VIDEO
เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม ปี 2560 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางมามอบนโยบาย แก่ผู้บริหาร ของ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. ซึ่งได้มาพูดคุยและย้ำกับบอร์ดว่า สทศ.เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในแง่ของระบบการศึกษา ที่ผ่านมาต้องชื่นชมว่าสทศ.มีการพัฒนาวิวัฒนาการที่ดีในแง่ของการทำการทดสอบทางการศึกษาในหลายระดับ ทั้งระดับประถมวัยจนถึงระดับเข้ามหาวิทยาลัย เราทำการทดสอบในหนึ่งปีมีทั้งหมด 21 ครั้ง
การออกข้อสอบ เป็นตัวกำหนดกระบวนการเรียนการสอน
"ผมเชื่อว่าการทดสอบตอนนี้กำลังจะพัฒนา ในเรื่องของการ วัดผลสัมฤทธิ์ out come ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ เราเชื่อว่าการทดสอบเป็นตัวที่จะเป็น feedback เรื่องระบบการศึกษา หากวัดผลอะไรเด็กก็จะทำตาม เช่น การวัดผลให้เด็กจำ เด็กก็จะจำ หากวัดผลด้วยการคิดวิเคราะห์เป็น เด็กก็สามารถคิดวิเคราะห์เป็น ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ จึงใช้ตรงนี้กลับไปเป็นตัวกำหนดกระบวนการเรียนการสอน กำหนดแฟลตฟอร์มการเรียนการสอนใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาเราเห็นชัดเจนว่า ในเรื่องการสอบ Pisa แม้ว่า Pisa โดย Concept ของข้อสอบเป็นการคิดวิเคราะห์ เพราะฉะนั้นเด็กไทยจึงทำไม่ได้ เมื่อคะแนนออกมา ไม่ต้องไปว่าออกข้อสอบไม่ได้เรื่อง เพราะเด็กเราต่างหากที่ไม่ได้สอนให้เด็กคิดวิเคราะห์ แต่กลับให้เด็กจำ จึงทำข้อสอบ Pisa ไม่ได้" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุ
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อุดม กล่าวว่า ทำไมต้องให้เด็กคิดวิเคราะห์ เป็นเพราะประเทศ ที่เขาคิดวิเคราะห์ เจริญกว่าเราหมด เพราะการคิดวิเคราะห์ เป็นการเริ่มต้น นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ เรื่องของการสร้างนวัตกรรม ถ้าหาก สทศ. สามารถทำการทดสอบให้มีความเข้มข้นขึ้น ถูกต้องแม่นยำและโปร่งใส จะเป็นสิ่งที่เราจะกลับไป Feedback ระบบการเรียนการสอน จะต้องปรับตัวตรงนี้
"ผมเองก็ให้นโยบายว่ากระบวนการเรียนการสอนต้องปฏิบัติใหม่ ถ้าเราจะยกระดับประเทศชาติหรือศักยภาพประเทศ มันต้องปรับตั้งแต่ประถม มัธยมไม่ใช่มาปรับในระดับอุดมศึกษา การเรียนการสอนในห้อง ที่เราใช้คือทำให้เกิดการจำและเข้าใจ แต่ก็ยังมีความจำเป็นในบางส่วน เช่นเป็นการบอกความ Concept แนวต่างๆ เราต้องมีระบบการเรียนการสอนที่ปลี่ยนไปเรียนของจริง ในสถานที่จริง ให้เข้าใจและทำงานได้จริง อันนี้คือความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นชั้นประถมก็ต้องออกไปเรียนในชุมชนด้วย
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ย้ำว่า จะต้องมีการทดสอบความรู้ด้านกว้างก็ หรือ Soft Skill ในเรื่องของการคิดวิเคราะห์ เรื่องการเป็นผู้นำ และเรื่องการสื่อสารกับคน คนเก่งแต่กลับสื่อสารไม่เป็น มันก็ไม่มีประโยชน์ และต้องแยกถูก แยกผิด ในเชิงวิชาการ และแยกถูกและผิดในเชิงคุณธรรมจริยธรรมได้ ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า เน้นตรงนี้น้อยไป จึงทำให้เกิดคนไม่ดี ออกไปสร้างสิ่งไม่ดี หรือคอร์รัปชั่นต่างๆ เพราะจริงๆ Soft Skill จะเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่จะให้เขาประสบความสำเร็จในการทำงาน
"ถ้าหากเราเห็นในหลายๆประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว เขาก็จะเปลี่ยนระบบไปแล้ว ว่าเขาจะไม่เอาเกรดเป็นตัววัดสำคัญ แต่ว่าเขาจะเป็นวัด competency (ความสามารถ) ของเด็กให้ตอบโจทย์บริษัทและองค์กร เพราะฉะนั้นตอนนี้เราต้องเปลี่ยน และสทศ.ต้องออกข้อสอบ ที่วัด competency ได้ด้วย และ differentclate (ความแตกต่าง) ว่าเขาเหมาะกับอะไร คือสิ่งที่จะต้องพัฒนา เพื่อที่จะให้ไปตอบโจทย์ เก่งและดี และความเก่งต้องเก่งไปในระดับโลกได้ ให้เด็กไทยสามารถไปทำงานที่ไหนก็ได้บนโลกนี้ เพราะฉะนั้นตัวชี้วัดต้องทดสอบให้รู้ว่าเด็กเราเก่งไปในระดับโลกได้ อันนี้เป็นสิ่งที่ฝากกับ สทศ.
รมช.ศธ. ย้ำ สทศ. อย่าออกข้อสอบผิดอีก
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อุดม บอกต่อว่า โดยพื้นฐานแล้วก็พยายามเน้นไปที่สถาบันทดสอบให้มีความถูกต้องแม่นยำและโปร่งใสซึ่งเป็นพื้นฐาน ข้อสอบจะต้องไม่ออกมาผิด และเฉลยจะต้องไม่ผิด ผมก็ดีใจว่า 2 ปีหลังนี้ไม่ผิดเลย อันนี้คือตัวชี้วัดที่สำคัญที่สุด เพราะหากเฉลยข้อสอบผิด 1 ครั้ง ทำความดีมาเป็น 10 ปี ก็เสียหายหมดเลย เพราะทำให้เขาไม่มั่นใจ อาจจะบ่งบอกความไม่มั่นใจว่าอาจมีผิดมากกว่านั้นก็ได้ ตรงนี้สทศ.ต้องเข้มข้นตรงนี้ให้มากขึ้น
และที่สำคัญจะต้องพัฒนาไปสู่ในโลกของ digital base ให้มากขึ้น ซึ่งจะตอบสนองต่อเด็กรุ่นใหม่ ที่ไม่เหมือนในรุ่นสมัยผม ตอนนี้ในสมองเขาจะเป็นในเรื่องของ Digital technology เพราะฉะนั้นตัวชี้วัดจะต้องเป็นในเรื่องของ Digital ที่จะสะท้อนตรงนี้ได้ด้วย
สทศ. ออกข้อสอบยากเกินไปหรือไม่ ?
ปัญหาที่ว่าสทศ.ออกข้อสอบเกินความสามารถเด็กหรือเปล่า ทำให้เด็กต้องไปพึ่งโรงเรียนกวดวิชา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สทศ. ต้องทบทวนในทุกระดับ เพราะด้วยหลักการ สทศ. ต้อง ออกข้อสอบไม่เกินระดับ เด็กต้องการที่จะ differentiated (ความแตกต่าง) เลยทำให้เกิดความแปรปรวนไป จึงทำให้เด็กหันไปพึ่งโรงเรียนกวดวิชา ครูก็เปลี่ยนทัศนคติ พยายามสอนไม่ให้เต็มที่และจะกักไว้ส่วนหนึ่งเพื่อไปสอนในโรงเรียนกวดวิชา จึงทำให้เป็น Cycle (วัฏจักร) อยู่อย่างนี้ ผมให้นโยบายว่าการทดสอบทุกระดับตั้งแต่ประถมไปจนถึง Entrance นั้น หลักการของการทดสอบจะต้องไม่เกินระดับ ต้องการตอบโจทย์การเรียนให้ครบในชั้น
ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย TCAS ต้องการให้เด็กเรียนครบชั้น
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อุดม ชี้ว่า เหตุผลอันใหญ่เรื่องหนึ่งคือต้องการให้เด็ก เรียนให้ครบในชั้นเรียน ไม่อยากให้เด็กไปวิ่งสอบ เราจึงกำหนดไว้แค่เดือนมีนาคม ตอนนี้คิดว่ามาถูกทางแล้วเพียงแต่ว่าอยาก ให้ สทศ. ทำให้เร็วขึ้นในสิ่งที่วางแผนไว้ การทดสอบจะต้องไปในระดับสากลทั้งนี้ ในมาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญใหม่ บอกว่ารัฐฯ จะต้องดำเนินการสนับสนุนการศึกษาให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานสากล และต้องการคุณภาพสูงไม่ใช่คุณภาพธรรมดา ก็เขียนไว้ว่าการศึกษาของไทยจะต้องมีมาตรฐานสากล เพราะฉะนั้น การทดสอบ จะเป็นตัวที่ feedback กลับไปกำหนดให้ระบบการเรียนการสอน การเรียนรู้ใหม่ สำหรับเด็กทุกระดับได้