พล.ต.อ.จุมพล เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รุ่น 82 โรงเรียนตำรวจนครบาลรุ่น 34 โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน รุ่น 26 รุ่นเดียวกับ พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ และรุ่นเดียวกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23
ชีวิตราชการ พล.ต.อ.จุมพล เริ่มต้นที่ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ปฏิบัติหน้าที่ใน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว แล้วย้ายมาเป็น สารวัตรปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ สังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล จากนั้นย้ายไปเติบโต ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ประจำอยู่ที่กองบังคับการปราบปราม จนเป็นรองผู้บังคับการกองปราบ
พล.ต.อ.จุมพล ได้รับพระราชทานยศ "พลตำรวจตรี" และได้เลื่อนตำแหน่งเป็น ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี แล้วเลื่อนตำแหน่งเป็น รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 หลังจากนั้น ได้รับพระราชทานยศ "พลตำรวจโท" และขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3
จากนั้น ย้ายมารับผิดชอบงานด้านการข่าวในตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ก่อนจะเป็นรักษาการผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และเป็น ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ คนที่ 12
นอกจากนั้น พล.ต.อ.จุมพล ยังเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ (นักบริหาร 11) แล้วได้รับพระราชทานยศ "พลตำรวจเอก" ใน ตำแหน่งที่ปรึกษา (สบ 10) ทำหน้าที่หัวหน้าที่ปรึกษาด้านความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
สำหรับคดีสำคัญๆ ที่ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย เคยร่วมกับทีมงานในการคลี่คลายคดีส าคัญคือ เพชรซาอุ คดีอุ้มฆ่า 2 แม่ลูกศรีธนะขันธ์, คดีลอบสังหารนายแสงชัย สุนทรวัฒน์ ผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ฯลฯ
เมื่อปี 2552 พล.ต.อ.จุมพล เคยเป็นที่คาดการณ์ว่าจะได้รับตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต่อจาก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ โดยมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลงานด้านความมั่นคง และ นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และกลุ่มของ นายเนวิน ชิดชอบ สนับสนุน
แต่สุดท้าย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น เลือก พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ ให้ทำหน้าที่ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จนเกษียณไปพร้อมกับ พล.ต.อ.จุมพล
ในปี 2553 ปี 2554 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย กลับเข้ารับราชการเป็น ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ประจำสำนักพระราชวังพิเศษ ตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง
วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2559 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พล.ต.อ.จุมพล ดำ รงตำแหน่ง รองเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายความมั่นคงและกิจกรรมพิเศษ
ก่อนหน้าจะมีคำสั่ง สำนักพระราชวัง ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 ลงโทษ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ด้วยการไล่ออกจากราชการ! ฐานมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่อยู่ใกล้ชิดติดพระองค์ ใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการไปในทางที่ไม่ถูกต้อง แสวงหาประโยชน์ให้กับตัวเอง ฝักใฝ่ในเรื่องการเมืองเป็นอันตรายต่อความมั่นคง
โดยเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 พล.ต.อ.จุมพล ถูกออกหมายจับในคดีบุกรุกป่าทับลาน หลังเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าตรวจสอบบ้านพักตากอากาศซึ่งปลูกอยู่ในเนื่อที่กว่า 13 ไร่ เลขที่ 163 หมู่บ้านสุข สมบูรณ์ หมู่ 2 ต.ไทยสามัคคี อ.วังนน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ซึ่งปลูกสร้างอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน
ซึ่ง นางติ๋ม อุทัศน์ อายุ 47 ปี ผู้ดูแลบ้านยืนยันว่า บ้านหลังนี้ เป็นของ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย โดยเมื่อปี 2554 พล.ต.อ.จุมพล ได้ซื้อต่อมาจาก พ.ต.ท.พงษ์เดช พรหมมิจิตร รอง ผกก.หน.สภ.วังนน้ำเขียว (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) และ นางชญานิศฐ์ พรหมมิจิตร ภรรยาของ พ.ต.ท.พงษ์เดช
และล่าสุดในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 สำนักพระราชวัง ก็มีคำสั่งที่ 183/2560 เรื่อง ลงโทษไล่ข้าราชการออกจากราชการ ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า
ด้วย พลตำรวจเอกจุมพล มั่นหมาย ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ตำแหน่งรองเลขาธิการสำนักพระราชวัง ฝ่ายความมั่นคงและกิจกรรมพิเศษ ตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ได้กระทำผิดวินัยฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่อยู่ใกล้ชิดติดพระองค์ ใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการไปในทางที่ไม่ถูกต้อง แสวงหาประโยชน์ให้กับตัวเอง ฝักใฝ่ในเรื่องการเมืองเป็นอันตรายต่อความมั่นคง ไม่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย พฤติกรรมดังกล่าว จึงเป็นความผิดวินัยร้ายแรง สมควรรับโทษไล่ออกจากราชการ
สำนักพระราชวังพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของ พลตำรวจเอกจุมพล มั่นหมาย เป็นความผิดวินัยฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง อันเป็นความผิดตามมาตรา 85 (4) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 จึงเห็นควรลงโทษไล่ออกจากราชการ
ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 และ มาตรา 11 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในพระองค์ พ.ศ. 2552 ลงโทษไล่ พลตำรวจเอก จุมพล มั่นหมาย ออกจากราชการ"
นี่คือเป็นเส้นทางชีวิตราชการของ พลตำรวจเอก จุมพล มั่นหมาย!