svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

คู่รักนักดนตรีชาวอเมริกัน สร้างค่านิยมใหม่ แก้เนื้อเพลงคริสต์มาส "ให้เกียรติผู้หญิงมายิ่งขึ้น"

กระแสค่านิยมจากอดีตที่ส่งผลถึงปัจจุบันจนเกิดเป็นความเชื่อฝังลึกว่า "ปฏิเสธ" = "เธอเล่นตัว พอเป็นพิธี" และ "เราต้องตื๊อจนเธอยอม" ซึ่งมีที่มาจากเพลง Baby It's Cold Outside ที่จะถูกนำมาร้องในทุกๆวันคริสต์มาส แต่ปีนี้คู่รักนักดนตรีชาวอเมริกัน Lydia Liza และ Josiah Lemanski ได้แก้เนื้อเพลงบางส่วนเพื่อเป็นการให้เกียรติผู้หญิงมากขึ้น

"ฉันจะกลับบ้าน" หญิงสาวบอก"ข้างนอกมันหนาวนะที่รัก" ชายหนุ่มตอบกลับชายหนุ่มพยายามหว่านล้อมด้วยแม่น้ำทั้งห้า หวังจะให้หญิงสาวอยู่กับเขาทั้งคืนนี่คือส่วนหนึ่งของเพลงคู่หนุ่มจีบสาวแนวหมาหยอกไก่ ประจำเทศกาลคริสต์มาสที่เพิ่งจบไป ในเพลง Baby It's Cold Outside เพลงนี้ถูกแต่งขึ้นในปี 1944 โดย Frank Loesser และโด่งดังจากการเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์โรแมนติค-คอมเมดี้เรื่อง Neptune's Daughter ก่อนที่จะถูกนำมาขับร้องทุกปีๆ และเปลี่ยนนักร้องไปเรื่อยๆ ล่าสุดคือ Lady Gaga ร้องคู่กับ Joseph Gordon Lewitt (พระเอกเรื่อง Snowden กับ 500 Days of Summer)เนื้อหาของเพลงนี้ก็คือชายหญิงคู่หนึ่งเดทกันในคืนคริสต์มาสที่บ้านฝ่ายชาย ดึกแล้ว ผู้หญิงจะกลับ ผู้ชายหาทางรั้งให้เธออยู่กับเขา และยิ่งถ้าดูฉากในภาพยนตร์ จะเห็นว่าพระเอกไม่ได้ใช้แค่วาจา แต่ใช้มือไม้เหนี่ยวรั้งและพยายามให้นางเอกมานั่งแอบอิงกับเขาที่โซฟาตามเดิม ผู้หญิงก็เล่นตัวพอเป็นพิธีและก็ยอมอยู่ต่อตามฟอร์ม



เมื่อเพลงนี้ถูกนำมาขับร้องใหม่อยู่เรื่อยๆ ก็เท่ากับสร้างค่านิยมผิดๆว่า "ปฏิเสธ" = "เธอเล่นตัว พอเป็นพิธี" และ "เราต้องตื๊อจนเธอยอม" แนวคิดดังกล่าวถูกผลิตซ้ำมาไม่ต่ำกว่า 50 ปีในอเมริกาค่านิยมนี้ร้ายแรงมาก โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน จากผลสำรวจของ Washington Post-Kaiser Poll พบว่า 1 ใน 5 ของนักศึกษาหญิงมีประสบการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศ และเมื่อดูจากสารคดีเรื่อง The Hunting Ground พบว่าผู้ล่วงละเมิดโดยมากคือนักกีฬาหนุ่มฮอต หน้าตาดีของสถาบัน เพราะพวกเขาเชื่อจริงๆว่า เขาหล่อและสาวๆต้องยอม

ความเชื่อนี้ฝังรากลึก จนเกิดเพลงที่ร้องกันหมู่นักศึกษาบางสถาบันในอเมริกาว่า "No means Yes. Yes means Anal" (บอกว่าไม่แปลว่ายอม บอกว่ายอมแปลว่าเอาทางก้นได้)

ทำไมเราไม่ปลูกฝังค่านิยมใหม่กันล่ะ? เราก็สร้างวัฒนธรรมป๊อปใหม่กันสิ? และนี่คือสิ่งที่คู่รักนักดนตรีชาวอเมริกัน Lydia Liza และ Josiah Lemanski คิด"ผมรู้สึกมีปัญหากับเพลง Baby It's Cold Outside มาตลอด มันรุนแรงและไม่เหมาะสม" Josiah ให้สัมภาษณ์กับ CNN แน่นอนว่า Lydia แฟนสาวก็เห็นตรงกัน
ทั้งคู่ใช้เวลา 1 ชั่วโมงในคืนวันพุธ แก้คำร้องของเพลงนี้ด้วยกัน เปลี่ยนเนื้อเพลงที่ฝ่ายชายร้องโต้ตอบเพื่อแสดงความให้เกียรติผู้หญิง เคารพในการตัดสินใจกลับบ้านของเธอ และทันทีที่เพลงนี้ออกสู่สาธารณะผ่าน Soundcloud ก็ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี จนสำนักข่าวต่างๆ ต้องมาทำสกู๊ป



นี่คือคำแปลบางส่วนของเนื้อเพลง
ฉันอยู่ต่อไม่ได้แล้ว / ที่รักผมโอเคน่าฉันต้องกลับบ้านแล้ว /ผมยังไงก็ได้น่าเย็นวันนี้คุณ... /ผมอยากให้คุณขับรถกลับบ้านปลอดภัยคุณดีกับฉันมาก /และผมก็ดีใจที่คุณมีความสุขแต่ตอนนี้แม่ฉันต้องเป็นกังวลแน่ๆ / โทรบอกแม่คุณสิว่าคุณจะกลับแล้วพ่อฉันตอนนี้กำลังเดินงุ่นง่าน/ งั้นคุณรีบไปสตาร์ทรถเร็วเข้างั้นฉันต้องแจ้นแล้ว / ผมไม่กดดันคุณนะ
เนื้อเพลงเต็มๆดูได้ที่ลิงค์นี้ http://edition.cnn.com/2016/12/02/us/baby-its-cold-outside-cover-trnd/
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่การเปลี่ยนเนื้อเพลงนำไปสู่การสร้างค่านิยมใหม่ให้สังคมอเมริกัน ในปี 1984 นักร้องเพลงป็อป Cyndi Lauper ได้คัฟเวอร์เพลง Girl Just Wanna Have Fun ของ Robert Harzard โดยเปลี่ยนเนื้อเพลงเดิมที่พูดว่า คนร้องคือหนุ่มหล่อเลือกได้ มีสาวๆมาพลีกายไม่ขาดเพราะ Girl Just Wanna Have Fun (with me) มาเป็นเพลงที่ส่งเสริมให้ผู้หญิงใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองอยากใช้ตามแบบฉบับสาวโสดสมัยใหม่ Cyndi ตีความไลฟ์สไตล์แบบนี้ว่าเป็น Girl Just Wanna Have Fun (in her own way)เพลงนี้เป็นหมุดไมล์สำคัญของ Feminist Movement ของอเมริกาในยุค 80 ที่ผู้หญิงออกมาทำงานนอกบ้านและสร้างฐานะด้วยตัวเธอเอง ไม่ใช่เป็นแม่บ้านให้ผู้ชายหาเลี้ยง

มองย้อนไปที่เมืองไทย ในช่วงเวลาที่ Baby It's Cold Outside เป็นที่รู้จัก เราก็มีเพลงคู่หมาหยอกไก่ที่ดังไม่แพ้กัน นั่นก็คือ "จูบเย้ยจันทร์" เพลงนี้แต่งขึ้นมาในปี 2499 ต้นฉบับขับร้องโดย นริศ อารีย์ คู่กับ สวลี ผกาพันธุ์ เป็นเรื่องของผู้ชายที่พยายามตะล่อมจูบแฟนสาว แฟนสาวเล่นตัวพอเป็นพิธี สุดท้ายก็ยอมอยู่ดี ดังเนื้อเพลงที่ว่า
"จันทร์ไม่มองแล้วจันทร์ไม่มอง/ จันทร์ไม่มองน้องก็ไม่ให้จันทร์ไม่มองน้องอายอะไร / อายแต่ใจเห็นดาวยังจ้องพอเมฆมาทับดับแล้วดวงดารา ขอหอมหน่อยขวัญตา น้องจงอย่ากลัวจงเหลียวมอง"
60 ปีผ่านไป วัฒนธรรมอยากได้ผู้ชายต้องตะล่อมก็ได้ฝังรากลึกในสังคมไทย นอกจากฉากพระเอกปลุกปล้ำนางเอก นางเอกเล่นตัวเล็กน้อยแต่ก็ยอม ที่เห็นได้ดาษดื่นในละครไทย
บริษัทผลิตถุงยางชื่ดังอย่าง Durex ยังเคยออกโฆษณาว่า "28% ของผู้หญิงที่ขัดขืน สุดท้ายก็ยอม" จนเกิดกระแสสังคมต่อต้านไม่มีชิ้นดี
จนถึงปัจจุบันประเทศไทยมีคดีล่วงละเมิดทางเพศและข่มขืนให้ได้ยินไม่ขาดสาย ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศกลาง สนง.ตำรวจแห่งชาติ เผยว่าตั้งแต่ปี 2552 - 2556 คาดการว่ามีารข่มขืนสูงถึง 30,000 คดีต่อปี และมีคนมาแจ้งความเพียง 4,000 คดีเท่านั้น
เราจะยอมให้วัฒนธรรมป๊อปสร้างค่านิยมผิดๆวนไปอย่างนั้นหรือ? เราสามารถสร้างวัฒนธรรมป๊อปแบบใหม่ด้วยกัน ทั้งเป็นผู้สร้างงาน และเป็นนักวิจารณ์ที่ดี เมื่อเห็นชิ้นงานนั้นกำลังหยิบยื่นแนวคิดที่เป็นพิษต่อสังคม
ไม่ต้องรออีกหลายวันให้ถึงปีหน้าที่จะสร้างค่านิยมใหม่ เพราะค่านิยมใหม่สร้างได้ทุกเมื่อ :-)
Woody Koo
ขอบคุณข้อมูลจากเพจ We Think