ประธานสมาคมธนาคารไทย ปรีดี ดาวฉาย บอกว่า จากกรณีที่มีผู้ถูกมิจฉาชีพนำบัตรประจำตัวประชาชนไปเปิดบัญชีแก็งค์คอลเซ็นเตอร์ ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์เข้มงวดกับการเปิดบัญชีใหม่มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งการดูบัตรประชาชน ใช้เครื่องอ่านบัตรเพื่อตรวจข้อมูลว่าตรงกันกับในระบบ จึงจะเปิดบัญชีได้ แต่ในกรณีนี้ที่ผู้ไม่ใช่เจ้าของบัตรมาเปิดบัญชีมากถึง 7 บัญชี ธนาคารจึงต้องเข้มงวดมากกว่าเดิม ส่วนเรื่องการหลอกลวงคนอื่นเพื่อนำเงินมาเข้าบัญชีนี้ ต้องตรวจสอบอีกที ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันกับระบบการเปิดบัญชี
ในอนาคตจะนำ Digital ID เทคโนโลยีมาใช้เพื่อตรวจสอบบุคคลที่มาเปิดบัญชีแบบเรียลไทม์ คาดว่าจะมีการใช้สมบูรณ์ในปีนี้
ทั้งนี้ ธนาคารสมาชิกของสมาคมฯ ทุกธนาคารได้มีการออกระเบียบในการเปิดบัญชีเงินฝากและใน การยืนยันตัวตนของผู้มาเปิดบัญชี ซึ่งระเบียบและกฎเกณฑ์ดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานและกฎเกณฑ์ของทางราชการ นอกจากนี้ ในทุกสาขาของธนาคารได้มีป้ายเตือน การรับเปิดบัญชีแทนถือเป็นความผิดทางกฎหมาย
ส่วนขั้นตอนการเปิดบัญชี ธนาคารได้ระบุว่าต้องแสดงตน โดยให้แสดงข้อมูลและหลักฐานได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน ก่อนที่ธนาคารจะตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานการแสดงตน ตรวจสอบตัวตนของลูกค้ากับบัตรประชาชนที่นำมาเปิดบัญชีว่าเป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่ จากนั้นจึงตรวจสอบข้อมูลการแสดงตนของลูกค้าบนใบคำขอเปิดบัญชีว่าตรงกับข้อมูลบนหน้าบัตรประชาชน
ทั้งนี้ได้ให้ข้อแนะนำประชาชนเพื่อความปลอดภัย ดังนี้1.จัดเก็บรักษาบัตรประชาชนและข้อมูลส่วนตัวให้ปลอดภัย2.พกบัตรประจำตัวประชาชน ในการเป๋าสตางค์ที่ใช้บ่อย ๆ และ สามารถเก็บได้ง่าย3.หมั่นสำรวจดูเสมอ ๆ ว่าบัตรประจำตัวประชาชนนั้น ยังถูกเก็บอย่างปลอดภัย4.หากบัตรประจำตัวประชาชนหาย ควรรีบไปขอทำบัตรทดแทนโดยเร็ว5.ไม่ควรมอบบัตรประชาชนไปให้บุคคลอื่นไปทำธุรกรรมแทน6.การให้สำเนาบัตรประชาชนเพื่อการทำธุรกรรม ควรขีดคร่อมและเขียนวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน7.การยินยอมรับเปิดบัญชีเพื่อให้บุคคลอื่นใช้แทนเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
ขณะที่ การรับจ้างเปิดบัญชี หรือหลอกให้ผู้อื่นโอนเงิน ให้เข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นหนึ่งในความผิดมูลฐาน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 60 ระวางโทษจำคุก 1-10 ปี หรือ ปรับ 20,000 - 200,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ