"นวัตกรรมเพื่อการทำฟาร์มกวางสมัยใหม่ เป็นโครงการวิจัยครบวงจร มีนวัตกรรมที่เกิดจากการวิจัยและทดลองใช้จริงในฟาร์ม ผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้ว เราจะนำส่วนที่ลองถูกไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรที่สนใจ โดยที่พวกเขาไม่ต้องมาเริ่มต้นใหม่"
รศ.ดร.มณี อัชวรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาคเขตร้อน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยเผยระหว่างนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูงานวิจัยฟาร์มกวางครบวงจร โดยฟาร์มกวางแห่งนี้ตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 210 ไร่ ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2545 หรือ 16 ปีที่แล้ว ด้วยการนำผลการวิจัยพื้นฐานที่เป็นองค์ความรู้ ทั้งการเลี้ยงกวางที่มีมาตรฐาน การผลิตอาหารชนิดต่างๆ เพื่อเลี้ยงกวาง การบริหารจัดการฟาร์มกวาง การเพิ่มผลผลิตลูกกวางที่แข็งแรง มีคุณภาพ การขยายสายพันธุ์กวางใหม่ให้เหมาะสมกับการเลี้ยงในภูมิประเทศในประเทศไทย รวมทั้งศึกษาคุณค่าทางโภชนาการของเขากวางอ่อนและผลของเขากวางอ่อนต่อสิ่งมีชีวิต ก่อนนำองค์ความรู้จากงานวิจัยเหล่านี้ไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรและชุมชนรอบฟาร์ม
"ในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ฟาร์มกวางมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ดำเนินการอบรมถ่ายทอดผลจากการวิจัยให้แก่เกษตรกร ปีละ 2 ครั้ง ทำให้เกิดเครือข่ายฟาร์มกวางมหาวิทยาลัย มีสมาชิกทั่วประเทศเกือบ 200 รายและชาวบ้านในพื้นที่อีก 12 ราย ที่มีความสนใจในการทำธุรกิจฟาร์มกวาง นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ชาวบ้านรอบๆ ฟาร์มปลูกหญ้าเนเปียร์เป็นอาชีพเสริมรายได้ส่งให้แก่ฟาร์มเพื่อเป็นอาหารของกวาง"
หัวหน้าโครงการวิจัยฯ เผยต่อว่าฟาร์มกวางแห่งนี้ปัจจุบันมีกวางอยู่ในความดูแลประมาณ 1,000 ตัว ประกอบด้วย 3 สายพันธุ์ได้แก่ รูซ่า ซิก้าและกวางแดง กวางเหล่านี้นอกจากใช้ในงานวิจัยแล้วยังเพาะพันธุ์เพื่อจำหน่ายแก่เกษตรกรที่สนใจนำไปเลี้ยงเป็นอาชีพสร้างรายได้แล้ว ยังให้คำปรึกษาด้านการลงทุน วิธีการเลี้ยงกวาง การสร้างผลผลิตจากการเลี้ยงกวาง การตลาด และเทคโนโลยีในการทำธุรกิจ เพื่อประหยัดเวลาและเงินลงทุนของเกษตรกรที่จะต้องลองผิดลองถูกในการเลี้ยง โดยฟาร์มกวางมหาวิทยาลัยรามคำแหง จะคอยเป็นพี่เลี้ยงให้แก่เกษตรกร เป็นการลดต้นทุนในการลงทุนของเกษตรกรอีกทางหนึ่ง
รศ.ดร.มณียังกล่าวถึงนวัตกรรมเพื่อการทำฟาร์มกวางสมยัใหม่ที่เป็นไฮไลท์สำคัญประกอบด้วย โครงการ "การใช้คุณค่าทางโภชนาการกับสัณฐานวิทยาของเขากวางอ่อนในระบบสามมิติเพื่อกำหนดต้นทุนมาตรฐานเขากวางอ่อน" เนื่องจากเครือข่ายฟาร์มกวางมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่มีสมาชิกเลี้ยงกวางมักจะมีคำถามว่าเมื่อตัดเขากวางเพื่อขายเขากวางอ่อน การตลาดเป็นอย่างไร โครงการนี้ศึกษาความสัมพันธ์ของลักษณะรูปแบบของเขากวางอ่อนแบบต่างๆ กับคุณค่าทางโภชนาการ 50 รายการในเขากวางแต่ละแบบ ใช้นวัตกรรมเพื่อกำหนดมาตรฐานว่าเขากวางอ่อนรูปร่างลักษณะแต่ละแบบมีคุณค่าทางโภชนาการทั้ง 50 รายการเป็นอย่างไรเพื่อใช้ในการกำหนดราคาซื้อขายเขากวางอย่างยุติธรรมและคงที่ให้แก่เกษตรกร ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ ทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีโรงเรือนจัดการกวางเคลื่อนที่ เป็นการวิจัยและพัฒนาโดย ผศ.พรชัย วงศ์วาสนา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ม.รามคำแหง เพื่อสร้างนวัตกรรมโรงเรือนจัดการกวางเคลื่อนที่ (Mobile Deer Crush) สำหรับใช้ในการให้บริการตัดเขากวางแก่เกษตรกรในภูมิภาคต่างๆ โดยทางฟาร์มกวางมหาวิทยาลัยรามคำแหงพัฒนา Deer Crush ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะจับยึดกวางให้อยู่นิ่งในรูปแบบของโรงเรือนจัดการเคลื่อนที่ รวมถึงคิดค้นรูปแบบของคอกเลี้ยงกวางที่สามารถรองรับรถโมบายให้สามารถเข้าจัดการกวางภายในคอกกวางของเกษตรกรได้สะดวก ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิก และเป็นการลดต้นทุนการลงทุนสร้างคอกเลี้ยงในการดำเนินธุรกิจฟาร์มกวางของเกษตรกรด้วย
ขณะเดียวกันยังมีโครงการปลูกพืชอาหารสัตว์สำหรับฟาร์มกวางสมัยใหม่ ผลงานวิจัยของ อ.ยิ่งยศ เมฆลอย เป็นการผลิตหญ้าเนเปียร์สำหรับเลี้ยงกวาง โดยศึกษาสภาพการขาดน้ำต่อผลผลิตและคุณภาพของหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 เปรียบผลผลิตและคุณภาพของหญ้าเนเชปียร์ปากช่อง 1 ระหว่างการใส่ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ การใช้อาหารหมักชนิดต่างๆ ต่อการเลี้ยงกวางและการใช้พืชป่าหรือพืชในท้องถิ่นเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงกวาง โดยศึกษาความชอบกินและองค์ประกอบทางเคมีของพืชป่าและพืชพื้นเมือง สามารถหมุนเวียนนำมาใช้เป็นพืชอาหารได้ทั้งปี กวางมีพืชอาหารที่หลากหลายช่วยลดปริมาณการใช้อาหารข้น ลดต้นทุนด้านการผลิตอาหารและช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารหยาบในฤดูแล้ง
ส่วนนวัตกรรมจากมูลกวาง ภายใต้ความคิดของเสียเป็นศูนย์ ผลงานของ รศ.ดร.เสรีย์ ตู้ประกาย จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.รามฯ นั้น เป็นการผลิตอิฐดินประสานผสมมูลกวางที่เป็นวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตรมาเป็นมวลรวมผสมแทนที่ดินลูกรังในการผลิต เมื่อทดสอบคุณสมบัติทางวิศวกรรมและเปรียบเทียบตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มผช.602/2547 พบว่ามูลกวางมีลักษณะเป็นเส้นใยและมีค่าพีเอช(pH) เป็นกลาง ไม่ส่งผลกระทบต่อการเกิดปฏิกิริยาไฮเดรชั่นและอิฐดินซีเมนต์ที่ผสมมูลกวางร้อยละ 2.5 สามารถต้านทานแรงอัดได้ที่ 126.27 ksc ซึ่งสูงกว่ามาตรฐาน มผช.602/2547 ที่กำหนดให้มีค่าต้านทานแรงอัดได้ไม่น้อยกว่า 25.48 kcs และมีการดูดกลืนน้ำไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน มผข.602/2547 ซึ่งขณะนี้อยู่ใระหว่างการทดลองก่อนจะผลิตสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป
และที่ขาดไม่ได้คือการประยุกต์ใช้เซลล์แสงอาทิตย์สำหรับการจ่ายพลังงานไฟฟ้าในฟาร์มกวางเพื่อลดต้นทุนการใช้ฟ้า โดย รศ.ดร.ศิศีโรตม์ เกตุแก้ว อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์เช่นกันที่ออกแบบการใช้ระบบพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ตามลักษณะของฟาร์มกวางเป็น 15 กิโลวัตต์ แบ่งแนวการติดตั้งเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 ติดตั้งตรงกรงกวางหน้าฟาร์ม 5 กิโลวัตต์ โดยนำพลังงานไฟฟ้าจ่ายให้ปั๊มน้ำและเครื่องผสมอาหาร ส่วนที่ 2 ติดตั้งตรงกรงกวางหลังฟาร์ม 5 กิโลวัตต์ จ่ายพลังงานไฟฟ้าให้ปั๊มน้ำ 2 เครื่องเพื่อนำไปรดน้ำในแปลงหญ้า และส่วนที่ 3 ติดตั้งตรงห้องแช่เย็น 5 กิโลวัตต์ โดยนำพลังงานไฟฟ้าจ่ายให้แก่ระบบทำความเย็น เมื่อวัดค่าพลังงานไฟฟ้าและค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนก่อนทำการติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ฟาร์มกวางจ่ายค่าไฟฟ้า 10,392 บาทต่อเดือน แต่เมื่อทำการติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์แล้วฟาร์มกวางจ่ายไฟฟ้าเพียง 6,765 บาทต่อเดือน ซึ่งสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 3,626 บาทต่อเดือน เป็นการลดปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าและลดภาวะโลกร้อนด้วย
สุดท้ายเป็นการวิจัยพัฒนาเนื้อดินปั้นเซรามิกจากเขากวางแข็ง โดย อ.เอกสิทธิ์ ชาตินทุ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ เป็นการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและแร่ธาตุจากเขากวางแข็งหลังผ่านกระบวนการทางความร้อน 1,200 องศาเซลเซียส เพื่อขับไล่สิ่งเจือปนออก ทดสอบการให้สีของเนื้อดินปั้นเซรามิกจากเขากวางแข็งมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในงานด้านเซรามิกได้เนื้อดินปั้นเซรามิกที่สามารถเพิ่มความขาวและโปร่งแสงให้แก่เนื้อผลิตภัณฑ์เซรามิก มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
นับเป็นอีกก้าวของนวัตกรรมการเลี้ยงกวางสมัยใหม่ครบวงจร โดยสถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาคเขตร้อน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เป็นผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดโครงการสื่อมวลชนสัญจรชม "นวัตกรรมเพื่อการทำฟาร์มกวางสมัยใหม่" จ.สุโขทัย เพื่อเผยแพร่ผลงานไปสู่สาธารณชนได้รับทราบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) เปิดเผยว่า วช.ในฐานะเลขานุการร่วมสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวนช.) ได้สนับสนุนชุดโครงการวิจัยบูรณาการนวัตกรรมเชิงประจักษ์เพื่อพัฒนาต่อยอดการทำฟาร์มกวางสู่การเกษตรสมัยใหม่ แก่โครงการวิจัย เรื่อง นวัตกรรมเพื่อการทำฟาร์มกวางสมัยใหม่ ภายใต้แผนบูรณาการ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรสมัยใหม่ แก่ ดร.มณี อัชวรานนท์ และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยรามคำแหง ผ่านงบประมาณแผ่นดิน ประจำปี 2561 และเป็นผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลแพลตินัม อวอร์ด ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของงานให้แก่โครงการวิจัยดังกล่าว ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2561 (Thailand Research Expo 2018) ที่ผ่านมา ผลงานวิจัยนวัตกรรมเพื่อการทำฟาร์มกวางสมัยใหม่ เป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรที่สนใจในธุรกิจการเลี้ยงกวางเชิงพาณิชย์ และเป็นการต่อยอดการทำฟาร์มกวางสู่การเกษตรสมัยใหม่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอนและมั่นคง เกษตรกรหรือผู้สนใจเยี่ยมชมนวัตกรรมฟาร์มกวางสมัยใหม่ติดต่อได้ที่สถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาคเขตร้อนม.รามคำแหง โทร.0-2310-8694 ในวันและเวลาราชการ