svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ราชภัฏเชียงใหม่ยื้อฟัน 2 ผู้บริหารจัดทัวร์ "ฉี่ ช้อป แชะ"

ปัญหาธรรมาภิบาล คราวนี้ไม่ใช่หน่วยทหาร แต่เป็นธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา คุณผู้ชมคงยังจำกันได้ เป็นประเด็นที่ล่าความจริงเปิดเอาไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว คือกรณีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จัดโครงการ "ศึกษาดูงานในต่างประเทศ" มากถึง 4 ประเทศ ใช้งบประมาณกว่า 6 ล้านบาท ปรากฏว่าถูก สตง.ชี้มูลว่า ไม่ได้ไปศึกษาดูงานจริง แต่เน้นไปเที่ยวเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงสั่งให้ผู้เกี่ยวข้องชดใช้เงินคืน และสั่งให้ถอดถอนผู้บริหารมหาวิทยาลัย 2 คนที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ด้วย แต่ข้อมูลล่าสุดที่ "ล่าความจริง" ได้รับมา ก็คือทางมหาวิทยาลัยยังไม่จัดการอะไรเลย แม้เรื่องจะผ่านมาข้ามปี จนเปลี่ยนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ คตง.ชุดใหม่ และเปลี่ยนตัวผู้ว่า สตง.ไปแล้วก็ตาม

นี่คือภาพการเดินทางไป "ทัวร์ต่างประเทศ" ซึ่งทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่อ้างว่าเป็น "การศึกษาดูงาน" แต่กลับใช้ชื่อโครงการว่า "ยุโรปเมืองโรแมนติกในฝัน" ใช้งบประมาณสูงถึง 6 ล้านบาทเศษ มีผู้บริหาร กรรมการสภามหาวิทยาลัย และอาจารย์ร่วมคณะถึง 40 คน เดินทางไป 4 ประเทศ คือ จีน เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส รวมเวลาถึง 13 วัน ซึ่งอดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน คุณพิสิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส เคยให้สัมภาษณ์ล่าความจริงเอาไว้ เรียกการจัดทัวร์แบบนี้ว่า "ฉี่ ช้อป แชะ" คือ เดินทาง แวะเข้าห้องน้ำ แวะซื้อของ และแวะถ่ายรูป โดยไม่ได้ไปศึกษาดูงานจริง แต่เป็นการละลายงบของทางราชการมากกว่าโครงการนี้ถูกคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ คตง. ชี้มูลความผิด 2 รอบ รอบแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ระบุว่า การไปดูงานทั้ง 4 ประเทศ เป็นการศึกษาดูงานจริงเพียง 1 ประทเศ คือ จีน เพราะไปแวะมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจีน ส่วนอีก 3 ประเทศ คือ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ไม่ได้เป็นการดูงาน แต่เป็นการไปท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังเท่านั้น

คตง.ยังเห็นว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ไม่มีการเปิดซองประมูล ทั้งๆ ที่มูลค่าโครงการสูงถึง 6 ล้านบาทเศษต่อมาในเดือนตุลาคม คตง.ส่งมติอย่างเป็นทางการไปที่มหาวิทยาลัย โดยสรุป 2 ข้อเหมือนครั้งแรก และเพิ่มข้อเสนอให้ถอดถอนผู้บริหารมหาวิทยาลัย 2 คนที่เป็นตัวตั้งตัวตีในโครงการนี้ด้วย คนหนึ่งเป็นอธิการบดีในขณะที่ทำโครงการทัวร์ยุโรป อีกคนหนึ่งเป็นรองอธิการบดี
เราไปดูฝั่งมหาวิทยาลัยว่าทำอะไรบ้าง มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะมี "สภามหาวิทยาลัย" ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของผู้บริหาร หลังจากที่ คตง.ส่งมติมาเมื่อเดือนตุลาคมสภามหาวิทยาลัยก็นำเรื่องเข้าที่ประชุมประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม (พูดง่ายๆคือช่วงปลายปีนี่แหละ) เป็นการนำมติ คตง.เข้าที่ประชุมแบบ "แจ้งเพื่อทราบ" จากนั้นก็ไม่ได้ทำอะไรเพิ่มเติมเลยต่อมาเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2 วันที่ผ่านมานี้เอง ได้มีการเสนอเรื่องเข้าสภามหาวิทยาลัย เพื่อให้ทบทวนการแต่งตั้งผู้บริหาร (เพราะ คตง.บอกให้ถอดถอน) แต่ปรากฏว่าทางสภามหาวิทยาลัย ไม่ได้หยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณาประเด็น คตง.เสนอให้ถอดถอนผู้บริหารมหาวิทยาลัย เห็นได้ชัดว่า สภามหาวิทยาลัยยังไม่มีการดำเนินการอะไรเลย ซึ่งมีกระแสวิจารณ์ภายในมหาวิทยาลัยว่า อาจเป็นเพราะผู้บริหารทั้ง 2 คน เดินทางร่วมคณะทัวร์ด้วยก็เป็นได้ผู้บริหาร 2 คนเป็นใครบ้าง คนแรกคือ "อธิการบดี" ช่วงที่ทำโครงการทัวร์ยุโรป เมื่อเดินทางกลับมา ก็หมดวาระการเป็นอธิการ แต่ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา พอหมดวาระอีกก็ได้เป็นที่ปรึกษาอีกครั้งทื่ 2 อีกคนคือ "รองอธิการบดี" หลังกลับจากทัวร์ยุโรป ก็หมดวาระ และได้รับเลือกเป็นรักษาการอธิการบดี กระทั่งหมดวาระแล้วก็มาเป็นรองอธิการบดีอีก จะเห็นว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่เคยหยุดปฏิบัติหน้าที่เพื่อรอการตรวจสอบเลย ส่วนกรรมการสภามหาวิทยาลัยอีกหลายคน ก็ร่วมคณะทัวร์ไปกับเขาด้วย คำถามคือ เมื่อเป็นแบบนี้ การสอบสวนจะเดินหน้าได้จริงหรือไม่จากการตรวจสอบของ "ล่าความจริง" พบว่า ทาง สตง.ได้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั้ง 2 ตนแล้ว ขณะเดียวกันก็ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. ซึ่งทาง สกอ.ก็ส่งเรื่องมายังมหาวิทยาลัยให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมติ คตง. แต่ผ่านมานานหลายเดือน ก็ยังไม่มีความคืบหน้า นี่คืออีกหนึ่งปัญหาธรรมาภิบาลในรั้วอุดมศึกษาจากการจัดทัวร์ "ฉี่ ช้อป แชะ" ใช้งบประมาณถึงกว่า 6 ล้านบาท