svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

"ทหารรับใช้" หน้าที่ที่ขัดต่อความคาดหวังประชาชน

"รบกับหญ้า ฆ่ากับมด" คือคำตอบติดตลกที่มักคู่กับคำถามที่ว่าเกณฑ์ทหารแล้วได้รับใช้ชาติอย่างไร ซึ่งกลายเป็นภาพสะท้อนความคิดของคนในเรื่องนี้ และยิ่งมีข่าวทหารเกณฑ์รายหนึ่งระบายความอัดอั้นใจผ่านโลกออนไลน์ หลังจากถูกทหารชั้นผู้ใหญ่ให้ไปเลี้ยงไก่ชน โดยเล่าว่าได้รับการปฏิบัติที่โหดร้ายเกินกว่าคนทั่วๆ ไปจะรับได้ หากวันไหนเลี้ยงไก่ไม่ดีก็จะถูกโวยวาย ด่าทอ ลามไปถึงคนในครอบครัว บางครั้งถึงขั้นทำร้ายร่างกายจนเจ็บช้ำ


ก่อนหน้าเมื่อปี 2558 ก็มีกรณีพลทหารบุกศูนย์บริการประชาชนที่ทำเนียบรัฐบาล มาพร้อมล้อรถยนต์ที่ล่ามโซ่ไว้กับตัว โดยระบุว่าถูกนายทหารนอกราชการลงโทษ เพราะทำงานไม่ถูกใจ จึงมาร้องเรียนขอความเป็นธรรมที่นายกฯ แถมล่าสุดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์ถาพแชทไลน์ โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งของภรรยานายทหารใหญ่ที่สั่งพลทหารรับใช้ เป็นตารางงานประจำวันทั้งเช็ดรถ กวาดบ้าน ถูบ้าน ตั้งแต่ 06.00- 18.00 น.



แน่นอนว่าพอเรื่องนี้เป็นข่าวออกมาเหล่าทหารคนโตต่างเทกแอ็กชั่นกันยกใหญ่ อย่างกรณีนายทหารเลี้ยงไก่ ที่ทางกองทัพบกก็ระบุว่าตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้แล้ว หรือ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมเอง ก็พยายามจะบอกว่า เป็นการยืมตัวเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้ลบภาพของชายผมสั้นเกรียนสวมชุดเสื้อยืดสีเขียวตัดหญ้าที่บ้านนายสักเท่าไหร่ ซึ่งขัดกับสิ่งที่ทหารพยายามบอกสังคมว่าการเข้ารับเกณฑ์ทหารถือเป็นการรับใช้ชาติอย่างหนึ่ง เป็นกองกำลังเพื่อเตรียมรับใช้ชาติในยามศึกสงคราม ยามสงบก็ฝึกตนเพื่อให้มีความพร้อมอยู่เสมอ



เอาจริงๆ สำหรับเหตุการณ์นี้มีคำอธิบายว่า "ทหารรับใช้" หรือเรียกอย่างซอฟต์ว่า "ทหารบริการ" ที่บางคนก็เล่าว่า ตำแหน่งนี้ถือเป็นที่หมายปองจากทหารเกณฑ์อย่างมาก เนื่องจากการไปอยู่บ้านนายบางครั้งอาจจะสบายกว่าอยู่ในกรม ที่ได้ทำงานสบาย ตัดหญ้า ทำความสะอาดบ้าน ขับรถให้ สบายกว่าการฝึกอยู่ในกรม แถมยังได้เงินเดือนแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยจริงๆ ไม่ถูกหักค่าต่างๆ บางทีถ้าได้นายใจดีก็ มีเงินพิเศษเพิ่มตอนที่กลับบ้าน เรียกว่าสมประโยชน์กันไป



แต่รายไหนโชคร้ายก็จะถูกใช้งานหนักตั้งแต่เช้าจนเย็น บางคนอาจต้องไปบริการช่วยเหลือภรรยาและลูกนายทหารใหญ่ บางรายอาจต้องถูกคำด่าทอ เมื่อทำงานไม่ถูกใจนาย ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการเสี่ยงดวงจริงๆ ว่าจะได้อยู่กับนายที่มีลักษณะนิสัยแบบไหน

นอกจากนี้ยังมีสื่อที่อธิบายเรื่องทหารรับใช้ในมุมที่สนุกน่าติดตาม อย่างละคร "ผู้กองยอดรัก" ที่พระเอกเป็นทหารเกณฑ์ไปเป็นทหารประจำตัวผู้บังคับบัญชา (หรือทหารรับใช้) ที่มีเรื่องชุลมุนมากมายจนได้พบรักกับทหารหญิงยศร้อยเอก และจบด้วยแฮปปี้เอนดิ้งในที่สุด แน่นอนว่าภาพแบบนี้ก็ดูสนุกไม่น้อย

แต่ทั้งหมดแล้วไม่ว่าจะชุดคำอธิบายไหนๆ ก็ไม่สามารถจะทำให้สังคมรู้สึกพอใจกับโจทย์ที่ว่าเป็นทหารต้องรับใช้ชาติ หรือช่วยเหลือประชาชนในยามทุกข์ยาก สมกับวลีที่ว่า "เป็นรั้วของชาติได้" อีกทั้งข่าวการทารุณกรรมพลทหารรับใช้นั้นก็ยังเป็นการสะท้อนลึกๆ แล้วว่า ยังมีซอกหลืบหนึ่งของทหารผู้ใหญ่บางคน หรือคนใกล้ตัวของพวกเขา ถูกฝังด้วยแนวคิดเรื่องของคนไม่เท่ากัน หรือการไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นคน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สวนกระแสของสากลในปี 2018 ที่เน้นเรื่องความเสมอภาค เท่าเทียม และถือเป็นวาระสำคัญ ที่ควรตระหนักเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกัน



ว่าง่ายๆ ก็คือ ทหารบริการประจำบ้านทหารชั้นผู้ใหญ่ ต่อให้พยายามอธิบายอย่างไร ไม่ใช่การทำหน้าที่ที่ตอบโจทย์ของทหารเกณฑ์ตามที่สังคมคาดหวัง แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎหมาย หรือกฎหมายห้ามเอาไว้ก็ตามที

และถ้าดูจากการคำให้สัมภาษณ์ของรมว.กลาโหมแล้ว ก็ยังไม่เห็นแววจะยกเลิกระบบทหารบริการแน่นอน อาจจะมีการเลี่ยงใช้คำเป็นการยืมตัว การไหว้วาน หรือข้อตกลงวินวินทั้งสองฝ่ายกันไป แต่ไม่ว่าจะทำวิธีไหน ถ้ายังมีข่าวฉาวเรื่องการทำรุณทหารเกณฑ์ หรือใช้งานเกินสมควร ออกมาให้เห็นบ่อยๆ ต่อให้อธิบายยังไง หรือจะใช้หลักคิดของทหารที่ว่าต้องเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาเท่านั้น ก็คงไม่อาจห้ามคำวิจารณ์ของประชาชนในยุค 4.0 ได้ ที่ขยายวงกว้างได้เพียงปลายนิ้ว

ก็น่าสนใจว่ากองทัพจะมีการปรับภาพลักษณ์ในเรื่องนี้อย่างไร หรือจะมีแนวทางทำอย่างไรให้วลี "รบกับหญ้า ฆ่ากับมด" จะหมดไปจากสังคม เพื่อให้ภาพลักษณ์ของการเกฑ์ทหารเปลี่ยนไปบ้าง หรือจะปล่อยให้เรื่องนี้เงียบๆ ไป แล้วรอการวิจารณ์ใหม่ๆ ออกมา แน่นอนว่า เรื่องนี้ถ้าปล่อยไว้ไม่ได้ส่งภาพลักษณ์ที่ดีต่อทหารแน่นอน