svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดที่มาปรับ "สายรถเมล์"ใหม่

เดินหน้า ปฏิรูปรถเมล์ไทย ยกเลิกมติครม. ขสมก เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตแต่เพียงผู้เดียว ปรับเส้นทางไม่ทับซ้อน คุณภาพ การบริการ ความปลอดภัยต้องดีขึ้นกว่าเดิม

     วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกโซเชียล เมื่อจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสายรถเมล์ใหม่ โดยมีการนำอักษรภาษาอังกฤษมาใช้ร่วมด้วย นำร่องก่อนใน 8 สาย  "คมชัดลึก"มีคำตอบถึงเหตุผลที่ต้องมีการปรับ อาจารย์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ทำวิจัยบอกจะนำไปสู่ "การปฏิรูปรถเมล์ ที่มีคุณภาพดีขึ้น"

       อะไร อะไรก็ต้องเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่มีสิ่งหนึ่งที่ตั้งท่าจะเปลี่ยน จะเปลี่ยน... ก็ยังไม่เปลี่ยนสักที จนครั้งนี้เห็นว่ายกเครื่องใหม่แน่ๆ นั่นคือ "รถเมล์" ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล  ซึ่งกำลังเดินหน้าปฏิรูปรถเมล์ใหม่ทั้งหมด


      อย่างที่ทราบกันดีว่า สภาวะการให้บริการรถเมล์ตลอดระยะ 20 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นที่พึงพอใจของผู้ใช้บริการ โดยดูได้จากหลักฐานเชิงประจักษ์ ไม่ว่าจะเป็น สภาพรถเมล์ การให้บริการ ความปลอดภัย เรียกได้ว่าทั้งเชิงศักยภาพ คุณภาพ การบริการไม่มีดีตามที่ควรจะเป็น

เปิดเชิงลึก ที่มาต้องปรับ"สายรถเมล์"ใหม่

        รศ.ดร.เอกชัย  สุมาลี  ผู้อำนวยการศูนย์Smart Cities Research Center (SCRC)สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อธิบายถึงการปฏิรูปรถเมล์ ว่า จริงๆ การปรับปรุงหรือปฏิรูปรถเมล์นั้น ไม่ใช่เพิ่งมีการศึกษาวิจัย แต่มีมากนานกว่า 10 ปี และมีหลายหน่วยงานที่พยายามแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างทำให้ไม่เกิดขึ้น การปฏิรูปรถเมล์ในรัฐบาลชุดนี้ จะเป็นครั้งแรกที่ทำให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นอย่างแท้จริง

        "หลักการปฏิรูปรถเมล์"คือ การยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2526 ที่ให้ ขสมก เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตในการให้บริการรถเมล์กรุงเทพและปริมณฑลแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น ขสมก มีข้อจำกัดเชิงศักยภาพ ทำให้ ขสมก เปิดให้รถร่วมเอกชนเข้ามาร่วมให้บริการในหลายเส้นทาง และเกิดปัญหาในการแข่งขันบนสายเส้นทางที่ทับซ้อนกัน เมื่อรถเมล์ ขสมก และรถร่วมบริการขาดทุน ไม่สามารถให้บริการที่ดีได้ 

      อีกทั้งในแง่ของบทบาทการกำกับดูแล ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกไม่ได้เป็นผู้กำกับดูแล ขสมก เป็นผู้ให้บริการและผู้กำกับดูแลร่วมด้วย ซึ่งการปฏิรูปรถเมล์ มีการกำหนดบทบาทชัดเจน ผู้ให้บริการและผู้กำกับดูแล และควรแยกออกจากกัน

        รศ.ดร.เอกชัย กล่าวต่อไปว่า รถเมล์ไทยมีหลายเส้นทาง ซึ่งไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลและวางแผน ทำให้มีเส้นทางทับซ้อนมากกว่า 20 สาย ดังนั้น เส้นทางควรจะมีผู้ให้บริการเพียงรายเดียว เพื่อลดการทับซ้อนของเส้นทาง เปิดโอกาสให้สามารถบริหารการให้บริการในระดับคุณภาพที่สูงขึ้น กรมการขนส่งทางบกจะเป็นผู้คัดเลือกผู้ประกอบการ  และ ขสมก ถือว่าเป็นผู้ประกอบการหนึ่งราย

      แต่เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจจึงจะมีการประชุมตกลงในการจัดสรรเส้นทาง จัดทำตารางการเดินรถ ซึ่งขณะนี้มีเส้นทางทั้งหมด 269 เส้นและกรมการขนส่งทางบก ได้ทยอยจัดสรรให้ทางขสมก และเปิดให้ภาคเอกชนยื่นขอให้บริการ ภายใต้การพิจารณาคัดเลือกจากความพร้อม คุณภาพการให้บริการ และข้อจำกัดต่างๆของแต่ละเส้นทาง

เปิดเชิงลึก ที่มาต้องปรับ"สายรถเมล์"ใหม่

       นอกจากนั้น จะมีการกำหนดเส้นทางจากพื้นที่หลักที่ให้บริการโดยแบ่งพื้นที่ใน กรุงเทพ และ ปริมณฑลออกเป็น 4 พื้นที่ใหญ่ ตามเขตการเดินรถเดิมของ ขสมก และระบุสีเพื่อแสดงแทนแต่ละพื้นที่ เลขสายรถใหม่จะนำด้วยอักษรย่อของสีในพื้นที่หลัก นั่นคือ G สายสีเขียว, Y สายสีเหลือง, R สายสีแดง และ B สายสีน้ำเงิน ตามด้วยหมายเลขรถ การปรับปรุงระบบหมายเลขรถดังกล่าวยังมีเหตุผลเพื่อลดการซ้ำกันของเลขรถในช่วงการเปลี่ยนถ่ายเส้นทางจากระบบเก่าไประบบใหม่

            "หลังจากการปฏิรูปรถเมล์ ซึ่งมีการปรับโครงสร้างการดูแลทั้งหมด จะไม่มีรถร่วมบริการอยู่ภายใต้สัญญาของ ขสมก การวิ่งรถบนหนึ่งเส้นทางหาก ขสมก วิ่งบนเส้นนั้นจะไม่มีรถเอกชนวิ่ง และ ในทางกลับกันหากมีรถเอกชนวิ่งก็จะไม่มีรถ ขสมก การปรับเปลี่ยนเส้นทางและสายรถโดยสาร การปรับการกำกับดูแลผู้ประกอบการในด้านคุณภาพ การให้ใบอนุญาตประกอบการเพื่อกำกับการแข่งขันในการประกอบการที่เหมาะสม การส่งผ่านข้อมูลในการกำกับดูแลและวางแผนอย่างต่อเนื่อง และ การบูรณาการทางกายภาพของจุดรับส่งผู้โดยสารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผน อำนวยความสะดวก และ กำกับดูแลคุณภาพการให้บริการของรถโดยสารสาธารณะ"

เปิดเชิงลึก ที่มาต้องปรับ"สายรถเมล์"ใหม่

เปิดเชิงลึก ที่มาต้องปรับ"สายรถเมล์"ใหม่

       การปรับเปลี่ยนเส้นทางบางส่วนให้สอดคล้องกับเส้นทางรถไฟฟ้า ลดระยะทางของสายทางที่ยาวเกินไปเพื่อเพิ่มความแน่นอนในการให้บริการ ปรับปรุงเส้นทางจากข้อมูลการเดินทางของประชาชน โดยการปรับเปลี่ยนเส้นทางอ้างอิงจากโครงสร้างเส้นทางเดิมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชนในระยะแรก แต่เส้นทางสามารถปรับเปลี่ยนได้ในอนาคตเพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างรถไฟฟ้า และ การปรับเปลี่ยนของเมือง

        อดีตมีรถเมล์ดีๆ แต่หลังจากนี้จะมีรถเมล์ที่ดีกว่า เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี โดยสภาพรถต้องดี การแข่งขันที่เป็นธรรม

           "ตอนนี้ผู้ใช้บริการรถเมล์ ประมาณ 1.7 ล้านเที่ยวต่อวัน  ทั้งที่ก่อนหน้านี้ขึ้นไปถึง 2 ล้านกว่า แสดงให้เห็นว่ามีผู้ใช้บริการรถเมล์ลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะหันไปใช้การบริการรถไฟฟ้า หรือรถสาธารณะในรูปแบบอื่น และมองอีกมุมคุณภาพ การบริการรถเมล์ด้อยลง ดังนั้น ต้องปฏิรูปรถเมล์ เปิดโอกาสให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ เปิดโอกาสในการแข่งขันเพื่อการให้บริการประชาชนสูงขึ้น เส้นทางให้สอดคล้องกับมาตรการที่จะเป็น มิติแง่ประชาชนต้องได้บริการรถที่ดีขึ้น คุณภาพดีขึ้น  ภายใต้การดูแลกำกับของกรมการขนส่งทางบกที่คอยตรวจสอบดูแลรถเมล์ทุกวัน เส้นทางที่ดูแล้วไม่มีคนใช้ หรือมีคนใช้แน่นไป รถเมล์ได้ให้บริการจริงหรือไม่ มีคุณภาพรถดี ปลอดภัย สะดวก ซึ่งหากมีคุณภาพเชื่อว่าวันหนึ่งผู้คนอาจหันมาใช้รถเมล์มากกว่ารถยนต์ส่วนบุคคล"

เปิดเชิงลึก ที่มาต้องปรับ"สายรถเมล์"ใหม่

          รศ.ดร.เอกชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ฝากถึงผู้ใช้บริการว่าไม่ต้องกังวล การปฏิรูปรถเมล์ครั้งนี้ คุณภาพต้องดีขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน เพราะเมื่อเกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม เอกชนมีโอกาสทางธุรกิจ คุณภาพผู้ประกอบการ และ การสร้างโครงสร้างระบบที่เอื้ออำนวยต่อการให้บริการ จะไม่มีใครมองว่ารถเมล์เป็นเพียงรถเมล์ เป็นการมองถึงการบริการที่ดีต่อประชาชน  

     แต่จะให้ปรับเปลี่ยนแบบเปิดสวิสต์ชั่วข้ามคืนคงไม่ได้ เพราะใช้ยาแรงกับประเทศไทย เงื่อนไขในสัญญา โครงสร้างต่างๆ อาจไม่เหมาะสม ดังนั้น เมื่อปรับเปลี่ยนโครงข่ายนำไปสู่การปฏิบัติ จะมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางใหม่ 30% อีก 20 % อาจมีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อย และอีก 50% ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยน