จากกรณีที่ทางคณะครูและนักเรียนวิทยาลัยนาฎศิลปเชียงใหม่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรมนำเอกสารเดินทางไปแจ้งความที่ สภ.เมืองแพร่เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2561เพื่อให้ตรวจสอบดร.กษมา ประสงค์เจริญผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ และนางเพียงแข จิตรทอง รองผู้อำนวยการฝ่ายศิลปวัฒนธรรมวิทยาลัยนาฎศิลปเชียงใหม่ในข้อหาเบิกเงินเบี้ยเลี้ยงโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมด้านนาฏศิลป์ ระหว่างวันที่ 15-17 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมาโดยมีการปลอมแปลงเอกสารและปลอมลายมือชื่อนักเรียนจำนวน 6 คน ที่เข้าแจ้งความ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการเข้าร้องเรียน ไปยัง ปปช. และศูนย์ดำรงธรรมแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภายหลังคณะครูและนักเรียน เดินทางกลับจากการแจ้งความที่ สภ.เมืองแพร่ปรากฎว่ามีการส่งหนังสือถึงผู้ปกครองให้เข้ามาพบ อ้างเหตุผลว่านักเรียนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมาได้มีการกักตัวนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 พร้อมยึดโทรศัพท์ เพื่อพูดคุยเรื่องการที่มีนักเรียนเดินทางไปแจ้งความที่ จ.แพร่ โดยกักตัวไม่ให้กลับบ้านตั้งแต่เลิกเรียนจนถึงเวลาประมาณ 21.00น. จึงปล่อยให้กลับบ้าน
ล่าสุดเมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 2 ก.พ.ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังวิทยาลัยนาฎศิลปเชียงใหม่เพื่อติดตามเรื่องดังกล่าวแต่ได้รับการปฏิเสธไม่ให้เข้าไปภายในบริเวณของสถาบัน พร้อมทั้งปิดประตูและนำกระดาษมาปิดหน้าประตู บุคคลภายนอกห้ามเข้า พร้อมทั้งให้นักเรียนทั้งหมดเดินทางเข้าไปในโรงละครเพื่อประชุมพูดคุยกับเด็ก ในขณะที่บริเวณด้านหน้าสถาบัน มีกองทัพผู้สื่อข่าวและผู้ปกครอง รออยู่ด้านหน้าสถาบัน และไม่อนุญาตให้เข้าไปภายในสถาบัน ต่อมาภายหลังได้อนุญาตให้ผู้ปกครองเข้าไปได้ แต่ยังไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าทำข่าว
แหล่งข่าวจากวิทยาลัยนาฎศิลปเชียงใหม่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรมเปิดเผยว่า ก่อนที่จะเดินทางไปแจ้งความที่ สภ.เมืองแพร่ ได้ร้องเรียนเข้าไปที่สถาบันฯ ในส่วนกลาง ตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม.2560 ในเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร ใช้อำนาจโดยมิชอบและใช้อำนาจหน้าที่ สั่งการให้เจ้าหน้ารับภาระงานที่ไม่ตรงกับตำแหน่ง ทางสถาบันฯได้ส่งนิติกรเข้ามาสอบสวนและได้รับคำตอบให้ดำเนินการแจ้งต่อศาลอาญา ปปช.และศูนย์ดำรงธรรม แต่เรื่องยังไม่มีความคืบหน้า
สำหรับเรื่องที่เดินทางไปแจ้งความที่สภ.เมืองแพร่นั้น สืบเนื่องมาจากฝ่ายศิลปวัฒนธรรม สถาบันฯ ขออนุมัติจัดบรรเลงดุริยางค์ การแสดงนาฏศิลป์และการละเล่นพื้นบ้าน เนื่องในงาน 6 ทศวรรษยาตราเมืองแพร่ วันที่ 15-17 มี.ค.2560 ณ จ.แพร่ จึงขออนุมัติให้ผู้มีรายชื่อดังคำสั่งข้างต้นเดินทางไปปฏิบัติราชการ การเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมในวันเวลาดังกล่าว และสถานที่ดังกล่าว มีรายชื่อครูและนักเรียน จำนวน 74 คน แต่มีเอกสารเซ็นชื่อรับเงินจำนวน 100 คน รวมมูลค่าเงินประมาณ 150,000 บาท ที่ผ่านมามีการร้องเรียนไปหลายเรื่องกรณีที่มีการปฏิบัติงานอย่างไม่โปร่งใส ทั้งเรื่องการการปลอมแปลงเอกสารการเบิกจ่ายโดยมิชอบขณะนี้อยากให้ทางสถาบันฯ ในส่วนกลางพิจารณานำผู้บริหารคณะออกไปทั้งหมดและส่งผู้บริหารใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน เนื่องจากไม่ต้องการให้ผู้บริหารกลุ่มนี้อยู่บริหารงานต่อไป
ล่าสุดทางตัวแทนผู้ปกครองเด็กนักเรียนที่อยู่ในรายชื่อ รับเงินที่ถูกแอบอ้าง ได้เดินทางมาพบกับผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวภาคเหนือ เครือเนชั่นเนื่องจากเกิดความไม่สบายใจ ในกรณีดังกล่าวและอยากร้องเรียนให้ทางผู้บริหารวิทยาลัยนาฎศิลปเชียงใหม่ ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงในกรณีที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดความกระจ่าง
นางชญานิษฐ์ เอี่ยมสอาด ผู้ปกครองนักศึกษาระดับปริญญาตรี 2 คน ที่อยู่ในรายชื่อดังกล่าว เปิดเผยว่า หลังจากทราบเรื่องว่า บุตรสาวของตนทั้ง 2 คนอยู่ในรายชื่อดังกล่าว ทั้งที่ในวันเวลานั้น บุตรสาวเรียนตามปกติในวิทยาลัย โดยไม่ได้เดินทางไปร่วมในกิจกรรมแต่อย่างใด จึงเกิดความไม่สบายใจ ว่าในอนาคตจะส่งผลกระทบกับบุตรสาวของตนหรือไม่ โดยเฉพาะทั้งเรื่องของการปลอมแปลงเอกสาร ทุจริตและการรับเงินโดยมิชอบ โดยบุตรสาวของตนถูกแอบอ้างชื่อและไม่มีส่วนรู้เห็นแต่อย่างใด และไม่ทราบว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เกิดเป็นครั้งแรก หรือว่าได้มีการประพฤติมิชอบมาแล้วหลายครั้ง อยากได้รับความกระจ่างในเรื่องนี้
กระนั้นต้องการให้ทางวิทยาลัยนาฎศิลปเชียงใหม่ หรือ ดร.กษมา ประสงค์เจริญ ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ ทำการชี้แจงให้ชัดเจน ให้กับผู้ปกครองเด็กที่ไม่ได้ไปร่วมงาน แต่กลับมีรายชื่อปรากฏ ซึ่งใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการประพฤติมิชอบหรือไม่ ส่วนจะนำเงินไปใช้ประโยชน์ หรือเกิดปัญหาด้านการเงินในส่วนใดหรือไม่ รวมทั้งฝ่ายใดผิด ฝ่ายใดถูกนั้นทางผู้ปกครองไม่ได้ติดใจแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการความชัดเจนและไม่อยากให้ส่งผลต่อบุตรหลานของตนในอนาคต รวมทั้งเมื่อสามารถระบุความผิดได้แล้ว ก็อยากให้มีการพิจารณาโทษและพัฒนาให้ทางวิทยาลัยนาฎศิลปเชียงใหม่ มีระบบ ระเบียบที่มีมาตรฐานมากขึ้น
นอกจากนั้น ตามปกติแล้วบุตรสาวทั้ง 2 คน ได้มีการร่วมกิจกรรม การแสดงอยู่บ่อยครั้ง ตลอดหลายปีการศึกษา ที่ได้เรียนวิทยาลัยนาฎศิลปเชียงใหม่แต่เดิมการแสดงแต่ละครั้ง เด็กที่ร่วมกิจกรรมจะได้รับเงินค่าจ้างเบี้ยเลี้ยง เป็นเงิน 300 บาท ทุกงานตายตัวเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมายาวนาน แต่นับตั้งแต่ทีมบริหารชุดใหม่มาบริหารนำโดย ดร.กษมา ประสงค์เจริญ ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ เป็นปีที่ 2 หรือปี2554 ค่าเบี้ยเลี้ยงเด็ก เริ่มลด เหลือ 200 และ 100 บาท ในเวลาต่อมา และบางครั้งก็ไม่มีค่าเบี้ยเลี้ยง โดยอ้างว่าเป็นงานฟรี โดยไม่เคยชี้แจงว่าได้รับค่าจ้าง หรืองบประมาณค่าดำเนินการแสดงจากผู้จ้างมาเท่าไหร่
ในการแสดงแต่ละครั้ง เด็กที่ร่วมกิจกรรม ล้วนต้องมีค่าใช้จ่ายไม่เพียงแต่ค่าเสียเวลา ค่าเหนื่อยแล้ว ยังมีค่าเดินทาง ค่าเครื่องสำอาง และค่าอาหาร ซึ่งแท้จริงแล้วผู้ปกครองไม่ได้ติดใจที่เงินค่าจ้างค่าเบี้ยเลี้ยงแต่อย่างใด เนื่องจากถือว่าเป็นค่าประสบการณ์ที่ดีแก่เด็กเอง แต่เพียงเกิดความสงสัยว่าค่าจ้างลดลงจริง หรือเกิดการทุจริต หรือนำเงินไปโดยมิชอบหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยมีเอกสารรายละเอียดค่าจ้าง ค่าเบี้ยเลี้ยง เป็นหลักฐาน รวมทั้งไม่เคยชี้แจงความเป็นไปเลยแม้แต่ครั้งเดียว ไม่เพียงเท่านั้นบางกิจกรรมยังมีการเรียกเก็บเงินจากเด็กและผู้ปกครองเพิ่มอีกด้วย
ด้านนางยุวดี หัสดี ครูชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยนาฎศิลปเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ทราบภายหลังว่า ทีมจัดงานที่จังหวัดแพร่ การแสดงนาฏศิลป์และการละเล่นพื้นบ้าน เนื่องในงาน 6 ทศวรรษยาตราเมืองแพร่ วันที่ 15-17 มี.ค.2560 ณ จ.แพร่ ที่เกิดเรื่องนั้น ได้มีการจัดเตรียมสถานที่ และอาหาร ไว้ให้ และยังมีการเบิกจ่ายเงิน 150,000 บาท สำหรับนักเรียนผู้แสดงและครู จำนวน 100 คน ทั้งที่ไปจริงแค่ประมาณ 74 คน หลายคนที่ไม่ได้ไปร่วมงานกลับมีชื่อและลายเซ็น ระบุว่ารับเงินแล้วอีกด้วย บางคนมีรายชื่อซ้ำในเอกสารอีกด้วย
"ส่วนตัวเห็นว่าการบริหารงานของผู้บริหารกลุ่มนี้ไม่มีความโปร่งใส่ และไม่มีความชัดเจน ที่ผ่านมาได้ร้องเรียนเข้าไปยังสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม ในส่วนกลาง ในเรื่องใช้อำนาจโดยมิชอบ และมีการปลอมแปลงเอกสารในการเดินทางไปปฏิบัติราชการพิเศษต่างจังหวัด โดยการสร้างหลักฐานเพื่อเบิกจ่าย ซึ่งในความเป็นครูไม่ควรกระทำอย่างยิ่งเป็นการทำผิดจรรยาบรรณ ซึ่งหากทำอย่างนี้แล้วจะไปสอนเด็กนักเรียนได้อย่างไร ไม่น่าจะมีบุคคลเหล่านี้เกิดขึ้นในวงการการศึกษา นอกจากนั้นยังได้เดินทางไปร้องเรียนที่ปปช. และศูนย์ดำรงธรรมเชียงใหม่ ก่อนที่จะไปแจ้งความที่สภ.เมืองแพร่"
สำหรับสาเหตุที่ต้องไปแจ้งความเนื่องจากได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังนิติกร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป ซึ่งได้เดินทางมาสอบข้อเท็จจริงแล้ว และได้รับการแนะนำจากนิติกรให้ไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาเนื่องจากมีความผิดทางคดีอาญา จึงได้เดินทางไปแจ้งความในฐานะที่เด็กเป็นผู้เสียหายในการถูกปลอมแปลงลายมือชื่อ ที่สภ.เมืองแพร่
ทั้งนี้การที่เด็กเดินทางไปแจ้งความนั้นถือว่าเป็นสิทธิของเด็ก มีสิทธิที่จะไปแจ้งความเมื่อถูกละเมิดสิทธิ์ ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรจะดำเนินการและดำเนินคดีตามกฎหมาย และตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ถูกต้อง หากไม่ได้กระทำก็ต้องออกมาแก้ข้อกล่าวหา แต่ปรากฏว่า หลังจากที่นักเรียนกลับจากแจ้งความ ได้ถูกกดดัน โดยนักเรียนเล่าให้ฟังว่า ครูมาตำหนิว่าทำอย่างนี้ไม่ถูกต้อง ผิดระเบียบ เมื่อเด็กถามว่าผิดตรงไหน ในเมื่อเอาชื่อไปทำมาหากิน ครูบอกว่าแจ้งความทำไม ชูป้ายก็พอ
เมื่อเด็กเห็นว่าไม่ถูกต้องจึงอยากที่ทวงความยุติธรรมให้กับตนเองจึงนัดที่จะชูป้ายแสดงเจตนารมณ์เรียกร้องสิทธิ์ของตัวเอง แต่ก่อนที่จะได้ชูป้ายมีการ เรียกเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เข้าไปพูดคุยชี้แจงเรื่องดังกล่าวในช่วงหลังเลิกเรียน ก่อนที่จะปล่อยกลับบ้านในช่วงค่ำวันเดียวกัน ต่อมาในช่วงเช้าได้ให้นักเรียนทุกชั้นปีเข้าประชุมที่โรงละคร
ด้านนักเรียนที่เดินทางไปแจ้งความ กล่าวว่ารู้สึกผิดหวังกับครูที่ทำแบบนี้ จึงเดินทางไปแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งครูน่าที่จะทำตัวให้น่านับถือ การเอาชื่อไปเพื่อเบิกเบี้ยเลี้ยงโดยที่เจ้าตัวไม่รู้เรื่อง ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ของนักเรียน ทำไม่ถูกต้อง อยากให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นจึงได้เดินทางไปแจ้งความ
ขณะเดียวกันมีการบันทึกเสียงขณะที่ครูรายหนึ่งได้ทำความเข้าใจกับนักเรียน เมื่อคืนที่ผ่านมา ระบุว่า มีเนื้อหาใจความตอนหนึ่งว่า "สถาบันสั่งสมความดีมากว่า 40 ปี แต่เมื่อเกลียดแค่คนหนึ่งคน กลับมาทำลายทั้งองค์กร เป็นสิ่งไม่ดี หากนักเรียนอยากเปลี่ยนผอ. ก็ให้เดินไปบอก ผอ.โดยตรง ไม่ใช่ทำลายแบบนี้ เป็นสิ่งน่าอาย ไม่มีความเป็นมนุษย์ในตัว ทั้งที่ครูทุกคนต่างพยายามทำให้นักเรียนได้ทั้งพัฒนาความรู้
และคนหนึ่งคนต้อง มัวหมอง กระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ให้เด็กเซ็น รายชื่อโดยเงินไม่ออกสักบาท ไม่ได้ผลประโยชน์ ทุกคนต้องมองให้ถูกต้อง คิดบวก เรื่องเงินที่แพร่ ได้แจ้งว่าทีมงานไปกัน 100 คน แต่ไปจริงราว 70 คน ขณะที่ทางแพร่โอนเงินมาแล้ว ที่ส่วนบริการวิชาการ 1 แสนบาท และครูก็เบิกเงินให้นักเรียน 240 ต่อวัน ตามระบบราชการ
ขณะที่งานแพร่นั้น มีที่พัก มีค่าอาหาร ให้สำหรับเพียงพอต่อคน 100 คน และมีการจ่ายค่าอาหารต่อหัวทั้ง 100 คนไปแล้วครบ เลยต้องได้รายชื่อครบ100 คนเพื่อเบิกตามจำนวน แม้จะมีคนกินจริงแค่ 70 คน แต่ครูไม่ได้อธิบายให้นักเรียนฟัง เพราะไม่คิดว่าจะเกิดปัญหา เนื่องจากทำกันมาแบบนี้ตามระบบ ครูก็ขอนักเรียนช่วยเซ็นเพิ่ม ง่ายๆ แต่ตอนนี้ กรรมไปตกที่คนเซ็นชื่อแทน รับกรรม เมื่อแจ้งความคนผิดคือคนเซ็น ไม่ใช่คนที่อยู่ในชื่อ และไม่ใช่คนสั่งการ"
ผู้สื่อข่าวได้ โทรศัพท์ติดต่อไปยัง ดร.กษมา ประสงค์เจริญ ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลป แต่ผู้อำนวยการไม่ได้รับสาย หลังจากนั้นได้โทรศัพท์กลับเข้ามา เมื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น ทางผอ.แจ้งว่า "กำลังประชุมเด็กนักเรียนอยู่ เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นการเข้าใจผิดกัน ไม่มีอะไร เดี๋ยวผอ.เคลียร์ได้"