ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ หรือ กนอ.สมจิณณ์ พิลึกระบุว่า รูปแบบการลงทุนก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่าลงทุน 55,400 ล้านบาท เป็นแบบ PPP หรือรัฐร่วมลงทุน กับเอกชนที่ลงทุนก่อสร้างและดำเนินการทั้งหมด โดย กนอ. จะให้เงินร่วมลงทุน 12,900 ล้านบาท หรือ 30% และเอกชนลงทุน 35,000 ล้านบาท
ในส่วนของ กนอ. ที่ร่วมลงทุน 12,900 ล้าน แบ่งจ่ายให้กับเอกชนเป็นรายปีปีละ 660 ล้านบาทเป็นเวลา 30 ปี สำหรับเงินส่วนนี้ จะเป็นค่าใช้จ่ายในการถมทะเลจำนวน 1,000 ไร่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ 10.8 ล้านตัน/ปี และสินค้าเหลว 4 ล้านตัน/ปี ให้เป็นท่าเรืออุตสาหกรรมในระดับภูมิภาค โดยหลังการรับฟงัความคิดเห็นสนวันนี้ จะสามารถออกหนังสือชี้ชวนหรือ TOR ได้ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาม คาดว่าจะได้เอกชนผู้ร่วมทุนลงทุนในเดือน มกราคม ปี 2562 และจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2568
อย่างไรก็ตาม จากกรณีการถมทะเลจำนวน 1000 ไร่นั้น กนอ.ได้ จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ครบแล้วทั้ง 3 ครั้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยยืนยันว่าการหาเอกชนมาร่วมทุนทั้งๆที่ EHIA ยังไม่ผ่านนั้นจะไม่ทำให้เกิดปัญหาเพราะยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง
สำหรับกลุ่มเอกชนที่ในความสนใจโครงการ คือกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่าเรือของเหลว กลุ่มผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง สถาบันการเงิน เป็นตัน ทั้งนี้ตัวแทนจาก บมจ.ปตท. โกลบอล เคมีคอล ตั้งคำถามในเวทีสัมมนาว่า ความต้องการซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว ไม่เป็นตามที่ผลการศึกษาคาดไว้ ผู้รับสัมปทาน สามารถทำธุรกิจอย่างอื่นได้อีกหรือไม่
ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรม บอกว่า วันที่ 8 ตุลาคม นี้ จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนที่สนใจมาพูดคุยแบบ one on one หรือ ตัวต่อตัวกับการนิคมอุตสาหกรรมได้