต้องขออนุญาตเพิ่มเติมอีก (ซึ่งต้องแก้บริคณห์สนธิ ต้องมีการประชุมกรรมการบริษัท ขั้นตอนยุ่งยาก)

ฉะนั้นเวลาเขายื่นจดทะเบียนตั้งบริษัทกันจริงๆ ก็จะยื่นเอกสาร "แบบ ว.1" คือวัตถุประสงค์รวมๆ แนบไปด้วยกับ "แบบ ว." ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์จริงๆ ของบริษัทนั้นๆ เขียนเพิ่มเข้าไป เป็นข้อ 23-24-25 ว่าไป และจำนวนวัตถุประสงค์เป็นข้อๆ นี้เอง จะไปปรากฏในหนังสือ "บริคณห์สนธิ"

จุดนี้เองทำให้มีการตีความจากผู้สมัคร ส.ส.หลายคนว่า หากกิจการที่ตนเองประกอบการจริงๆ ไม่ได้เป็นกิจการสื่อสารมวลชนก็ไม่ต้องโอนหรือขายหุ้นให้บุคคลอื่น ยังสามารถถือครองหุ้นต่อไปได้ เพราะถ้ายึดเอาเฉพาะวัตถุประสงค์รวมๆ ตามเอกสารของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าก็จะเข้าข่ายถือหุ้นสื่อแทบจะทุกราย (เฉพาะที่ยื่นประกอบกิจการพาณิชยกรรมเท่านั้น ถ้าเป็นกิจการบริการ อุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ก็จะไม่มีวัตถุประสงค์เรื่องทำสื่อ)

ล่าสุดเริ่มมีกระแสออกมาเรียกร้องให้ศาลหรือองค์กรอิสระที่รับผิดชอบ ร่วมกันวางบรรทัดฐานให้ชัดเจนว่าการถือครองหุ้นกิจการสื่อสารมวลชนต้องเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อสารมวลชนจริงๆ เท่านั้นหรือไม่ หรีอจะพิจารณาเฉพาะจาก "บริคณห์สนธิ" หรือ "เอกสารการก่อตั้งบริษัท" แต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งถ้ายึดเฉพาะบริคณห์สนธิที่มีวัตถุประสงค์การประกอบกิจการแบบครอบจักรวาลเอาไว้ ก็น่าจะกระทบกับผู้สมัครจำนวนมาก

"ล่าความจริง" สอบถามความเห็นเรื่องนี้กับอดีตผู้พิพากษาท่านหนึ่ง ท่านยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ให้คำตอบยากอยู่เหมือนกันว่าจะยึดตามบริคณห์สนธิ หรือการประกอบกิจการจริง และต้องดูว่าความผิดฐานนี้ต้องมีเจตนาหรือเปล่า เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายคือป้องกันผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใช้สื่อเป็นเครื่องมือ หรือครอบงำสื่อเพื่อสร้างความนิยมให้ตัวเอง ฉะนั้นถ้าเป็นบริษัทที่จดทะเบียนไว้เฉยๆ แต่ยังไม่ได้ประกอบกิจการสื่อสารมวลชน แม้จะระบุวัตถุประสงค์ในบริคณห์สนธิก็น่าจะยังไม่มีเจตนาใช้สื่อเป็นเครื่องมือ เพราะยังไม่ได้ทำจริงๆ

แต่อีกด้านหนึ่งก็เกิดคำถามได้เหมือนกันว่าถ้าไม่ยึดตามบริคณห์สนธิแล้วจะให้ยึดตามอะไร เพราะการจดทะเบียนตั้งบริษัทด้วยวัตถุประสงค์ครอบจักรวาลก็อาจมองได้ว่าผู้ขอจดแจ้งตั้งบริษัทมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ตั้งแต่แรก ตีขลุมเผื่อไว้ก่อนเพื่อความสะดวกสบายของตนเอง ถ้าแบบนี้การผ่อนปรนก็อาจจะเข้าทางพวกหัวหมอ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการยื่นจดทะเบียนเอง น่าจะมีความเสี่ยงว่าผิดมากกว่าคนที่ไปซื้อหุ้นต่อมา เพราะคนที่ซื้อต่ออาจไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วบริษัทจดแจ้งวัตถุประสงค์อะไรไว้บ้าง แต่ตัวคนก่อตั้ง หรือเจ้าของกิจการเองต้องทราบแน่ๆ

ประเด็นนี้ถือว่าอ่อนไหวและต้องรอองค์กรที่เกี่ยวข้องชี้ขาดเพื่อวางบรรทัดฐานที่ชัดเจน
คอลัมน์... ล่าความจริง.. พิกัดข่าว โดย... ปกรณ์ พึ่งเนตร