ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เผยถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้ประมาณ 2.7% โดยไตรมาส 4/2567 จีดีพีจะขยายตัวได้ 4% จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และการขยายตัวของการส่งออก แต่ในปี 2568 นั้น ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า จีดีพีจะขยายตัว 2.9% แต่แนวโน้มยังคงมีความไม่แน่นอนสูง โดยมีความเสี่ยงที่โน้มเอียงไปในทิศทางขาลง ซึ่งทางไอเอ็มเอฟคงจะนึกถึงการชนะการเลือกตั้งของประธานาธิบดีทรัมป์ และความเสี่ยงของภูมิรัฐศาสตร์
ปี 2568 เป็นปีไม่ง่ายสำหรับเศรษฐกิจ โดยมีความท้าทายของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก และมองเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องที่ 2.9% โดยโมเมนตัมยังมีต่อเนื่องปลายปี 2567 ถึงครึ่งปีแรกปี 2568 อีกทั้งมีแรงหนุนจากภาคท่องเที่ยว การส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งงบลงทุนและเร่งเบิกจ่ายถึงครึ่งปีแรกปีหน้า จากปัจจุบันมีงบค้างท่ออยู่มาก ทำให้ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจเติบโตดี แต่ที่ห่วงคือในครึ่งปีหลังที่แรงส่งเศรษฐกิจมีน้อยลง ทั้งจากการดำเนินนโยบายของ “ทรัมป์” รวมถึงแรงกระตุ้นภาคการคลังที่จะลดลงในครึ่งหลังปี 2568 เพื่อลดการขาดดุลให้ลดลง ทำให้การใช้งบของรัฐบาลเริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ครึ่งปีหลังฟื้นตัวไม่ดี
รวมทั้งการกระตุ้นช่วงหลังมาจากแรงกระตุ้นการคลังที่ลดลง ดังนั้น อาจเห็นนโยบายการคลังครึ่งปีหลังถอยลงทำให้นโยบายการเงินขึ้นมาเป็นกองหน้าด้วยการลดดอกเบี้ยไม่ฉะนั้นการพลิกฟื้นเศรษฐกิจอาจสะดุด เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกระท่อนกระแท่นมาก ภาคการเงินตึงตัว และภาคคลังเริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น การใช้งบจะเห็นน้อยลงเพื่อลดขาดดุลทำให้แรงกระตุ้นเศรษฐกิจหายไปในครึ่งปีหลัง ซึ่งทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ต่อเนื่อง
ดังนั้น แม้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ไม่เห็นด้วยที่จะลดดอกเบี้ย แต่เมื่อกลางปีจำนนด้วยหลักฐานทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ กนง.อาจต้องลดดอกเบี้ยไปอีก และนักวิเคราะห์บางส่วนมองดอกเบี้ยที่ระดับ 1.50%
สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินที่อยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ยืดหยุ่น (Inflation targeting) มีกรอบเงินเฟ้อ 1-3% ค่ากลางที่ 2% แต่หากดูกรอบเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมา เงินเฟ้อเฉลี่ย 1% เท่านั้น และปี 2567 เงินเฟ้อจะอยู่ที่ 0.3-0.4% ดังนั้น เงินเฟ้อต่ำกว่าเป้ามานาน ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์มองว่าส่วนนี้คือ “นโยบายการเงินที่ตึงตัวเกินไป”
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ย 2.25% และเงินเฟ้อที่ 0.3-0.4% ดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยอยู่ที่ 2% ถือว่าสูงมาก และการที่เงินเฟ้อไม่เคยใกล้ 2% มองว่าดอกเบี้ย 2% เป็นระดับสูงเกินไป โดยในภาวะต่างประเทศหรือสหรัฐไม่ลดอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า แต่หากไทยลดดอกเบี้ยลง สิ่งที่น่ากลัวที่สุดที่ตามมา คือ เงินบาทอ่อนค่า
สุดท้ายแล้ว มองว่าการดำเนินนโยบายการเงินของไทยภายใต้เป้าหมายเงินเฟ้อและคุมด้วยดอกเบี้ยบน Inflation Targeting ดังนั้น ต้องปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าและผันผวนขึ้น เช่นเดียวกับสิงคโปร์ที่ใช้นโยบายการเงินผ่านการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน โดยยอมให้เงินเฟ้อผันผวนเพื่อคุมอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นเมื่อเลือกใช้นโยบายด้านหนึ่งต้องยอมแลกที่จะปล่อยอีกด้าน ไทยไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องกลัวเงินเฟื้อ เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้อของจีนที่อยู่ระดับต่ำ ทำให้เงินเฟ้อของไทยอยู่ระดับต่ำไปด้วย ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องกลัวเงินบาทอ่อนค่า หากอ่อนแล้วยังเอื้อต่อการส่งออก ก็เชื่อว่าไม่ได้เสียหาย
ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างภาษีของภาครัฐจะทำได้ 2 อย่าง คือ 1.การเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งเป็นฐานภาษีที่ค่อนข้างใหญ่ แต่การเก็บภาษีดังกล่าวจะมีข้อเสีย คือ คนรวยและคนจนต้องจ่ายอัตราเท่ากัน แม้ว่าจะเก็บในอัตรา 10% ถือว่าค่อนข้างสูง เพราะไทยอยู่ในภาวะที่หนี้ครัวเรือนค่อนข้างสูง รัฐจึงจะต้องคิดว่าจะสามารถเก็บภาษีระหว่างคนรวยและคนจนได้อย่างไร 2.ภาษีนิติบุคคล หากมีการเก็บค่อนข้างสูงจะทำให้คนหรือธุรกิจไม่อยากลงทุน และหากผลตอบแทนไม่เติบโตจะทำให้รัฐเก็บภาษีไม่ได้ แต่ความหวังของรัฐบาลต้องการให้จีดีพีเติบโต เพื่อให้มีเงินมาช่วยเหลือคนจน ครึ่งหลังเราเริ่มเห็นนโยบายการคลังเริ่มถอยหลัง โทนดาวน์ลง ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจนโยบายการคลังทำได้ 2 วิธี คือ การใส่เงินเพิ่ม และการลดภาษี โดยรัฐก็ต้องดูว่างบประมาณขาดดุลมากหรือน้อย แต่ได้มีการส่งสัญญาณจากรัฐมนตรีคลังว่าจะลดการขาดดุล ซึ่งจะทำผ่านการลดภาษีและลดค่าใช้จ่าย
สำหรับการสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้า มองไทยจะต้องหาจุดแข็งในเซ็กเตอร์ที่มี เช่น ทุเรียน ที่มีความต้องการสูงโดยภาครัฐไม่ต้องสนับสนุน ซึ่งจะเห็นว่าวันนี้ยอดขายทุเรียนใกล้เคียงยอดขายเท่ากับข้าว โดยมองว่าจุดแข็งของไทย คือ อาหาร รวมทั้งจีนเป็นจุดอ่อน ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่จะหาจุดอ่อนของจีน ซึ่งวันนี้จีนเป็นผู้นำเข้าอาหารมากที่สุด และจะเป็น Net Import Food ตลอดไป นอกจากนี้ ไทยยังมีเรื่องท่องเที่ยว และธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ (Wellness) ที่สะท้อนผ่านหุ้นโรงพยาบาลที่มีมูลค่าสูงเป็นการบอกถึงการเติบโตของธุรกิจในอนาคต
นอกจากนี้ การลดกฎเกณฑ์การทำธุรกิจและการสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้อยู่รอดหรือปรับโครงสร้างธุรกิจ รวมถึงการจัดการด้านพลังงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่สนับสนุนการเติบโตของไทยได้ คำถามวันนี้จะขุดเจาะน้ำมันกับกัมพูชา หรือการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หรือการสร้างโรงงานนิวเคลียร์ อาจจะต้องเริ่มคิดว่าเพราะใช้เวลาในการสร้างถึง 10 ปี ซึ่งค่อนข้างดีกว่าการอุดหนุนราคาน้ำมันที่ต้องแบกหนี้มหาศาล
สำหรับอุตสาหกรรมที่ยังคงเผชิญความท้าทายในปี 2568 ยังคงเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ถูกกดดันจากรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งใช้ชัพพลายเชนน้อยชิ้นกว่ารถยนต์สันดาป ดังนั้น อุตสาหกรรมนี้จะโดนดาวน์ไซด์ และอาจจะต้องเหนื่อยต่อไปอีก 3-5 ปี ขณะที่อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งธปท.ต้องการพยายามทำกระบวนการลดหนี้ ซึ่งปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่สูงระดับ 90% ทำให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อใหม่และแก้หนี้เก่า ซึ่งจะเห็นการทำแบบนี้ต่อเนื่องไปอีก 3 ปี