ภายในงานมีพิธีมอบธงขาวดาวเขียว ให้แก่สถานประกอบการ หรือโรงงาน จำนวน 110 แห่ง จาก 26 นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ และมีกิจกรรม CSR DAY: Mini Walk Rally เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรม CSR ต่างๆของ กนอ.ผ่านการร่วมกิจกรรมมากมาย อาทิ Thai Kid Spacer หรืออุปกรณ์ช่วยพ่นยาสำหรับผู้ป่วยโรคหืดและระบบทางเดินหายใจ กิจกรรมการบริจาคโลหิต ตลาดชุมชนสุขใจ การออกบูธจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าชุมชน การแสดงพื้นบ้านของชุมชน การแสดงของเยาวชนฑูตอารยสถาปัตย์ กิจกรรมโบกธงอารยสถาปัตย์ หรือ Friendly Design และการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการต่างๆ เป็นต้น
ดร. วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม (ธงขาวดาวเขียว) เป็นโครงการที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย โดยส่งเสริมให้ภาคประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและกำกับดูแลการประกอบกิจการและการบริหารการจัดการโรงงานบนพื้นฐานของความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งได้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2550 ในนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง และในปี 2552 ได้ขยายพื้นที่ดำเนินการในนิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการบนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อยกระดับการบริหารการจัดการโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
"โครงการธงขาวดาวเขียว หรือโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม เป็นความร่วมมือกันระหว่าง กนอ. กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม และชุมชนรอบนิคมฯ โดยมีการเปิดเผยข้อมูลด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงงาน พร้อมทั้งส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ อันเป็นกลไกหลักในการสร้างความร่วมมือที่ดีของชุมชน เพื่อร่วมกันรักษาระดับมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและเป็นมาตรฐานสากล อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ" ผู้ว่า กนอ.กล่าว
ส่วนเรื่องอารยสถาปัตย์ หรือ Friendly Design หลักการออกแบบที่เป็นสากล เป็นธรรม และเป็นมิตรกับคนทั้งมวลนั้น ดร.วีรพงศ์ บอกว่า กนอ.ได้นำหลักการอารยสถาปัตย์มาใช้ในการปรับปรุง และพัฒนาตึกอาคาร สำนักงาน สถานประกอบการต่างๆในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 56 แห่งทั่วประเทศอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง โดยได้มีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนอารยสถาปัตย์ในการนิคมฯซึ่งตนเป็นประธาน เพื่อเป้าหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมมีอารยสถาปัตย์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และคนที่ใช้รถเข็น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาตรา 33 และมาตรา 35
"อารยสถาปัตย์เป็นสิ่งที่จำเป็น และเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยเฉพาะการรองรับสังคมผู้สูงวัย และการส่งเสริมสิทธิความเสมอภาคของผู้พิการ อารยสถาปัตย์เป็นเสมือนสะพานที่เชื่อมต่อกับโอกาสในการเข้าถึงแหล่งงาน ให้คนพิการสามารถเดินทางไปทำงานได้ สร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัวได้เหมือนคนปกติธรรมดาทั่วไป กนอ.จึงส่งเสริมอารยสถาปัตย์เพื่อสังคมมาโดยตลอด" ผู้ว่า กนอ.กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มถึงสิ่งที่ได้ดำเนินการมา ในการร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมาย "ไทยแลนด์ 4.0" ด้วยแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอีกต่อไป